Last updated: 23 ม.ค. 2567 | 1458 จำนวนผู้เข้าชม |
Audemars Piguet (โอเดอมาร์ ปิเกต์) แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดตัวนาฬิกา Royal Oak Concept Flying Tourbillon รุ่นลิมิเต็ดเอดิชันที่รังสรรค์ขึ้นภายใต้ความร่วมมือครั้งพิเศษกับแฟชั่นดีไซเนอร์ผู้ออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูง Tamara Ralph (ทามารา ราล์ฟ) ด้วยแรงบันดาลใจจากเอกลักษณ์ในการออกแบบของทามาราที่ผสมผสานความคิดสร้างสรรค์อันไร้ขีดจำกัดเข้ากับความเป็นผู้หญิงและความสง่างามเหนือกาลเวลาได้อย่างโดดเด่น จนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นนาฬิกาพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตรุ่นลิมิเต็ด เอดิชันที่ระยิบระยับวับวาวด้วยรายละเอียดการตกแต่งแบบ Frosted Gold (ฟรอสต์โกลด์)ในเฉดสีที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว กับหน้าปัดไล่ระดับสีตั้งแต่สีน้ำตาลและบรอนซ์ไปจนถึงสีทอง ผลงานที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือในครั้งนี้ซึ่งจะถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มกราคม 2567 บนรันเวย์แฟชั่นโชว์ของแบรนด์ Tamara Ralph ในปารีสที่โอต์กูตูร์ แฟชั่น วีคสำหรับฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน ประจำปี 2024 ถือเป็นการเฉลิมฉลองการทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืนระหว่างแบรนด์ผู้รังสรรค์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงและแบรนด์แฟชั่นชั้นสูง ทั้งยังเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่าง Audemars Piguet กับโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
นาฬิการุ่น Royal Oak Concept Flying Tourbillon “Tamara Ralph” Limited Edition รังสรรค์ขึ้นภายใต้การทำงานร่วมกับนักออกแบบแฟชั่นชั้นสูง โดยมาพร้อมตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัต โดดเด่นด้วยรายละเอียดการตกแต่งแบบ Frosted Gold และการไล่ระดับสีบนหน้าปัดซ้อนกันหลายชั้นตั้งแต่สีน้ำตาลและบรอนซ์ไปจนถึงสีทอง ©ภาพลิขสิทธิ์จาก Audemars Piguet
การร่วมทำงานที่ให้แรงบันดาลใจ
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ที่ช่วยหล่อเลี้ยงวัฒนธรรม เชื่อมโยงผู้คน และเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล Audemars Piguet จึงมองหาแรงบันดาลใจจากโลกที่กว้างใหญ่อยู่เสมอ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา Audemars Piguet ได้ผลักดันให้เกิดบทสนทนาอันทรงคุณค่าในหลากหลายแวดวงการสร้างสรรค์ รวมทั้งอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์เสื้อผ้าชั้นสูง ซึ่งแชร์ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าร่วมกันกับ Audemars Piguet ทั้งในเรื่องการสร้างสรรค์ผลงานด้วยฝีมือ ความแม่นยำ และความเป็นเลิศอย่างไม่ประนีประนอม
