AUDEMARS PIGUET Royal Oak Selfwinding Flying Tourbillon Openworked

Last updated: 10 มี.ค. 2567  |  687 จำนวนผู้เข้าชม  | 

AUDEMARS PIGUET Royal Oak Selfwinding Flying Tourbillon Openworked

Audemars Piguet (โอเดอมาร์ ปิเกต์) แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สานต่อความมุ่งมั่นในการคัดสรรและเลือกใช้วัสดุใหม่ ๆ ด้วยการแนะนำเรือนเวลาเรือนแรกที่รังสรรค์ขึ้นจากแซนด์โกลด์ (sand gold) โลหะผสมทองคำ 18 กะรัตใหม่ที่มอบรายละเอียดของการเล่นกับแสงได้อย่างรุ่มรวยและโดดเด่นระหว่างความเป็นไวท์โกลด์และพิ้งค์โกลด์ โดยสีจะเปลี่ยนไปขึ้นอยู่กับมุมที่มองและแสงที่ตกกระทบ จึงมอบความเป็นไปได้ในเชิงสุนทรียะแห่งความงามได้อย่างหลากหลาย โดย Audemars Piguet นำเสนอวัสดุอันล้ำค่านี้ผ่านการเปิดตัวนาฬิการุ่น Royal Oak Selfwinding Flying Tourbillon Openworked ใหม่ในขนาดหน้าปัด 41 มิลลิเมตร และเพื่อขับเน้นความโดดเด่นของตัวเรือนและสายนาฬิกาทองคำใหม่ Audemars Piguet ยังได้พัฒนาเฉดสีแซนด์โกลด์ที่แมตช์กันเพื่อนำมาใช้ตกแต่งบนบริดจ์แบบฉลุและเมนเพลทของคาลิเบอร์ 2972 ซึ่งมาพร้อมโครงสร้างที่ซ้อนทับกับหลายเลเยอร์ซึ่งถูกจัดวางไว้อย่างโดดเด่นและมองเห็นได้ชัดเจนจากทั้งสองด้านของนาฬิกา สีที่รังสรรค์ขึ้นผ่านเทคนิคกัลวานิกใหม่นี้ยังตัดกันได้อย่างน่าสนใจกับชิ้นส่วนในโทนสีโรเดียมอื่น ๆ ที่ถูกนำมาประกอบเป็นกลไกการทำงานภายใน จึงให้รายละเอียดของเอฟเฟกต์แบบ 3 มิติที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ เกิดเป็นผลลัพธ์ของการผสมกลมกลืนกันอย่างลงตัวที่สุดของความซับซ้อนทางเทคนิคและการออกแบบที่ร่วมสมัย

เฉดใหม่ของสีทอง
นาฬิการุ่น Royal Oak Selfwinding Flying Tourbillon Openworked ขนาดหน้าปัด 41 มิลลิเมตรใหม่เรือนนี้ นับเป็นการเปิดตัวการใช้แซนด์โกลด์เป็นครั้งแรกสำหรับ Audemars Piguet โลหะผสมทองคำ 18 กะรัตชนิดนี้ได้รับการตั้งชื่อตามเนินทรายท่ามกลางแสงแดด โดยเป็นการผสมกันระหว่างทองคำ ทองแดง และแพลเลเดียม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในโทนสีที่อบอุ่น ให้ความแวววาวตรงกึ่งกลางระหว่างความเป็นไวท์โกลด์และพิ้งค์โกลด์ด้วยสีสันที่หลากหลาย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแสงที่ตกกระทบ นอกจากนี้ ยังมีความทนทานต่อการเปลี่ยนสีเมื่อเวลาผ่านไป ทำให้วัสดุชนิดนี้เป็นวัสดุที่มีความทนทานและอยู่เหนือกาลเวลา

ตัวเรือนและสายนาฬิกาแซนด์โกลด์ผ่านการเก็บรายละเอียดสุดท้ายด้วยการขัดแบบซาตินสลับกับการขัดเงาลบมุมที่เป็นเอกลักษณ์ของ Audemars Piguet ขอบตัวเรือนแปดเหลี่ยมขัดเงาขนาดใหญ่และการขัดเงาลบมุมในทุกข้อต่อและหมุดของสายนาฬิกาทรงเรียว ล้วนมีส่วนช่วยขับเน้นรายละเอียดของการเล่นแสงบนวัสดุอันล้ำค่านี้

