Last updated: 24 ม.ค. 2566 | 1966 จำนวนผู้เข้าชม |
ไม่ใช่ครั้งแรกที่ผมมีโอกาสได้ชมโรงงานของ A. Lange & Söhne ในเมืองกลาสฮุตเตอ แคว้นแซกซอน แต่ไม่ว่าจะมากี่ครั้ง ผมก็ยังรู้สึกประทับใจเสมอ ครั้งนี้ก็เช่นกัน โดยเฉพาะในส่วนโรงงานแห่งใหม่ที่สร้างเสร็จเมื่อราว 3 ปีก่อน ดูเรียบง่ายในแบบเยอรมัน แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดที่ผ่านการคิดอย่างพิถีพิถัน เช่นเดียวกับนาฬิกาทุกเรือนของ A. Lange & Söhne ที่ผลิตขึ้นภายในโรงงานแห่งนี้
จากเวิร์กช้อปแห่งแรกของแบรนด์ที่ก่อตั้งโดย Ferdinand Adolph Lange เมื่อปี 1845 ยุคนั้นเริ่มต้นจากช่างฝีมือ 15 คนที่ยังไม่มีประสบการณ์ด้านการทำนาฬิกา ซึ่งต้องใช้เวลาในการฝึกฝน แต่ก็เป็นสิ่งที่ต้องทำเพราะความต้องการนาฬิกาในยุคนั้นเป็นแรงขับสำคัญ ซึ่งในระยะเวลากว่าร้อยปี แบรนด์เติบโตขึ้นพร้อมการขยายตัวของโรงงาน จนกระทั่งในปี 1951 โรงงานแห่งแรกก็โดนระเบิดในช่วงสงครามทำลายจนสิ้น หลังสงครามจบ A. Lange & Söhne จึงได้คืนชีพอีกครั้งในปี 1990 โดย Walter Lange และ Günter Blümlein ซึ่งก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์กว่า 40 ปี แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความพิถีพิถันและจิตวิญญาณของแบรนด์ที่มุ่งสร้างผลงานนาฬิกาชั้นสูงด้วยคุณภาพและความประณีตหายไป ผลงานยุคใหม่ที่พลิกฟื้นกลับมาในช่วงปี 1994 กลายเป็นผลงานที่นักสะสมนาฬิกาทั่วโลกให้ความสนใจและมีไว้ในคลังส่วนตัว
โรงงานหลังสงครามโลกของแบรนด์ก็ยังคงอยู่ในเมืองกลาสฮุตเตอเช่นเดิม หากทุกอย่างล้วนเปลี่ยนไป ช่างฝีมือที่มีความชำนาญด้านนาฬิกามีมากขึ้น การพลิกฟื้นแบรนด์จึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว และนำมาซึ่งความสำเร็จ ทั้งจากคอลเลคชั่นเรือธงอย่าง Lange 1 ที่ขยายไลน์ออกมาอีกหลายเวอร์ชั่น รวมถึงรุ่นสำหรับผู้หญิงในตัวเรือนที่เล็กลง หรือคอลเลคชั่น Saxonia เรียบง่ายในความงดงาม รวมทั้งตระกูลซับซ้อนสูงอย่าง Pour le Mérite ที่สะท้อนถึงคติพจน์ของแบรนด์ที่ว่า “หัวใจที่เป็นแก่นแท้ภายใต้รูปทรงภายนอก” เน้นความประณีตและความดั้งเดิมของงานศาสตร์และศิลป์ที่ชัดเจนที่สุด ทุกผลงานทำให้แบรนด์เติบโตอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาเพียง 10 กว่าปี โรงงานขยายตัวเพิ่มขึ้น และในปี 2012 ก็เริ่มมีแนวคิดจะขยายโรงงานเพื่อรองรับการเติบโต จนในที่สุด โรงงานแห่งใหม่ที่ใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี กับงบประมาณอีกหลายสิบล้านยูโรก็สำเร็จลงอย่างสมบูรณ์ เชื่อมต่อกับอาคารเก่าอย่างลงตัวด้วย