ในปี 2020 Audemars Piguet เริ่มต้นการจับมือเป็นพันธมิตรกับแฟชั่นดีไซเนอร์ “ทามารา ราล์ฟ” โดยนำนาฬิกาหลายเรือนของ Audemars Piguet มาจับคู่กับเสื้อผ้าในคอลเลกชั่นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ประจำฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2021ของเธอ และเพื่อสานต่อความสัมพันธ์ที่ยั่งยืนนี้ Audemars Piguet และทามารา ราล์ฟได้กลับมาร่วมมือกันอีกครั้งในปีนี้ กับการออกแบบนาฬิกา Royal Oak Concept Flying Tourbillon รุ่นลิมิเต็ดเอดิชันซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากจักรวาลเสื้อผ้าชั้นสูงของทามารา ราล์ฟ นาฬิกาเรือนนี้ซึ่งจะได้รับการเปิดตัวออกมาในวันที่ 22 มกราคม 2567 บนรันเวย์แฟชั่นโชว์ของแบรนด์ในปารีส จะตอกย้ำแนวทางการทำงานอันก้าวหน้าของทั้งสองแบรนด์ ทั้งในด้านการสร้างสรรค์งานฝีมือ การผสมผสานกันอย่างลงตัวของความเชี่ยวชาญที่สืบสานมาจากอดีตเข้ากับเทคนิคสมัยใหม่ ตลอดจนการสร้างสรรค์ผลงานอันโดดเด่นของทั้งสองแบรนด์ที่อาจเปรียบได้ดังผลงานศิลปะที่เข้าถึงอารมณ์
“ความตั้งใจของฉันในการออกแบบผลงานชิ้นนี้คือการถ่ายทอดจิตวิญญาณและงานฝีมือของทั้งแบรนด์ของฉันและ Audemars Piguet ออกมา ความซับซ้อนของการสร้างสรรค์นาฬิกาคือรากฐานความคิดสร้างสรรค์ที่เราสามารถต่อยอดได้ ทั้งในแง่ของเท็กซ์เจอร์ สีสัน และดีไซน์ เปิดโอกาสให้โลกของความเชี่ยวชาญเชิงช่างในแบบของเสื้อผ้าชั้นสูงได้เปล่งประกายออกมา วัสดุที่รุ่มรวย สีสันที่เป็นเอกลักษณ์ และความแม่นยำขั้นสูงสุดถูกนำมาหลอมรวมเข้าด้วยกัน จนเกิดเป็นนาฬิกา Royal Oak Concept Flying Tourbillon รุ่นลิมิเต็ดเอดิชันที่ทั้งงดงามโดดเด่น ด้วยแรงบันดาลใจจากงานโอต์กูตูร์”
Tamara Ralph / ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และผู้ก่อตั้ง Tamara Ralph กล่าว
“ความมุ่งมั่นในการแสวงหาความสมบูรณ์แบบอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของทามารา สอดคล้องอย่างยิ่งกับความทุ่มเทของช่างทำนาฬิกาของเราในการผลักดันการสร้างสรรค์เรือนเวลาให้ก้าวไปไกลกว่าขีดจำกัด เราจึงรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เริ่มต้นปี 2024 ด้วยความร่วมมือกับผู้หญิงที่สร้างแรงบันดาลใจ เช่นทามารา และอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น”
Ilaria Resta (อิลาเรีย เรสตา) / ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Audemars Piguet กล่าว
สะท้อนความพิถีพิถันผ่านเนื้อสัมผัสและการเล่นกับแสง