และเพื่อให้แมตช์กับตัวเรือนและสายนาฬิกา Audemars Piguet ยังได้พัฒนาเฉดสีแซนด์โกลด์ที่รังสรรค์ขึ้นด้วยเทคนิคกัลวานิก เพื่อนำมาใช้ตกแต่งขอบตัวเรือนด้านใน รวมถึงที่ส่วนของบริดจ์แบบฉลุและเมนเพลทของคาลิเบอร์ 2972 ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากทั้งสองด้านของนาฬิกา ชิ้นส่วนแบบฉลุยังได้รับการตกแต่งรายละเอียดสุดท้ายทั้งในแนวนอนและแนวตั้งเพื่อเพิ่มความลุ่มลึกน่าสนใจให้กับกลไก ในขณะที่มุมต่าง ๆ ที่ผ่านการขัดเงาก็ช่วยเพิ่มรายละเอียดของการเล่นแสงให้มากขึ้น

ส่วนสะพานจักรและแท่นเครื่องโทนสีแซนด์โกลด์ตัดกับสัมผัสของสีเทา ส่วนบาร์เรล เกียร์เทรน และกลไก flying tourbillon ที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาในโทนสีโรเดียม ดูโดดเด่นยิ่งขึ้นด้วยเครื่องหมายบอกหลักชั่วโมงและเข็มนาฬิกาไวท์โกลด์ ซึ่งทั้งหมดเคลือบด้วยวัสดุเรืองแสง และเพื่อประทับความภาคภูมิใจไว้ที่โครงสร้างแบบฉลุของกลไก และยังได้ติดสัญลักษณ์ “Audemars Piguet” ในสีดำไว้บนกระจกแซฟไฟร์ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกาด้วย นอกจากนี้ ที่ฝาหลัง oscillating weight พิ้งค์โกลด์ 22 กะรัตในโทนสีโรเดียม ยังช่วยเติมเต็มสุนทรียะแบบทูโทนของกลไกฉลุบนนาฬิกาเรือนนี้ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น

กลไกฉลุบนโครงสร้าง 3 มิติ
คาลิเบอร์ 2972 ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2022 เนื่องในวาระครบรอบ 50 ปีของนาฬิการุ่น Royal Oak เป็นการผสมผสานกันของกลไกอัตโนมัติกับกลไก flying tourbillon โครงสร้างแบบฉลุหลายเลเยอร์ที่มีสไตล์สุดโดดเด่นได้รับการออกแบบเพื่อให้มีความสมมาตรพร้อมกับมอบเอฟเฟกต์แบบ 3 มิติที่มีเอกลักษณ์ให้กับนาฬิกาเรือนนี้

กลไกนี้ต่อยอดมาจากเทคนิคงานฉลุที่สืบสานมาจากอดีตและถูกนำมาพลิกโฉมใหม่ให้รับกับดีไซน์ของนาฬิกาข้อมือตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ความงดงามและความประณีตของกลไกนี้ถูกเปิดเผยออกมาผ่านการหยิบเอาชิ้นส่วนต่าง ๆ ออกจากเมนเพลทและบริดจ์ให้มากที่สุดเพื่อให้แสงสามารถส่องผ่านได้ โดยไม่ทำให้ฟังก์ชันการทำงานของกลไกลดประสิทธิภาพลง การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงทำให้ได้รูปทรงเบื้องต้นของแผ่นเมนเพลทและบริดจ์ซึ่งถูกตัดด้วยเทคนิคการตัดเฉือนแบบซีเอ็นซี (computer numerical control: CNC) ก่อนที่จะเก็บรายละเอียดให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นด้วยเครื่องจักรปล่อยกระแสไฟฟ้า (EDM) กระบวนการนี้ช่วยให้สามารถกำจัดวัสดุจำนวนเล็กน้อยได้อย่างแม่นยำเพื่อให้ได้รูปทรงที่ต้องการ

