Last updated: 8 พ.ย. 2566 | 2180 จำนวนผู้เข้าชม |
การผสานรวมของเทคโนโลยีทันสมัยของการผลิตนาฬิกายุคใหม่เข้ากับงานหัตถศิลป์เก่าแก่ของการผลิตนาฬิกาด้วยมือและเครื่องจักรโบราณ รวมถึงตำนานการกำเนิดของกลไกทูร์บิญองอันเป็นเลิศจากมันสมองของ Abraham-Louis Breguet ผู้ก่อตั้งแบรนด์ขึ้นในปี 1775 และยังคงได้รับการสืบทอดและพัฒนาต่อยอดมาจนถึงทุกวันนี้
เมื่อเอ่ยถึงชื่อ Breguet ทุกคนต้องนึกถึงกลไกทูร์บิญองสุดซับซ้อนที่ผู้ก่อตั้งแบรนด์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยชดเชยค่าความผิดเพี้ยนให้กับกลไกจักรกลหลักในนาฬิกาพกจากแรงโน้มถ่วงของโลก แต่ความจริงแล้ว ยังมีอีกหลายหลากสิ่งที่ A.L Breguet ประดิษฐ์ขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโอเวอร์คอยด์ Breguet เข็มนาฬิกาสไตล์ Breguet เป็นต้น ปัจจุบัน สิ่งประดิษฐ์ต่างๆ ของเขายังคงปรากฏให้เห็นในนาฬิกายุคปัจจุบันของแบรนด์ และในอีกหลากหลายแบรนด์ที่หยิบยืมความงามและน่าอัศจรรย์เหล่านี้ไปใช้ด้วย ครั้งนี้ เราจะพาคุณไปสำรวจเบื้องหลังการผลิตที่รังสรรค์ความงามให้กับนาฬิกา Breguet ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
อาคารทันสมัยที่มีฉากหลังเป็นธรรมชาติอันสวยงาม แต่เดิมเป็นโรงงานผลิตกลไกชื่อดังเก่าแก่ที่ Swatch Group เข้าซื้อกิจการในปี 1999 และ Nicolas G. Hayek ก็ได้เพิ่มส่วนต่อขยายของอาคารใหม่ให้กว้างใหญ่ขึ้นในปี 2001 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น Breguet Manufacture ซึ่งประวัติศาสตร์การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ถูกจารึกไว้บนแผ่นโลหะบนพื้นทางเข้าส่วนต่อขยายโรงงานที่เขียนไว้ว่า “The first stone laid on September 28, 2001 by Monsieur Nicolas G. Hayek and his son Nick” (หินก้อนแรกวางเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2001 โดย นายนิโคลัส จี ฮาแย็ค และนิค ลูกชายของเขา) ต่อมาในปี 2013 โรงงานแห่งนี้ก็ได้มีการขยายเพิ่มเติมอีกครั้ง ปัจจุบันความคลาสสิกของงานตกแต่งดั้งเดิมที่เป็นมรดกสืบทอดมานานนับร้อยปีได้รับการผสานเข้ากับเทคโนโลยีทันสมัยได้อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมกับพนักงงานกว่า 800 คน
ภายในโรงงาน Breguet ได้รับการแบ่งพื้นที่ทำงานออกเป็นโซน T0, T1 และ T2 แผนกแรกเริ่มของการผลิตอยู่ที่ชั้นล่างสุดของแผนกวัสดุ ซึ่งมีวัสดุตั้งต้นทั้งทองเหลือง สตีลและไทเทเนียมจำนวนมาก เก็บสำรองไว้ทั้งในแบบแท่งและแบบม้วน วัสดุเหล่านี้จะถูกส่งไปยังเครื่องจักร CNC เพื่อตัดและเจาะอันเป็นขั้นตอนแรกของการเริ่มต้นสร้างชิ้นส่วน แน่นอนว่า หลังจากการตัดและเจาะแล้ว ชิ้นส่วนเหล่านี้ยังต้องผ่านกระบวนการอีกมากมาย ทั้งทำความสะอาด ขัดเงา ตกแต่ง ลบเหลี่ยมมุม การใช้เครื่องจักรในการตัดขั้นแรก ช่วยลดเวลาในการทำงานขั้นต้นได้อย่างมาก นอกจากนี้ วัสดุเหล่านี้ยังถูกนำไปผลิตภายใต้แนวคิดด้านความยั่งยืนตามคอนเซ็ปต์ของ มร.ฮาแย็ค ที่ต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มดีที่สุดและขณะเดียวกันก็ต้องปกป้องสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันด้วย ดังนั้น วัสดุที่เหลือจากการผลิตก็จะถูกนำมารีไซเคิลเพื่อใช้ใหม่โดยไม่ทิ้งให้เสียเปล่า