นาฬิกา Royal Oak Concept Flying Tourbillon “Tamara Ralph” Limited Edition มาพร้อมตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตที่ตกแต่งด้วยเทคนิค Frosted Gold ซึ่งเป็นเทคนิคการสร้างสรรค์งานจิวเวลรี่ที่มีมาแต่โบราณจากเมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี โดยนักออกแบบจิวเวลรี “คาโรลินา บุชชี” เป็นผู้นำมากลับใช้ และช่างนาฬิกาของ Audemars Piguet ได้นำมาปรับใช้เพื่อตกแต่งบนเรือนเวลาของ Audemars Piguet ในปี 2016 โดยวิธีการสร้างสรรค์ จะเริ่มต้นโดยการสร้างรอยขรุขระแบบฟันเลื่อยเล็ก ๆ บนพื้นผิวสีทองด้วยเครื่องมือกัดเพชรเพื่อให้เกิดเอฟเฟกต์ของการส่องประกายคล้ายประกายจากอัญมณีอันล้ำค่า ความทรงพลังที่ประจักษ์แก่สายตาถูกขับเน้นให้เด่นชัดยิ่งขึ้นด้วยมุมเอียงขัดเงาที่ช่วยทำให้เกิดเส้นสายของขอบตัวเรือนทรงแปดเหลี่ยม ในขณะที่ด้านข้างของตัวเรือนซึ่งผ่านการขัดแบบซาตินช่วยเติมคอน ทราสต์ที่น่าสนใจให้กับตัวเรือน นอกจากนี้ รายละเอียดของเทคนิคการตกแต่งขั้นสุดท้ายหลากหลายเทคนิค ตลอดจนการทำงานอย่างพิถีพิถันซึ่งต้องการการกำหนดตำแหน่งอย่างสมบูรณ์แบบที่สุดระหว่างการตอก ขัด และขัดเงา ทำให้ผิวสัมผัสของตัวเรือนเต็มเปี่ยมด้วยความหรูหรา และให้รายละเอียดของการเล่นกับแสงได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ฝาหลังประดับแซฟไฟร์ถูกยึดให้เข้าที่โดยกรอบพิ้งคโกลด์ 18 กะรัตทรงแปดเหลี่ยม เก็บรายละเอียดสุดท้ายด้วยการขัดแบบซาตินและการขัดเงาลบมุม พร้อมสลักคำว่า “Royal Oak Concept Limited Edition” ไว้ด้วย
นอกจากนี้ เม็ดมะยมทรงหกเหลี่ยมที่กลมกลืนไปกับรูปทรงของสกรูสแตนเลส สตีลซึ่งจัดเรียงอยู่บนขอบตัวเรือน ยังให้รายละเอียดของการเล่นกับแสงได้เช่นกันเนื่องจากส่วนนี้มีการใช้เทคนิคการขัดแบบซาตินและการขัดเงา แซฟไฟร์เจียระไนแบบ cabochon cut ช่วยเติมอีกหนึ่งสัมผัสของความงามสง่าในแบบฉบับของคุณสุภาพสตรีเข้ามาในดีไซน์ของตัวเรือน
สอดประสานสีสันและเลเยอร์
หน้าปัดหลายเลเยอร์ของนาฬิกาเรือนนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากเอกลักษณ์ของสไตล์เฟมินีนสุดโดดเด่นและรายละเอียดของเท็กซ์เจอร์เสื้อผ้าภายใต้การสร้างสรรค์ผลงานกูตูร์ของแบรนด์ Tamara Ralph โดยหน้าปัดประกอบด้วยเพลทพิ้งค์โกลด์ทรงกลม 4 แผ่นที่วางทับซ้อนกัน ทำให้เกิดเอฟเฟกต์ที่ดูเหมือนระลอกคลื่นที่กระเพื่อมเป็นวงออกมาจากกรง flying tourbillon ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา แต่ละชั้นมาพร้อมโทนสีที่แตกต่างกัน เริ่มจากสีน้ำตาลตรงจุดศูนย์กลาง ต่อด้วยสีบรอนซ์ตรงกึ่งกลาง แล้วเปลี่ยนเป็นโทนสีทองตรงช่วงใกล้ขอบหน้าปัด เลเยอร์สีน้ำตาลและสีทองรังสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิคกัลวานิก ส่วนเลเยอร์สีบรอนซ์ใช้วิธีการเคลือบด้วยแลคเกอร์สีบรอนซ์ หน้าปัดตกแต่งรายละเอียดสุดท้ายด้วยการขัดแบบซาตินพร้อมลายแสงอาทิตย์ที่แผ่รังสีจากเข็มนาฬิกาออกไปด้านนอกอย่างกลมกลืนไร้รอยต่อในทุกเลเยอร์ อีกหนึ่งรายละเอียดที่ไปไกลเกินขีดจำกัดคือขอบทองเส้นบางขัดเงาวาววับดุจเพชรของแต่ละเลเยอร์ซึ่งช่วยเพิ่มความลุ่มลึกน่าสนใจยิ่งขึ้นให้กับหน้าปัด