สะพานจักรและแท่นเครื่องแบบฉลุทรงเรขาคณิตได้รับการตกแต่งด้วยมือทั้งแนวนอนและแนวตั้ง เพื่อขับเน้นความลุ่มลึกและรายละเอียดของการเล่นกับแสง นอกจากนี้ ชิ้นส่วนอื่น ๆ ของกลไกยังมาพร้อมการตกแต่งในสไตล์ของการสร้างสรรค์เรือนเวลาชั้นสูงอันประณีต ทั้งการใช้เทคนิคการขัดแบบซาติน การขัดแบบวงกลม และการขัดลายแสงแดด เรื่อยไปจนถึงเทคนิคการขัดลาย snailing และการขัดเงาลบมุม มุมตัว V ขัดเงายังมองเห็นได้ชัดเจนจากทั้งสองด้านของนาฬิกา อันสะท้อนถึงความเป็นงานฝีมือสุดพิถีพิถันที่สามารถรังสรรค์ออกมาได้ด้วยการใช้มือเท่านั้น

ย้อนประวัติศาสตร์นาฬิกาเรือนทอง
ทองคำได้รับการยอมรับในความเป็นเลิศและความเป็นโลหะอันสูงค่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เนื่องด้วยความหาได้ยาก คุณค่าในตัว และคุณภาพในเชิงสุนทรียภาพ ตลอดจนความทนทาน และคุณสมบัติทางเทคนิค นอกจากจะทนทานต่อการกัดกร่อน การเกิดออกซิเดชัน และการเปลี่ยนสีแล้ว ทองคำยังเป็นวัสดุที่เข้ากันได้ทางชีวภาพและอ่อนตัวได้ง่ายกว่าโลหะอื่น ๆ ความนุ่มนวลและความสามารถในการใช้งานของทองคำยังทำให้วัสดุชนิดนี้เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างสรรค์งานจิวเวลรี นาฬิกา และวัตถุเพื่อการตกแต่งสุดประณีตอื่น ๆ ผลงานสร้างสรรค์จากทองคำอันเปรียบได้ดังสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งและเกียรติภูมิของผู้ใช้ ถูกนำมาตกแต่งด้วยเทคนิคการสร้างสรรค์ของช่างผู้ชำนาญแบบต่าง ๆ ทั้งการแกะสลัก การลงยา การประดับด้วยอัญมณี และอื่น ๆ อีกมากมายหลายเทคนิค

ในการสร้างสรรค์ชิ้นงานจิวเวลรีและนาฬิกา ทองคำบริสุทธิ์ (24 กะรัต) มักจะถูกนำมาผสมกับโลหะต่าง ๆ อาทิ ทองแดง เงิน และแพลเลเดียม เพื่อสร้างโลหะผสมที่มีความแข็งแกร่งและทนทานมากขึ้น โดยแต่ละชิ้นจะให้สี ความแข็ง และคุณสมบัติทางเทคนิคในแบบที่แตกต่างกันไปโดยเฉพาะ และเช่นเดียวกับผู้ผลิตรายอื่นในอุตสาหกรรมนี้ โอเดอมาร์ ปิเกต์ใช้โลหะผสมทอง 18 กะรัตเป็นหลักเมื่อต้องผลิตชิ้นส่วนภายนอกของนาฬิกา ด้วยส่วนผสมของทองคำ 75% และโลหะอื่น ๆ อีก 25% ทำให้โลหะผสมทอง 18 กะรัต (18-carat gold alloy) มีความทนทานมากกว่าทองคำบริสุทธิ์ เนื่องจากการเติมโลหะเข้าไปจะทำให้โลหะผสมชนิดนี้มีความแข็งแรงและทนทานต่อการเสียรูปทรงมากขึ้น และด้วยเปอร์เซ็นต์ทองคำสูง ยังทำให้โลหะชนิดนี้ให้สีที่ลุ่มลึกและรุ่มรวยกว่าโลหะผสมที่มีกะรัตของทองคำในปริมาณที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ตาม ก่อนทศวรรษ 1950 โลหะผสมถูกให้นิยามไว้อย่างอิสระกว่าปัจจุบัน นำไปสู่การสร้างสรรค์โลหะผสมที่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของส่วนผสมและสีสัน กล่าวอีกนัยหนึ่ง หากเปรียบเทียบนาฬิกา “ทองคำเยลโลว์โกลด์” 18 กะรัต 2 เรือน ทั้งสองมักจะให้สีเหลืองทองในเฉดที่ไม่เหมือนกัน ทว่าหลังจากนั้น ความต้องการของอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์เรือนเวลาเพื่อให้สีเหลืองทองของนาฬิกาอยู่ในโทนสีเดียวกันนั้นมีมากขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่การสร้าง “มาตรฐานอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกาของสวิส” ซึ่งกำหนดมาตรฐานของส่วนผสมไว้ในปี 1966 สำหรับโลหะผสมทองคำ 18 กะรัต ทำให้เกิดการกำหนดสีที่มีความชัดเจนของโลหะผสมชนิดนี้