สำหรับ Breguet ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับลวดลายอันสลับซับซ้อน ภาพเครื่องจักรแกะลายกิโยเช่ที่เรียงรายอยู่ราว 30-40 เครื่องในห้องขนาดใหญ่ของแผนก Guillochage จึงน่าตื่นตาตื่นใจอย่างช่วยไม่ได้จริงๆ และเป็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยส่วนมากจะมีเครื่องจักรโบราณเหล่านี้อยู่เพียงไม่กี่เครื่องในบางโรงงาน ซึ่งตอกย้ำได้เป็นอย่างดีถึงแบรนด์เก่าแก่ที่ให้ความใส่ใจในเรื่องงานตกแต่งลวดลายที่สุดประณีต โดยเฉพาะลูกเล่นจากการผสมผสานแบบลายจากเครื่องกิโเยช่ ไม่ใช่แค่สองหรือสามแบบแผนลวดลาย แต่บางครั้งเกินกว่า 5 รูปแบบก็เคยมีให้เห็นมาแล้ว ช่างแต่ละคนจะเปลี่ยนโลหะแผ่นเปล่าๆ ให้กลายเป็นลวดลายสวยงามสู่งานศิลปะที่เต็มไปด้วยรายละเอียด ซึ่งอาจจะกลายเป็นหน้าปัด หรือชิ้นส่วนกลไกของนาฬิกาสักชิ้น ลวดลายที่ใช้กันอย่างที่เราคุ้นเคยกันก็เช่น Clou de Paris, ลายขดหอย, ลายคลื่น, Pavé de Paris, ลายรัศมีหรือซันเบิร์ส, ลายข้าวบาร์เลย์ ลายตาราง ลายสาน ลายกระดานหมากรุก เป็นต้น ไม่ใช่แค่การแกะลายด้วยเครื่องกิโยเช่นบนโลหะเท่านั้น บางครั้ง Breguet ก็สร้างสรรค์ลายซับซ้อนลงบนแผ่นเปลือกหอยมุกที่บอบบาง ท้าทายขีดความสามารถของช่างกิโยเช่เป็นอย่างยิ่ง ด้วยความบางและเปราะของวัสดุที่ไม่ง่ายเลยที่จะทำให้งดงามและสมบูรณ์แบบได้ เรามีโอกาสได้ลองทำด้วยตนเอง และมันก็ยาก ไม่น่าแปลกที่ช่างกิโยเช่นั้นก็ไม่ได้มีจำนวนมาก และไม่มีสถาบันการเรียนอย่างเป็นทางการ ทุกอย่างมาจากประสบการณ์และการฝึกฝนเป็นหลัก
ช่างแกะลายกิโยเช่ฝีมือฉกาจนั้นรังสรรค์ลวดลายลงบนหน้าปัด สะพานจักร แท่นเครื่องหรือโรเตอร์ขึ้นลาน ที่สามารถเห็นได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของนาฬิกา Breguet หลากหลายรุ่น แทบไม่มีชิ้นไหนที่ Breguet จะไม่สามารถทำลายกิโยเช่ได้ แม้แต่ลายเซ็นต์ของ Breguet เองก็ใช้เครื่องกิโยเช่ในการสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน ตัวอักษร Breguet และหมายเลขรุ่นถูกสลักด้วยมือบนนาฬิกาเกือบทุกเรือน ช่างกิเยช่ของ Breguet นั้นสั่งสมประสบกาณ์มานานกว่า 30 ปี และมีแต่เพียงพวกเขาเท่านั้นที่เชี่ยวชาญในเทคนิคที่ซับซ้อนที่สุด แต่แม้จะมีเครื่องกิโยเช่มากขนาดนี้ แต่เมซงก็ยังคงแสวงหาเครื่องโบราณมาเพิ่มเสมอ เพราะแต่ละเครื่องนั้นมีลวดลายหรือรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางความงามของลายตกแต่งได้ในอนาคต บางเครื่องถูกซื้อมาเก็บไว้ แต่ใช้การไม่ได้ก็ต้องรอซ่อมแซมก่อน แต่บางเครื่อง แม้จะเก่าแต่ก็ใช้งานได้ดี
Breguet ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการขัดแต่งชิ้นส่วนกลไกเพื่อลบเหลี่ยมมุมและสร้างมิติความงาม กระบวนการขัดที่ใช้ไม้ธรรมชาติเป็นเครื่องมือ และค่อยๆ ตะไบไปเรื่อยๆ จนกว่าขอบมุมจะขึ้นเงาและสวยงาม ถ้าไม่ใช่ช่างผู้ชำนาญก็ยากจะดูออกว่า แบบไหนที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบแล้ว ไม่เพียงแต่ความงามเท่านั้น เมื่อชิ้นส่วนเหล่านั้นประกอบเข้าด้วยกัน มันจะทำงานสอดประสานกันอย่างดีอีกด้วย
การชมโรงงาน Breguet ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการผสานรวมของประเพณีดั้งเดิมที่ก่อกำเนิดแบรนด์ขึ้นมาเมื่อ 248 ปีก่อน กับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งก่อนที่จะจบทริป เรายังได้มีโอกาสชมผลงานนาฬิกา Breguet รุ่นปัจจุบันและรุ่นใหม่ที่โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็น Tradition, Reine de Naples, Classique Complication ที่กำลังจะเข้ามาในเมืองไทยภายในปีนี้ รอติดตามกันได้ ล่าสุดเรือนสวยสไตล์นาฬิกานักบิน Type 20 Chronographe 2057 ก็เพิ่งเปิดตัวไป เท่สุดๆ สมค่าการรอคอยจริงๆ
19 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567
22 พ.ย. 2567