โรงงานแห่งใหม่นี้กว้างราว 4,500 ตารางเมตร ออกแบบให้มีแสงสว่างอย่างเพียงพอด้วยหน้าต่างกว่า 253 บานและเป็นบานหน้าต่างที่ใหญ่เป็นพิเศษ ผนึกกระจกให้รับแสงสว่างได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ช่างนาฬิกาได้ทำงานด้วยแสงธรรมชาติ ทั้งยังเป็นหนึ่งในการบริหารด้านพลังงานที่มีประสิทธิภาพด้วย โรงงานแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งโรงงานสีเขียวที่ใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เน้นการใช้พลังงานที่ไม่สร้างมลพิษด้วยเทคโนโลยีทันสมัย รวมไปถึงระบบจัดการฝุ่นในส่วนห้องช่างนาฬิกาที่ประกอบชุดกลไกด้วย ทั้งยังออกแบบให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมของเมืองกลาสฮุตเตอที่ได้รรับการบูรณะขึ้นภายหลังสงครามโลก ในดีไซน์ร่วมสมัย
ผมได้เห็นการขัดชิ้นส่วนเล็กๆ ด้วยมือทุกชิ้นของช่างแต่ละคน เฉพาะงานขัดแต่งก็ใช้เวลานานและหลายขั้นตอน ทำให้ผมนึกถึงครั้งที่ A. Lange & Söhne เคยมาจัดเวิร์กช้อปที่เชียงใหม่ให้กับสื่อและนักสะสมของไทย ครั้งนั้นผมก็ได้มีโอกาสลองขัดแต่งบางชิ้นส่วน บอกได้เลยครับว่า เป็นงานที่ต้องใช้เวลา ใช้สมาธิ ใช้ความชำนาญอย่างมาก เพราะน้ำหนักในการขัดแต่งละครั้งและทุกๆ ครั้ง ไม่ได้มีผลเฉพาะความสวยงามของชิ้นส่วนกลไกเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทำงานเมื่อประกอบเข้ากับกลไกด้วย งานยากอย่างงานแกะสลักชิ้นส่วนกลไกที่เรียกได้ว่าเป็นซิเนเจอร์ของแบรนด์อย่างชุด Balance cock ชิ้นส่วนเล็กๆ ที่มีช่างผู้ชำนาญเพียงไม่กี่คนที่จะทำได้ในระดับมาตรฐานสูงของแบรนด์ ซึ่งในโรงงานนี้ก็มีอยู่เพียงไม่กี่คนเท่านั้น และเป็นเหตุผลที่ทำให้แบรนด์ก่อตั้งโรงเรียนช่างนาฬิกาขึ้นในปี 1997 เพื่อผลิตบุคลากรให้กับอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกา ไม่เฉพาะช่างแกะสลักเท่านั้น รวมไปถึงช่างนาฬิการุ่นใหม่ที่หาแรงงานมีฝีมือได้ยากขึ้นทุกที ยิ่งโดยเฉพาะแบรนด์ชั้นสูงที่รักษาขนบธรรมเนียมการประดิษฐ์นาฬิกาแบบดั้งเดิมไว้ เรียกว่าแย่งตัวช่างฝีมือดีกันเลยทีเดียว
งานประกอบชิ้นส่วนกลไกเองก็เป็นอีกแขนงที่ต้องใช้ช่างผู้ชำนาญชั้นสูง โดยเฉพาะกลไกซับซ้อนอย่างกลไกจักรกลของตระกูล Pour le Mérite ที่ปีนี้มีรุ่นซับซ้อนอย่าง Tourbograph Perpetual ‘Pour le Mérite’ ที่ผสานกลไกจับเวลาโครโนกราฟและสปลิท-เซกัลด์ กับระบบปฏิทินร้อยปี และควบคุมการส่งพลังงานด้วยระบบฟูเซ่และโซ่ ที่ทำให้มั่นใจถึงการไหลของแรงบิดจากกระปุกลานหลักสู่ชุดจักรกรอกมีความสม่ำเสมอ ทำให้กลไกเป็นอิสระจากแรงโน้มถ่วงด้วยกลไกตูร์บิญอง ขณะที่ระบบจับเวลาควบคุมด้วยจักรคอลัมน์วีลถึง 2 ตัว ทั้งยังออกแบบโครงสร้างให้ประหยัดพื้นที่ เพื่อให้วางโมดูลของกลไกปฏิทินร้อยปีได้อย่างลงตัว