โลหะผสมทองคำในทุกรูปแบบการสร้างสรรค์ล้วนมีบทบาทสำคัญที่ Audemars Piguet นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท จากนาฬิกาข้อมือพร้อมกลไกอันซับซ้อนจำนวน 567 เรือนที่ Audemars Piguet ผลิตระหว่างปี 1882 ถึง 1969 มีนาฬิกาจำนวน 432 เรือนที่รังสรรค์ขึ้นด้วยทองคำ (248 เรือนเป็นทองคำเยลโลว์โกลด์, 68 เรือนเป็นไวท์โกลด์, 41 เรือนเป็นพิ้งค์โกลด์, 32 เรือนเป็นกรีนโกลด์ และ 43 เรือนเป็นเรือนทองในสีที่ไม่ระบุรหัส N)

ในช่วงทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เยลโลว์โกลด์ยังคงเป็นวัสดุหลักในโลกแห่งการสร้างสรรค์เรือนเวลาระดับหรู โอเดอมาร์ ปิเกต์ได้เริ่มต้นทดลองใช้สแตนเลส สตีล ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงไลฟ์สไตล์ที่แอคทีฟมากขึ้น นาฬิกา Royal Oak (โมเดล 5402) ซึ่งเปิดตัวในปี 1972 นับเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์เรือนเวลาชั้นสูง ด้วยตัวเรือนซึ่งรังสรรค์ขึ้นจากสแตนเลส สตีลขัดด้วยมือ และระดับราคาที่ค่อนข้างสูงเทียบได้กับนาฬิกาเรือนทองคำ หลังจากนั้นอีก 4 ปีโมเดลที่ผลิตด้วยทองคำจึงค่อยเข้ามาเสริมทัพนาฬิกาสตีลแบบดั้งเดิม และมีส่วนทำให้นาฬิกา Royal Oak กลายเป็นคอลเลกชันนาฬิกาคอลเลกชันสำคัญจวบจนปัจจุบัน

นาฬิกา Royal Oak รุ่นแรกที่มีการใช้วัสดุทองคำคือ Royal Oak II (โมเดล 8638) ซึ่งเป็นรุ่นสำหรับสุภาพสตรีขนาดหน้าปัด 29 มิลลิเมตร นาฬิกาเรือนนี้ออกแบบโดย Jacqueline Dimier (ฌาคลีน ดิมิเยร์) และเปิดตัวออกมาเป็นครั้งแรกบนวัสดุสแตนเลส สตีลในปี 1976 จากนั้น 1 ปีต่อมา นาฬิกาเรือนนี้ได้รับการตีความใหม่ด้วยดีไซน์แบบทูโทน ผสานการใช้เยลโลว์โกลด์เข้ากับสแตนเลส สตีล รวมถึงยังมีเวอร์ชันเยลโลว์โกลด์ทั้งเรือน ตามด้วยเวอร์ชันไวท์โกลด์ที่ผลิตในจำนวนจำกัดในปี 1978 โดยก่อนหน้านั้นในปี 1977 โอเดอมาร์ ปิเกต์ยังได้เปิดตัวนาฬิกา Royal Oak โมเดล 5402 เรือนแรกกับขนาดหน้าปัด 39 มิลลิเมตรและตัวเรือนเยลโลว์โกลด์ ไวท์โกลด์ และทูโทน รวมถึงนาฬิกาขนาดกลางใหม่กับหน้าปัดขนาด 35 มิลลิเมตรของโมเดล 4100 ซึ่งมีให้เลือกทั้งตัวเรือนสตีล เยลโลว์โกลด์ และทูโทน จากนั้น ตั้งแต่ปี 1979 เป็นต้นมา เกือบ 3 ใน 4 ของนาฬิกา Royal Oak ถูกผลิตขึ้นบางส่วนหรือทั้งเรือนด้วยทองคำ ซึ่งถือว่าเป็นวัสดุล้ำค่าที่ยังคงเป็นวัสดุหลักของคอลเลกชันมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าราคาทองคำจะพุ่งสูงขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 ก็ตาม

