Last updated: 14 มิ.ย. 2561 | 1165 จำนวนผู้เข้าชม |
ปี 1990 Walter Lange ในวัย 66 ปี พลิกฟื้นคืนชีพแบรนด์ A. Lange & Söhne ในฐานะทายาทสายตรงของผู้ก่อตั้งแบรนด์ Ferdinand Adolph Lange และมุ่งหวังที่จะสร้างสรรค์นาฬิกาที่ดีที่สุดในโลกอีกครั้ง ปี 2017 เขาจากไปด้วยวัย 92 ปี ท่ามกลางการเติบโตของแบรนด์ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงอยู่ในใจเสมอ คือการนำผลงานพัฒนากลไกชุดแรกที่มีระบบ Jumping Hour ของปู่ทวดให้หวนกลับมาอีกครั้ง เพราะนี่คือการเชื่อมอดีตถึงปัจจุบันและสู่อนาคตของตระกูล “Lange” ซึ่งทีม A. Lange & Söhne ได้สนองตอบความต้องการเพื่อเป็นเกียรติแด่ตำนานอันยิ่งใหญ่ในผลงาน 1815 “Homage to Walter Lange”
เมื่อ Ferdinand Adolph Lange ก่อตั้งโรงงานผลิตนาฬิกาภายใต้ชื่อ A. Lange & Söhne ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1845 ในเมือง Glashütte เขาและทีมงานที่มีเพียงไม่กี่คนสร้างสรรค์นาฬิกาด้วยความตั้งใจ เพื่อลูกค้าที่ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกราชวงศ์ในยุโรปและผู้มีชื่อเสียงในสังคมชั้นสูง คุณภาพและความงามประณีตของนาฬิกา A. Lange & Söhne ในเวลานั้น ทำให้ชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ไม่เฉพาะชื่อของแบรนด์นาฬิกา แต่รวมไปถึงเมือง Glashütte ก็กลายเป็นเมืองแห่งศูนย์กลางการผลิตนาฬิกาของเยอรมันในยุคนั้นด้วย
แต่สงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ทำลายแทบทุกสิ่งในเมืองเล็กๆ ที่แสนสงบแห่งนี้ รวมไปถึงโรงงานของ A. Lange & Söhne ที่ส่งผลให้กิจการทั้งหลายต้องหยุดลงตั้งแต่ปี 1948 เป็นต้นมา เวลาผ่านไปนานกว่า 42 ปี จนกระทั่ง Walter Lange เหลนของผู้ก่อตั้งแบรนด์ที่เคยลี้ภัยออกจากเยอรมนีตะวันออก หวนกลับมาบ้านเกิดอีกครั้งหลังกำแพงเบอร์ลินล่มสลาย และก่อตั้งบริษัท Lange Uhren GmbH ในวันที่ 7 ธันวาคม 1990 พร้อมพลิกฟื้นแบรนด์ A. Lange & Söhne ให้กลับมาเป็นผู้ผลิตนาฬิกาที่ดีที่สุดอีกครั้ง ด้วยความหวังที่จะรักษาการประดิษฐ์นาฬิกาที่มีความโดดเด่น และให้เมือง Glashütte รักษาความเป็นศูนย์กลางการผลิตนาฬิกาชั้นสูงอย่างที่เคยเป็นมา
Walter Lange และหุ้นส่วน Gunter Blumlein เริ่มต้นกิจการจากวิศวกรและช่างนาฬิกาทีมเล็กๆ ช่วยกันค้นหาเอกลักษณ์ให้กับนาฬิกา A. Lange & Söhne และด้วยความร่วมมือกัน ในที่สุดพวกเขาก็เปิดตัวนาฬิกา 4 รุ่นแรกที่เปิดตัวในปี 1994 เป็นการหวนคืนสู่วงการนาฬิกาที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง และเติบโตสู่อาณาจักรอันทรงคุณค่ากับนาฬิกาหลากรุ่นของ 5 คอลเลคชั่นหลักในวันนี้ เช่นเดียวกับการเติบโตของทีมงานและขนาดของโรงงาน ผลงานอันแสนพิเศษบวกกับคุณภาพของงานออกแบบนาฬิกา A. Lange & Söhne กลายเป็นที่จดจำและครอบครองรางวัลอันทรงเกียรติระดับสากลมากกว่า 250 รางวัล พัฒนาการอันน่าประทับใจนี้จะเกิดขึ้นเป็นจริงไม่ได้ หากไร้ซึ่งรากฐานอันมั่นคงของความสำเร็จด้านวิศวกรรมและการบริหารองค์กรด้วยความทุ่มเท และทำให้ Walter Lange ได้รับรางวัลเกียรติคุณ Order of Merit of the Free State of Saxony ในปี 1998 และ Order of Merit of the Federal Republic of Germany ในปี 2015 ด้วย
