Houston, we've had a problem..

Last updated: 12 ก.ย. 2559  |  4835 จำนวนผู้เข้าชม  | 

Houston, we've had a problem..

Houston, we've had a problem..

ประโยควาทะเด็ดที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีไม่ว่าคนที่อยู่ในช่วงสมัยนั้น หรือคนที่รับชมภาพยนตร์ Hollywood คงจำได้แม่น ประโยคที่ว่านี้คือ ประโยคข้อความวิทยุจาก Apollo 13 ที่กำลังโคจรรอบดวงจันทร์ก่อนจะทำภารกิจลงจอด แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ไปถึงฝั่งฝัน จนเป็นที่มา ความสำเร็จแห่งความล้มเหลว โดยมี Omega Speedmaster เป็นเครื่องมือหลักที่เหล่านักบินอวกาศฝากชีวิตไว้ครับ เหตุนี้เอง ปี 2015 จึงเป็นปีครบรอบ 45 ปี ของ Apollo 13 ที่ผมได้ไปเกาะติดการเฉลิมฉลองแห่งความสำเร็จในภารกิจอันล้มเหลวสุดยิ่งใหญ่ครั้งนี้ถึงสหรัฐอเมริกาครับ 




 

เช่นเคยครับ ผมเหินฟ้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ไปลงที่ Houston, Texas อันเป็นสถานที่ตั้ง Johnson Space Center ครับ สถานที่สำคัญในการเยี่ยมเยือนครั้งนี้ สำหรับทริปฉลองความสำเร็จในการภารกิจอันล้มเหลวแต่เป็นภารกิจสำคัญหนึ่งของมนุษยชาติครับ Omega จัดงานฉลองครบรอบ 45 ปี โครงการ Apollo 13 ครับ คงงงนิดๆ ใช่ไหมครับ ทำไม Omega ถึงมีส่วนร่วมกับโครงการอวกาศและ NASA ขนาดนี้ ก็เพราะว่า Omega Speedmaster ถูกเลือกให้เป็นนาฬิกาประจำตัวนักบินอวกาศนั่นเอง ต้องเกริ่นถึง Speedmaster สักหน่อย ว่าจริงๆ แล้ว Omega ไม่ได้เสนอตัวเป็นผู้สนับสนุนหลักให้ NASA แต่อย่างใดครับ ในยุค 1960 ทาง NASA ได้กำหนดโครงการอวกาศไว้สองโครงการต่อเนื่องกันคือ Gemini และ Apollo




 

 

พอเริ่มต้นโครงการ NASA มีความต้องการนาฬิกาที่สามารถใช้จับเวลาในสภาพไร้น้ำหนักในอวกาศได้ ครั้นจะไปบอกผู้ผลิตให้ผลิตตามความต้องการก็ดูรอนานเกินไป แถมอาจจะต้องจ่ายเงินให้ก่อนอีก เลยนำงบประมาณทดสอบบางส่วนไปซื้อนาฬิกาหลายๆ แบรนด์มาทดสอบด้วยตัวเองเสียเลย ว่าแบรนด์ไหนพอจะจะนำไปใช้ได้บ้าง ด้วยการทดสอบมากมายอาทิ ทดสอบในอุณหภูมิ -18 องศา นำไปเขย่าด้วยแรง 40G ในหลายทิศทาง ทดสอบกับแรงสั่นสะเทือน 5-2000 Hertz ด้วยอัตราแรงเขย่า 8.8 G ยังมีการทดสอบอีกมากมายครับ ที่เรียกว่าไม่ได้เหมาะสมกับนาฬิกาใดๆ ในโลกตอนนั้นเลย แต่ Omega Speedmaster ก็ผ่านมาได้ ทำให้ NASA เลือกเป็นนาฬิกาประจำตัวนักบินอวกาศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา



 

 