กลไก flying tourbillon ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาซึ่งมาพร้อมรูปทรงกลมที่กลมกลืนไปกับรูปทรงกลมซ้อนทับกันหลายชั้นของหน้าปัด ยังเผยให้เห็นทั้งความเชี่ยวชาญทางเทคนิคและสุนทรียะแห่งความงามอันซับซ้อนของนาฬิกาเรือนนี้ กรอบด้านบนของกรงประกอบด้วยวงแหวนสามวงที่เหมือนแผ่รังสีออกมาจากแผ่นดิสก์ประดับด้วยเพชรเจียระไนแบบ brilliant cut จำนวน 19 เม็ด (น้ำหนักรวม 0.04 กะรัต) โทนสีพิ้งค์โกลด์แมตช์กับเข็มชั่วโมงและเข็มนาทีพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตเคลือบสารเรืองแสงเพื่อให้สามารถอ่านเวลาได้ชัดเจนแม้ในความมืด ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกาซึ่งมีโลโก้ AP พิ้งค์โกลด์วางอยู่ ช่วยเติมสัมผัสสุดท้ายให้กับหน้าปัดได้อย่างลงตัว เครื่องหมายบอกหลักชั่วโมงถูกทอนออกไปเพื่อขับเน้นความบริสุทธิ์และความกลมกลืนของดีไซน์โดยรวมของหน้าปัด
นาฬิกาเรือนนี้ยังมาพร้อมกับสายหนังจระเข้ “ลายกว้าง” ในโทนสีบรอนซ์ที่เย็บด้วยมือ พร้อมกับมีสายหนังจระเข้สีน้ำตาลสำรองที่แมตช์กับสีสันของหน้าปัดให้อีกหนึ่งเส้น สายทั้งสองเส้นยังมีการตกแต่งรายละเอียดสุดท้ายให้ดูเงาเหมือนมุกที่ช่วยเพิ่มทั้งความสง่างามและความเย้ายวนใจให้กับนาฬิกา เฉดสีที่แวววาวและรายละเอียดอันซับซ้อนของนาฬิกาเรือนนี้พร้อมดึงดูดสายตาไม่ว่าจะในระยะใกล้หรือไกล ไม่ต่างกับงานออกแบบเสื้อผ้ากูตูร์ที่ดึงดูดสายตาทุกคนได้เสมอ
ลึกลงตรงใจกลางของความเป็นเครื่องบอกเวลาชั้นสูง
นาฬิการุ่นลิมิเต็ดเอดิชันที่มาพร้อมกลไกไขลานของคาลิเบอร์ 2964 เรือนนี้ ผสานประเพณีที่สืบสานเข้ากับความทันสมัย กลไก flying tourbillon ซึ่งสามารถมองเห็นได้ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา เผยให้เห็นกลไกที่ขยับเขยื้อนอยู่ภายใน กลไกระดับไฮเอนด์สุดละเอียดอ่อนนี้สามารถต้านทานผลกระทบของแรงโน้มถ่วงที่มีต่อความแม่นยำของนาฬิกาได้ balance wheel และเอสเคปเมนต์ถูกติดตั้งไว้ในกรงหมุนขนาดเล็กที่จะหมุนครบรอบทุก ๆ นาทีเพื่อป้องกันไม่ให้จุดศูนย์ถ่วงอยู่ในทิศทางเดียวกัน ความแตกต่างที่กลไกนี้มีเมื่อเทียบกับกลไก tourbillon อื่นก็คือ กรง flying tourbillon มีการรองรับจากด้านล่างเท่านั้น เพื่อไม่ให้กลไกที่เป็นเหมือนหัวใจที่กำลังเต้นของนาฬิกาเรือนนี้ต้องถูกบดบังบนหน้าปัด ปัจจุบัน กลไก tourbillon นับว่าเป็นสัญลักษณ์สำคัญของศิลปะการสร้างสรรค์เรือนเวลา เนื่องจากมีช่างทำนาฬิกาที่เชี่ยวชาญเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ยังคงมีทักษะมากพอสำหรับการสร้างสรรค์กลไกนี้