1 1815 “Homage to Walter Lange” Stainless Steel
Case: Stainless steel, 40.5 mm
Dial: Solid silver
Functions: Hours, minutes, small second, stop second and jumping seconds
Movement: Lange manufacture calibre L1924, manually wound, power-reserve 60 hours
Strap: Black alligator leather
Limited Edition: Unique Piece
1815 “HOMAGE TO WALTER LANGE”
Tribute to Legend
“There's something one should expect, not only of a watch but also of oneself: to never stand still.“ - Walter Lange
แม้หลังจากถอนตัวออกจากคณะกรรมการบริหารของบริษัท โดยรับตำแหน่งทูตพิเศษของแบรนด์และที่ปรึกษา Walter Lange ก็มักเข้ามาโรงงานเสมอ เขามีวลีประจำตัวที่เคยกล่าวไว้ว่า “I am the bridge to our past – ผมเป็นดั่งสะพานสู่อดีตของเรา” ความคิดที่จะนำ Jumping second กลไกที่เขาชื่นชอบให้หวนกลับมาอีกครั้งจึงสอดคล้องกับคำกล่าวนี้อย่างยิ่ง เนื่องจาก Jumping second เป็นแบบแผนกลไกชุดแรกที่ Ferdinand Adolph Lange ปู่ทวดคิดค้นขึ้นในปี 1867 จากนั้นลูกชายคือ Richard Lange นำไปพัฒนาต่อจนได้ชุดกลไกสำเร็จ และนำไปใช้กับนาฬิกาพกมากกว่า 300 เรือนที่รังสรรค์โดย Emil Lange ลูกชายคนที่ 2 ของผู้ก่อตั้ง และเป็นปู่ของ Walter Lange กลไก Jumping second ยังเป็นหนึ่งในสิทธิบัตรแรกของเยอรมันที่ A. Lange & Söhne ได้รับมาในปี 1877 จากการออกแบบกลไกที่ติดตั้งบนแท่นเครื่องสามส่วนสี่ และถูกเรียกว่า “one-second movement with a jumping hand” ซึ่งถือเป็นขนบธรรมเนียมดั้งเดิมของตระกูล Lange ที่ไม่ควรถูกลืมและควรได้รับการสืบทอดต่อไป เพื่อเชื่อมอดีต ปัจจุบันและสู่อนาคต
แต่เพราะ Jumping second ไม่ใช่กลไกจับเวลาโครโนกราฟ หากเป็นเสมือนต้นทางก่อนการพัฒนาระบบจับเวลา ซึ่งเมื่อการพัฒนาชุดกลไกในปัจจุบันก้าวสู่ความซับซ้อนขั้นสูงที่ไม่ใช่เพียงแค่จับเวลาโครโนกราฟเท่านั้น แต่ยังพัฒนาไปถึงระบบจับเวลาแยกรายการแบบ Second Split และ Triple Split ที่จับเวลาแยกรายการได้ทั้งชั่วโมง นาทีและวินาที ฉะนั้น การจะนำเอาฟังก์ชันหยุดวินาทีมาพัฒนาอีกครั้งในช่วงก่อนหน้านี้ จึงไม่ลงตัวในเชิงแนวคิดทางธุรกิจและนวัตกรรมกลไก แต่เมื่อ Walter Lange จากไป คงไม่มีอะไรที่รำลึกถึงผู้ก่อตั้ง Lange Uhren GmbH นี้ได้เท่ากับสิ่งที่เขาต้องการอย่างแน่นอน
1815 “Homage to Walter Lange” ความพิเศษที่รังสรรค์เพื่อเป็นเกียรติแก่ Walter Lange เผยโฉมใน 4 รุ่นที่แตกต่างกันในวัสดุตัวเรือน แต่รุ่นพิเศษสุดๆ ก็คือรุ่นตัวเรือนสเตนเลสสตีล จับคู่กับพื้นหน้าปัดลงยาสีดำสนิท ที่แม้กาลเวลาจะผ่านไปหลายสิบปี สีดำก็จะยังคงเฉดเดิมไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยเทคนิคการลงยาชั้นสูง ในรุ่นนี้ผลิตเพียง 1 เรือนเท่านั้น โดยจะนำเข้าสู่การประมูลในวันที่ 12-13 พฤษภาคมนี้ โดยสถาบันการประมูล Phillips และรายได้จากการประมูลจะมอบให้กับ Children Action Foundation องค์กรเพื่อเด็กด้อยโอกาสทั่วโลก
