Last updated: 17 ม.ค. 2567 | 952 จำนวนผู้เข้าชม |
ในปี 1968 ประวัติศาสตร์บทใหม่ก็ถูกจารึกเมื่อภารกิจ Apollo 8 ได้เป็นการบินโคจรรอบดวงจันทร์ครั้งแรกที่มีมนุษย์ สิ่งที่อยู่บนข้อมือนักบินอวกาศทุกรายระหว่างภารกิจแห่งการบุกเบิกครั้งนั้นคือนาฬิกา OMEGA Speedmaster – เครื่องมือที่พวกเขาต้องพึ่งพาตลอดการรณรงค์ไปดวงจันทร์ของ NASA ในปีนี้ OMEGA จึงขอยกย่องเรื่องราวดังกล่าวผ่านนาฬิกา Speedmaster Dark Side of the Moon รุ่นใหม่ที่รังสรรค์ด้วยเทคโนโลยีอันล้ำยุค, วัสดุหลากหลายแบบ และอัดแน่นด้วยความเชี่ยวชาญในการผลิต
OMEGA ได้เคยเผยโฉมนาฬิกา Speedmaster Dark Side of the Moon Apollo 8 ครั้งแรกเมื่อปี 2018 เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของภารกิจ และบัดนี้แบรนด์ได้หวนย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นด้วยการยกระดับรายละเอียดในการออกแบบให้ยอดเยี่ยมยิ่งขึ้น
สำหรับการรังสรรค์สัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ทั่วทั้งการออกแบบ ลวดลายพื้นผิวดวงจันทร์บนกลไกนาฬิกา Calibre 3869 จึงถูกตกแต่งด้วยกรรมวิธีการระเหยด้วยเลเซอร์บนชิ้นส่วนเมนเพลทกับสะพานเครื่องรมดำ เฉกเช่นเดียวกับดวงจันทร์ กลไกรุ่นนี้จะอวดโฉมให้ได้เห็นทั้งสองด้านที่แตกต่างกัน บนฝั่งหน้าปัดจะแสดงด้านของดวงจันทร์ที่เรามองเห็นจากโลก ในขณะที่ด้านหลังของเรือนเวลาจะเผยด้านมืดของดวงจันทร์ที่มีเพียงนักบินอวกาศเท่านั้นที่เคยสัมผัส กรรมวิธีการสลักด้วยเลเซอร์และการใช้พื้นผิวที่ตัดกันจึงทำให้การปรับโฉมครั้งนี้เป็นการตีความดวงจันทร์ใหม่ รายละเอียดต่างๆ ได้ถูกจัดวางอย่างวิจิตรและผสมผสานไปกับชิ้นส่วนจักรที่เคลือบด้วยสีเทาอ่อนกับบาลานซ์วีลเคลือบสีทองและเทาเข้มอย่างลงตัว
นอกจากนี้ กลไกไขลาน Calibre 3869 ยังได้รับการรับรองระดับ Co-Axial Master Chronometer ซึ่งมอบคุณสมบัติด้านความเที่ยงตรง, ประสิทธิภาพทางโครโนเมตริกและคุณสมบัติด้านการต้านทานสนามแม่เหล็กที่สูงที่สุดในอุตสาหกรรม
สามารถชมกลไกที่ตกแต่งด้วยดวงจันทร์ได้ผ่านหน้าปัดแบบฉลุของนาฬิกาที่รังสรรค์จากอลูมิเนียมอโนไดซ์สีดำ กระนั้นการเดินทางก็ยังไม่สิ้นสุด สำหรับตัวเรือนขนาด 44.25 มม. ชิ้นส่วนขอบตัวเรือนขัดเงากับฝาหลังของ OMEGA รุ่นนี้จะผลิตจากเซรามิกสีดำหลายชิ้น อีกทั้งเติมเต็มด้วยสเกลทาคีมิเตอร์จากอีนาเมลแบบ “กรองด์ เฟอ” (Grand Feu) สีขาว เข็มโครโนกราฟกลางสีเหลืองเคลือบซึ่งเป็นโทนเดียวกับบนส่วนของสายนาฬิกาแบบฉลุ ซึ่งรังสรรค์จากวัสดุยางสีดำและตกแต่งด้านในด้วยสีเหลือง
อีกหนึ่งรายละเอียดใหม่คือเข็มวินาทีขนาดเล็กที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกาที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการจดสิทธิบัตรซึ่งผลิตจากวัสดุไทเทเนียมเกรด 5 และมีรูปทรงคล้ายกับจรวด Saturn V อันโด่งดังของ NASA ชิ้นส่วนสามมิตินี้ถูกรังสรรค์จากกรรมวิธีการกลึงด้วยเลเซอร์ในขณะที่สีมาจากกระบวนการเคลือบด้วยสีขาว, ระเหย และรมดำด้วยเลเซอร์ รายละเอียดขนาดเล็กทว่าเปี่ยมไปด้วยแรงบันดาลใจแห่งการเฉลิมฉลองให้กับความสำเร็จของโครงการ Apollo
ฝาหลังได้รับการประดับด้วยข้อความต่างๆ รวมถึง “WE’LL SEE YOU ON THE OTHER SIDE” – ประโยคสุดท้ายที่ จิม โลเวลล์ (Jim Lovell) ผู้เป็นนักบินประจำโมดูลบัญชาการพูดกับศูนย์ควบคุมก่อนที่ภารกิจ Apollo 8 จะขาดการติดต่อระหว่างที่เข้าไปเยือนยังด้านมืดของดวงจันทร์เป็นครั้งแรก
พื้นผิวดวงจันทร์อันห่างไกลได้เป็นจุดกำเนิดเรื่องราวและความสงสัยมาอย่างยาวนาน การสวมใส่เรือนเวลารุ่นนี้จึงเป็นการเชื่อมต่อกับดวงดาวบริวารของเราอย่างแท้จริงเฉกเช่นเดียวกับสายสัมพันธ์ที่ OMEGA มีต่อการสำรวจอวกาศ เมื่อโลกมองหาความเป็นไปได้ในอนาคตเบื้องหน้า ภารกิจ Apollo 8 จะยังคงย้ำเตือนให้เราเห็นว่าความร่วมมือของมนุษยชาตินั้นพาให้เราไปได้ไกลถึงเพียงใด
22 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567