สะพานจักรด้านหลังของกลไกซึ่งสามารถมองเห็นได้ผ่านฝาหลังประดับแซฟไฟร์และได้แรงบันดาลใจมาจากรายละเอียดสุดงดงามของรูปทรงกลมที่ซ้อนทับกันหลายชั้นของหน้าปัด ได้รับการตกแต่งด้วยวงกลม 5 วงที่แผ่ขยายออกมาจากด้านหลังของกรง flying tourbillon โดยค่อย ๆ เพิ่มขนาดขึ้นเมื่อเคลื่อนตัวสู่วงนอก การใช้เทคนิคพ่นทรายสลับกับเทคนิคการขัดแบบซาตินช่วยเติมเต็มรายละเอียดที่ดูโดดเด่นและลุ่มลึกยิ่งขึ้นสอดรับกับการตกแต่งรายละเอียดสุดประณีตด้วยเทคนิคฟรอสต์โกลด์บนตัวเรือน ฝาหลังประดับแซฟไฟร์ยังเผยให้เห็นบริดจ์ชิ้นเดียวที่ใช้ยึดกรง flying tourbillon เอาไว้ ในขณะที่ช่องเปิดที่เพิ่มเข้ามาเผยให้เห็นบางส่วนของระบบเกียร์ การออกแบบและการพัฒนากลไกยังผสานเข้าด้วยกันอย่างลงตัว นำไปสู่ความกลมกลืนไร้รอยต่อทั้งภายในและภายนอก ไม่ต่างกับงานออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูง
“นาฬิกาเรือนนี้คือการแสดงออกถึงที่สุดของความเป็นผู้หญิงของกลไก flying tourbillon น้ำหนักที่เบา ความแม่นยำ และความสง่างามสอดประสานเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนกับคุณภาพของการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงคุณค่าของกลไกชุดนี้”
แอนน์-เกลล์ คิเน็ต / ผู้อำนวยการฝ่ายคอมพลิเคชันส์ Audemars Piguet กล่าว
ประวัติศาสตร์อันทรงพลัง
นาฬิการุ่น Royal Oak Concept ถือกำเนิดขึ้นในปี 2002 ในโอกาสแห่งการฉลองครบรอบ 30 ปีของนาฬิการุ่น Royal Oak ในเวลานั้น Audemars Piguet ได้เปิดตัวนาฬิการุ่นลิมิเต็ดเอดิชันจำนวนจำกัด 150 เรือน ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากรถยนต์คอนเซ็ปต์ โดยใช้ไทเทเนียมผสมผสานเข้ากับอะลาไครท์ 602 ซึ่งเป็นโลหะผสมที่มีน้ำหนักเบาทว่ามีความทนทานสูง และโดยมากมักใช้ในอุตสาหกรรมการบิน ในขณะที่ขอบตัวเรือนยังคงรักษารูปทรงแปดเหลี่ยมอันเป็นเอกลักษณ์ของนาฬิการุ่น Royal Oak เอาไว้ ทว่าตัวเรือนทรงกลมขนาดหน้าปัดใหญ่ 44 มิลลิเมตร ที่เผยความโค้งมนตามหลักสรีรศาสตร์ซึ่งสอดรับกับรูปทรงตามธรรมชาติของข้อมือ ก็ได้เปิดโลกทัศน์ใหม่ให้กับนาฬิกาในคอลเลกชันนี้ และเพื่อเติมความงดงามล้ำอนาคตให้โดดเด่นยิ่งขึ้นบนตัวเรือน หน้าปัดที่เผยให้เห็นกลไกการไขลานด้วยมือเหนือระดับ ยังมาพร้อมฟังก์ชันที่เป็นนวัตกรรมล้ำสมัยมากมาย