ในขณะที่ในอีก 3 รุ่นตัวเรือนผลิตจำนวนจำกัดที่ล้วนมีความหมายแฝงอยู่ในจำนวนผลิตด้วยกันทั้งสิ้น โดยในรุ่นตัวเรือนทองขาว 18k ผลิตจำกัดเพียง 145 เรือน ซึ่งมาจากจำนวน 145 ปี นับจากวันที่ 7 ธันวาคม 1845 วันที่ Ferdinand Adolph Lange เปิดตัวบริษัท จนถึงวันที่ 7 ธันวาคม ปี 1990 ซึ่งเป็นวันที่ Walter Lange จดทะเบียนบริษัท Lange Uhren GmbH วันที่ A. Lange & Söhne ผงาดกลับคืนวงการอีกครั้ง ขณะที่รุ่นตัวเรือนทองคำสีชมพู 18k ผลิตจำกัดเพียง 90 เรือน ซึ่งมาจากเลขสองตัวหลังของปีที่จดทะเบียนบริษัท Lange Uhren GmbH คือ 1990 และสุดท้ายกับตัวเรือนทองคำ 18k ผลิตจำกัดเพียง 27 เรือนทั่วโลก เป็นตัวเลขเท่ากับ 27 ปี
นับจากวันแรกที่ Walter Lange เปิดบริษัทจนถึงวันที่ 7 ธันวาคม ปี 2017 วันที่ผลงานรุ่นพิเศษ 1815 “Homage to Walter Lange” เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยทั้ง 3 รุ่นตัวเรือนนี้ จับคู่กับพื้นหน้าปัดเงิน กับตัวเรือนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40.5 มิลลิเมตร หนา 10.7 มิลลิเมตร
นอกจากนี้ ตัวเลขรหัสอ้างอิง 3 ตัวเลขแรกของ 1815 “Homage to Walter Lange” ก็ยังมีความเกี่ยวเนื่องอีกเช่นกัน โดยในรุ่นตัวเรือนทองคำ 18k รหัสรุ่นคือ 297.021, รุ่นตัวเรือนทองขาว 18k รหัสรุ่นคือ 297.026, รุ่นตัวเรือนทองคำสีชมพู 18k รหัสรุ่นคือ 297.032 และรุ่นตัวเรือนสเตนเลสสตีล รหัสรุ่นคือ 297.078 ซึ่งตัวเลข ‘297’ ของรหัสอ้างอิงนี้มาจากวันที่และเดือนเกิดของ Walter Lange คือวันที่ 29 เดือนกรกฎาคม ปี 1924
2 1815 “Homage to Walter Lange”
Ref. 297.021
18k yellow gold case, limited edition: 27 pieces
Ref. 297.026
18k white gold case, limited edition: 145 pieces
Ref. 297.032
18k pink gold case, limited edition: 90 pieces
CALIBRE DESIGNATION: L1924
Refers to Walter Lange’s Birth Year
แต่ความหมายที่ผูกพันระหว่าง Walter Lange กับผลงานพิเศษที่รังสรรค์เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ก่อตั้งยุค 2 ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังรวมไปถึงชุดกลไกไขลานที่ได้รับการพัฒนาขึ้นใหม่ คาลิเบอร์ L1924 ซึ่งเป็นตัวเลขที่อ้างอิงถึงปีเกิดของ Walter Lange ปี ค.ศ. 1924 กลไกชุดนี้ทำงานด้วยระบบไขลาน พร้อมฟังก์ชันหยุดวินาที ทั้งยังเป็นนาฬิกาที่มีเข็มวินาที 2 เข็ม โดยเข็มวินาทีบนหน้าปัดย่อยแสดงค่าแบบต่อเนื่อง ในขณะที่เข็มวินาทีในชุดเข็มกลางก็ทำหน้าที่แสดงวินาทีเช่นกัน แต่ทำงานต่างกันด้วยการเดินแบบ deadbeat หรือเดินแบบกระตุก คล้ายกับการเดินของเข็มวินาทีแบบควอตซ์ เพื่อให้การแสดงค่าในแต่ละวินาทีเที่ยงตรงและชัดเจน และยังมาหยุดหรือเริ่มการทำงานด้วยการกดปุ่มที่ 2 นาฬิกา อาจจะใช้สำหรับการจดบันทึกค่าในระดับวินาที และเมื่อกดปุ่มในตำแหน่งเดิม เข็มวินาทีก็จะกระโดดสู่เวลาปกติ ซึ่งเป็นที่มาของระบบ Jumping second นั่นเอง