ส่วนนาฬิกาพิ้งค์โกลด์ซึ่งพบได้ไม่บ่อยนักในเวลานั้น เพิ่งมาปรากฏโฉมในคอลเลกชัน Royal Oak ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 และค่อย ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้นในคอลเลกชันต่าง ๆ ของโอเดอมาร์ ปิเกต์ ในช่วงทศวรรษ 2000 ความต้องการนาฬิกาเยลโลว์โกลด์ลดน้อยลง ทว่าความนิยมนาฬิการุ่นพิ้งค์โกลด์ กลับมีมากขึ้นเนื่องจากเฉดสีที่ละเอียดอ่อนทว่าอบอุ่นซึ่งครองใจผู้คนจำนวนมาก ปัจจุบัน ทั้งพิ้งค์โกลด์ ไวท์โกลด์ และทองคำเยลโลว์โกลด์ถูกใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์เรือนเวลา ควบคู่ไปกับโลหะผสม 18 กะรัตที่เป็นกรรมสิทธิ์ของแบรนด์อื่น ๆ อาทิ Everose Gold (ของ Rolex), Sedna Gold และ Moonshine™ Gold (ของ Omega), King Gold และ Magic Gold (ของ Hublot) รวมถึง Hard Gold (ของ IWC)

นาฬิกา Royal Oak Selfwinding Flying Tourbillon Openworked เรือนใหม่ในวัสดุแซนด์โกลด์นี้ นับเป็นการต่อยอดจากประวัติศาสตร์อันยาวนานของนาฬิกาเรือนทอง พร้อมทั้งสานต่อการสำรวจและการนำเสนอวัสดุที่มีความหลากหลายของ Audemars Piguet นาฬิกาเรือนนี้ซึ่งยิ่งดูโดดเด่นและให้สีสันที่หลากหลายเมื่อได้กระทบกับแสง เผยให้เห็นความเป็นไปได้ในเชิงสุนทรียะใหม่ ๆ ผสมผสานไปกับดีไซน์ที่มีความร่วมสมัยและความสง่างามอย่างที่ไม่มีที่สิ้นสุด

About Audemars Piguet
Audemars Piguet แบรนด์นาฬิกาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ถือเป็นแบรนด์ผู้ผลิตเครื่องบอกเวลาชั้นสูงที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งยังคงดำเนินธุรกิจสืบทอดกันในครอบครัวผู้ก่อตั้งมาจวบจนปัจจุบัน (ตระกูลโอเดอมาร์และตระกูลปิเกต์) นับตั้งแต่ปี 1875 Audemars Piguet ยังคงผลิตเครื่องบอกเวลาที่เมืองเลอ บราซูส์ (Le Brassus) โดยสืบสานฝีมือการทำงานของช่างผู้เชี่ยวชาญจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมทั้งพัฒนาทักษะและเทคนิคใหม่ ๆ เพื่อขยายขอบเขตความชำนาญที่มีอยู่เดิม พร้อมทั้งเพิ่มขีดความสามารถอันนำไปสู่การก้าวข้ามขีดจำกัดที่เคยมีอย่างต่อเนื่อง Audemars Piguet ได้สร้างสรรค์เรือนเวลาหรูหราแห่งประวัติศาสตร์มากมาย ณ วัลเลย์ เดอ ฌูซ์ (Vallée de Joux) หนึ่งในต้นกำเนิดของศาสตร์การผลิตนาฬิกาข้อมือชั้นนำใจกลางสวิตเซอร์แลนด์ และสถานที่ซึ่งเผยให้เห็นเอกลักษณ์ความเชี่ยวชาญของคนรุ่นก่อนซึ่งสะท้อนจิตวิญญาณอันก้าวหน้าอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง Audemars Piguet พร้อมแบ่งปันความหลงใหลและความเชี่ยวชาญในการสร้างสรรค์ผลงานให้กับผู้ที่รักเครื่องบอกเวลาทั่วโลกภายใต้ภาษาแห่งอารมณ์ ผ่านการแลกเปลี่ยนคุณค่าที่หลากหลายในสายงานสร้างสรรค์ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อส่งต่อแรงบันดาลใจออกไปยังผู้คนทั่วทุกมุมโลก Seek Beyond — audemarspiguet.com

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้