แม้ว่าในตอนแรก Royal Oak Concept จะถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อให้เป็นรุ่นลิมิเต็ดเอดิชันที่ผลิตออกมาเพียงครั้งเดียว แต่นาฬิกาเรือนนี้ได้นำไปสู่สุนทรียะแห่งการออกแบบใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในเครื่องบอกเวลาชั้นสูงของศตวรรษที่ 21 และนำไปสู่การสร้างสรรค์คอลเลกชันนาฬิการุ่นนี้ในปี 2008 หลังจากการเปิดตัวนาฬิการุ่น Royal Oak Carbon Concept Tourbillon and Chronograph ซึ่งนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา Royal Oak Concept ก็ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มแห่งการทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ที่ทำให้เราได้เห็นการเลือกใช้วัสดุใหม่ ๆ การออกแบบที่ล้ำสมัย และกลไกที่เป็นนวัตกรรมซึ่งสอดรับกับอัตลักษณ์ของนาฬิกาเรือนนี้
นาฬิการุ่น Royal Oak Concept สำหรับสุภาพสตรีเรือนแรกถูกเปิดตัวออกมาเป็นส่วนหนึ่งในคอลเลกชันนี้ในปี 2018 โดยยังเป็นนาฬิกาข้อมือที่มาพร้อมกลไก flying tourbillon เรือนแรกของ Audemars Piguet รังสรรค์ออกมาเป็นนาฬิกาในขนาดหน้าปัด 38.5 มิลลิเมตร 2 เรือนบนวัสดุไวท์โกลด์ 18 กะรัต ขับเน้นสุนทรียะที่โดดเด่นของคอลเลกชันด้วยรายละเอียดของการประดับเพชรที่เจียระไนทั้งแบบ brilliant cut และ baguette cut ดีไซน์ของนาฬิกาเรือนนี้ถูกตีความใหม่อีกครั้งในปี 2021 กับซีรีส์นาฬิกาที่มาพร้อมรายละเอียดของการประดับด้วยเพชรและอัญมณีหลากสีสัน
คอลเลกชัน Royal Oak Concept ยังนำเสนอนาฬิกาสำหรับสตรีที่บรรจุกลไก Flying Tourbillon พร้อมความแวววาวของเทคนิคการตกแต่งแบบฟรอสต์โกลด์ในปี 2020 ซึ่งถือว่าเป็นรุ่นแรกในคอลเลกชันที่ใช้เทคนิคนี้ โดยมีให้เลือกระหว่างเรือนไวท์โกลด์ 18 กะรัตและพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัต และเสริมด้วยหน้าปัดแบบหลายเลเยอร์ในโทนสีน้ำเงินไล่ระดับ ซึ่งดีไซน์นี้เองที่เป็นจุดตั้งต้นของนาฬิกาพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตรุ่น Royal Oak Concept Flying Tourbillon “Tamara Ralph” Limited Edition เรือนล่าสุดที่รังสรรค์ขึ้นโดยผสมผสานรูปลักษณ์ที่ทั้งโดดเด่นและทรงพลังของคอลเลกชัน เข้ากับความหรูหราที่ทั้งซับซ้อนและแฟนตาซีของผลงานโอต์กูตูร์จากทามารา ราล์ฟ
เกี่ยวกับ Tamara Ralph
แบรนด์แฟชั่นชั้นสูง Tamara Ralph ก่อตั้งขึ้นในปี 2022 โดยผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์และผู้ก่อตั้งชื่อเดียวกันกับแบรนด์ “ทามารา ราล์ฟ” ด้วยเอกลักษณ์สำคัญที่ผสมผสานไว้ด้วยความพิถีพิถัน คุณภาพ และความเชี่ยวชาญเชิงช่าง ทามาราเป็นสมาชิกเจเนอเรชันที่ 4 ของครอบครัวที่ทำงานสร้างสรรค์ในหลากหลายด้าน ทั้งการเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูง สไตลิสต์ และดีไซเนอร์ จึงไม่น่าแปลกใจที่เธอจะมีความสนใจและความหลงใหลในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นพิเศษที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใครมาตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งภายในระยะเวลาไม่นาน