หลังสร้างประวัติศาสตร์เหยียบดวงจันทร์กับ Apollo 11 แล้ว ก็มีโครงการตามมาอีกหลายโครงการครับ จนมาถึงโครงการ Apollo 13 ความพิเศษตรงที่นักบินอวกาศจะไม่ได้เหยียบดวงจันทร์เพราะเกิดเหตุระเบิดภายนอกที่ตัวยานเสียก่อน เนื่องจากถังออกซิเจนเหลวทำงานผิดพลาด ยานมีพลังงานเหลือน้อยมาก ระบบทำความร้อนไม่ทำงาน ระบบกรองอากาศไม่เพียงพอ นักบินอวกาศอยู่ในสภาพอันตราย ขณะเกิดเหตุยานอยู่ห่างจากโลกถึงสามแสนกว่ากิโลเมตรครับ พวกเขามีเวลาไม่มากนักในการหาทางกลับโลกอย่างปลอดภัย และใช้ประโยชน์จากนาฬิกา Omega Speedmaster จับเวลาการทำงานต่างๆ บนยาน เพราะมีทรัพยากรอย่างจำกัดเช่น จับเวลาการจุดระเบิดของจรวดในการปรับทิศทางวงโคจร หรือจับเวลาในการปรับแก้ของคอมพิวเตอร์ที่คำนวณไว้ให้ใช้ระยะเวลาสั้นที่สุดในการทำงาน เพื่อประหยัดแบตเตอรี่



 

มาถึง Houston ก็เริ่มเดินทางเข้าสู่ ศูนย์อวกาศ Johnson ครับ เพื่อชมความเป็นมาของโครงการพัฒนาอวกาศด้านต่างๆ ของ NASA และไปชมจรวดขนส่งขนาดใหญ่อย่าง Saturn V ที่มีน้ำหนักเกือบ 3 ล้านกิโลกรัม รวมถึงได้เข้าชมศูนย์อำนวยการและสั่งการหรือ Mission Control ในภารกิจด้านอวกาศของ NASA ในยุคโครงการ Apollo หลังจากทานอาหารกลางวันแบบง่ายๆ ก็ถึงช่วงเวลาสำคัญของวันนี้ครับคือการพูดคุยกับนักบินอวกาศ Apollo 13 นำโดย Jim Lovell และนักบินอวกาศ Apollo 10 โดย Tom Stafford เพื่อพูดคุยถึงประสบการณ์การทำงานและการแก้ปัญหาในอวกาศ โดยมีนาฬิกา Omega Speedmaster อยู่บนข้อมือ


 


หลังจากพูดคุยพอหอมปากหอมคอก็ได้เวลางานดินเนอร์สุดหรูครับ ที่เนรมิตโรงจอดเครื่องบินให้เป็นพื้นผิวของดวงจันทร์ งานเริ่มโดย Stephen Urquhart ผู้บริหาร Omega และ George Clooney กล่าวต้อนรับ ที่แนะนำแขกนักบินอวกาศคนสำคัญในงานได้แก่ Jim Lovell, Tom Stafford และ Eugene Cernan ภายในงานได้กล่าวถึงนาฬิกา Omega Speedmaster มีส่วนสำคัญในภารกิจของ NASA อย่างไร จนได้รับรางวัล Silver Snoopy Award ในการเป็นผู้ช่วยคนสำคัญให้นักบินอวกาศกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย ในงาน Omega ได้เปิดตัว Omega Speedmaster Silver Snoopy Award ในรูปแบบหน้าปัดสีขาวนวล ขอบตัวเรือนเซรามิก เด่นด้วยฝาหลังผลิตจากเงินแท้ที่ลงยาเป็นรูปประกายดาวระยิบระยับ พร้อมกับแผ่นเงินแกะสลักตัว Snoopy ใส่ชุดอวกาศสุดร่าเริงด้านหลังครับ




 

Omega ไม่ได้เป็นผู้สนับสนุนในประวัติศาสตร์ครับ แต่เป็นส่วนร่วมและส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ที่ผ่านการใช้งานจริงมาจากภารกิจสำคัญของโลก จนแน่ใจว่า สามารถทำงานได้จริง แม้สภาวะตอนนั้นจะเป็นเช่นใด ซึ่ง Omega Speedmaster ก็พิสูจน์แล้วครับว่า ทำได้


Chettha Songthaveepol

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้