การประกอบกลไกซับซ้อนแบบนี้มีความเสี่ยงมาก นอกจากจะต้องให้ทุกระบบและทุกชิ้นส่วนทำงานประสานกันให้เป็นหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยครับหากไม่ได้ผ่านความท้าทายหลายขั้นตอน และความทุ่มเทการทำงานของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง Mr. Anthony de Hanns ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ เล่าให้ผมฟังว่า แต่ละขั้นตอนไม่มีอะไรที่เหมือนกันเลย ในชิ้นส่วนกว่า 684 ชิ้นของกลไกชุดนี้ ผลิตขึ้นอย่างเข้มงวดภายใต้การควบคุมเพื่อให้อัตราความแม่นยำสูงสุดระดับโครโนมิเตอร์ แต่ช่างนาฬิกาทุกคนก็ต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรในการปรับตั้งค่าต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกชิ้นส่วนจะทำงานด้วยกันได้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
ยิ่งในส่วนของการประกอบกลไกตูร์บิยองนั้น เป็นหนึ่งในงานที่ยากที่สุดเลยครับ ตั้งแต่เริ่มต้นประกอบชิ้นส่วนเล็กๆ เข้าด้วยกัน จนถึงการปรับตั้งค่าต่างๆ การรื้อการประกอบ การขัดแต่งในขั้นตอนแรกและขั้นตอนสุดท้าย จนถึงการประกอบขั้นสุดท้าย ก่อนจะยึดกรงด้วยสะพานจักรให้กับเข้าสะพานจักรโครโนกราฟ และต้องให้กลไกชุดนี้หมุนเสมือนแขวนอยู่บนสะพานจักรที่ยึดทั้งสองด้านไว้ด้วย เฉพาะส่วนนี้ก็ใช้เวลานานมากแล้ว
ผมจำได้ว่าตอนทำเวิร์กช้อป ช่างนาฬิการะดับอาจารย์เคยบอกผมว่า นาฬิกาทุกเรือนของแบรนด์ต้องประกอบขึ้นถึง 2 ครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่า มันจะสมบูรร์แบบอย่างแท้จริง และการประกอบกลไกซับซ้อนแบบนี้ ทีมวิศวกรกลไกต้องเผชิญความท้าทายตลอดเวลา ขณะที่ช่างนาฬิกาที่ประกอบกลไกซับซ้อนก็ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญด้านเทคนิคสูงสุด ร่วมกับองค์ความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ ทักษะฝีมือและความอดทนทุ่มเท เพื่อประกอบชุดกลไกที่ซับซ้อนและประกอบเข้ากับองค์ประกองอื่นๆ จนได้นาฬิกาเรือนสำเร็จ แต่ละเรือนต้องใช้เวลานานมาก
ผมเห็นช่างแต่ละคนที่นั่งทำงานอย่างรวดเร็ว แต่ไม่เร่งรีบ ใช้สมาธิและพินิจพิจารณาแต่ละขั้นตอน ขัดไปดูไป แกะไปตรวจสอบไป ประกอบไปเช็คไป ยิ่งทำให้มั่นใจเลยครับว่า พวกเขาทำงานด้วยความรักอย่างแท้จริง ว่ากันว่า นาฬิการุ่นซับซ้อนนั้น มีข่างนาฬิกาประจำแต่ละเรือนที่รับผิดชอบ เช่นเดียวกับลวดลายที่แกะสลักลงบนชิ้นส่วนขนาดเล็ก แต่ละลายเส้นสะท้อนถึงฝีมือของแต่ละคนอย่างเห็นได้ชัด ราวกับลายเซ็นกันเลยทีเดียว
ผลงานพิถีพิถันอย่างนี้ ถึงทำให้นาฬิกา A. Lange & Söhne เป็นที่ต้องการของเหล่านักสะสมทั่วโลก และแต่ละปีก็ผลิตออกมาจำนวนไม่มากด้วยครับ
12 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567