เธอก็สามารถสร้างชื่อให้กับตัวเองในแวดวงแฟชั่นระดับลักชัวรีได้อย่างรวดเร็ว งานดีไซน์ของเธอได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ส่วนทิศทางการทำงานสร้างสรรค์ของเธอก็พาให้เธอวางตำแหน่งแบรนด์แฟชั่นที่เธอก่อตั้งได้อย่างชัดเจนและโดดเด่นในตลาดแฟชั่นระดับลักชัวรี ในปี 2014 ทามารา ราล์ฟกลายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์คนแรกจากสหราชอาณาจักรในรอบเกือบ 1 ศตวรรษที่ได้รับอนุญาตจาก La Chambre Syndicale de la Haute Couture ของประเทศฝรั่งเศส ให้ร่วมแสดงคอลเลกชันเสื้อผ้าในปารีส กูตูร์ แฟชั่น วีค โดยเธอยังเป็นเพียง 1 ใน 3 ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สตรีจากทั่วโลกที่ได้รับเชิญให้ร่วมแสดงแฟชั่นโชว์กูตูร์ในปารีส วิสัยทัศน์ที่ทามารา ราล์ฟมีต่อแบรนด์ของเธอคือการหลอมรวมสัมผัสของความหรูหราที่เธอมีอยู่ในตัว เข้ากับงานฝีมือสุดพิถีพิถันและคุณภาพในทุกหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์หลักในอุตสาหกรรมแฟชั่นระดับลักชัวรี — tamararalph.com
เกี่ยวกับ Audemars Piguet
Audemars Piguet (โอเดอมาร์ ปิเกต์) แบรนด์นาฬิกาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องบอกเวลาชั้นสูงที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งยังคงดำเนินธุรกิจสืบทอดกันในครอบครัวผู้ก่อตั้งมาจวบจนปัจจุบัน (ตระกูล Audemars และตระกูล Piguet) นับตั้งแต่ปี 1875 Audemars Piguet ยังคงผลิตเครื่องบอกเวลาที่เมืองเลอ บราซูส์ (Le Brassus) โดยสืบสานฝีมือการทำงานของช่างผู้เชี่ยวชาญจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมทั้งพัฒนาทักษะและเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อขยายขอบเขตความชำนาญที่มีอยู่เดิม พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถอันนำไปสู่การก้าวข้ามขีดจำกัดที่เคยมีอย่างต่อเนื่อง Audemars Piguet ได้สร้างสรรค์เรือนเวลาหรูหราแห่งประวัติศาสตร์มากมาย ณ วัลเลย์ เดอ ฌูซ์ (Vallée de Joux) หนึ่งในต้นกำเนิดของศาสตร์การผลิตนาฬิกาข้อมือชั้นนำใจกลางสวิตเซอร์แลนด์ และสถานที่ซึ่งเผยให้เห็นเอกลักษณ์ความเชี่ยวชาญของคนรุ่นก่อนซึ่งสะท้อนจิตวิญญาณอันก้าวหน้าอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง Audemars Piguet พร้อมแบ่งปันความหลงใหลและความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ผลงานให้กับผู้ที่รักเครื่องบอกเวลาทั่วโลกภายใต้ภาษาแห่งอารมณ์ ผ่านการแลกเปลี่ยนคุณค่าที่หลากหลายในสายงานสร้างสรรค์ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจออกไปยังผู้คนทั่วทุกมุมโลก Seek Beyond — audemarspiguet.com
21 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567
22 พ.ย. 2567
22 พ.ย. 2567