จากความงามประณีตของชุดกลไกไขชาน คาลิเบอร์ L1924 ที่มองผ่านฝาหลังคริสตัลแซฟไฟร์ ในมุมด้านเม็ดมะยมทางฝั่งซ้าย จะเห็นกลไกของฟังก์ชันหยุดเข็มวินาทีและเข็มวินาทีแบบ daadbeat หรือการเดินแบบกระตุก และถัดมาตรงกลางจะเห็นจักรและสปริง เหนือ balance cock ที่ยึดชุดจักรและสปริงสายใยไว้ ที่ได้รับการแกะสลักด้วยมือโดยช่างผู้ชำนาญ ด้วยลายดอกไม้ที่ปรากฏบนนาฬิกาพกของ A. Lange & Söhne ในอดีต จากด้านซ้ายจะเห็นลิ้นสปริงขนาดใหญ่เชื่อมต่อปุ่มกดที่ 2 นาฬิกากับจักรคอลัมน์วีลสีดำด้านล่าง เมื่อปุ่มถูกกด ลิ้นสปริงจะดันจักรคอลัมน์วีล ที่จะหมุนไม่ว่าเข็มวินาทีจะเริ่มเดินหรือหยุดเดิน ซึ่งคล้ายกับการทำงานของการเริ่มและหยุดในระบบจับเวลาโครโนกราฟ
กลไกชุดนี้ยังเพิ่มระบบเกียร์ถ่ายทอดกำลังและคู่จักรกับสปริงพิเศษ ซึ่งควบคุมการทำงานของระบบ jumping second ที่ทำให้สามารถหยุดเข็มวินาทีได้ กลไกส่วนนี้เรียกว่าหลักการแบบ ‘Flirt and star’ เช่นเดียวกับกลไกในประวัติศาสตร์ ในขณะที่จักรวินาทีหมุน สปริงจะค่อยๆ ตึงขึ้น จนกระทั่งเมื่อเต็ม 1 วินาที ส่วนปลายของเฟืองรูปดาวที่ดูคล้ายส้อมจะถูกปลด จากนั้นจะหมุนรอบ 360 อย่างรวดเร็ว ทำให้เข็มวินาทีกระโดดสู่วินาทีต่อไป ก่อนหยุดที่ปลายอีกด้าน ซึ่งช่างนาฬิกาเรียกหลักการนี้ว่า ‘flirt’ นอกจากนี้ เฟืองล้อบนแท่นเครื่องสามส่วนสี่ทำหน้าที่ 2 อย่าง ทั้งเก็บพลังงานสำหรับการกระโดดของเข็มวินาทีแล้ว ยังทำหน้าที่หยุดเข็มวินาทีบนหน้าปัดย่อยที่ 6 นาฬิกา ที่จะเดินต่อเนื่องในแบบ sweep second เมื่อเม็ดมะยมถูกดึง เพื่อให้สามารถตั้งเวลาวินาทีได้ทั้ง 2 เข็มพร้อมกัน
กลไกไขลาน คาลิเบอร์ L1924 ประกอบด้วยชิ้นส่วน 253 ชิ้น ประดับทับทิม 36 เม็ด ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมง สปริงสายใยจักรสมดุลผลิตขึ้นในโรงงานแบบอิน-เฮาส์ ทุกชิ้นส่วนกลไกได้รับการขัดแต่งด้วยมืออย่างประณีตตามมาตรฐานของโรงงานแห่ง Saxon ในเชิงศิลป์แห่งการประดิษฐ์นาฬิกา ทั้งบนแท่นเครื่องสามส่วนสี่ และสะพานจักรที่ทำด้วย German Silver ที่ไม่ผ่านกระบวนการชุบพื้นผิว รวมถึงงานแกะสลักลายบนคอหงส์บาลานซ์ เป็นอีกหนึ่งความงามดั้งเดิมที่พบได้เพียงในแบรนด์ A. Lange & Söhne ปรับตั้งความเที่ยงตรง 5 ตำแหน่ง เป็นผลงานที่ทรงคุณค่าและน่าเก็บสะสมอย่างแท้จริง
Movement: manually wound, diameter 31.6 mm
Movement parts: 253
Jewels: 36
Frequency: 21,600 semi-oscillation per hour
Power reserve: 60 hours
1815 Chronograph
Perfect Choice of Purist Stopwatch
สำหรับตระกูล 1815 ปีนี้ ไม่ได้มีเพียงรุ่นพิเศษเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ก่อตั้งยุค 2 เท่านั้น แต่ยังมีผลงานคลาสสิกที่น่าสะสมอย่าง 1815 Chronograph รุ่นใหม่ในตัวเรือนทองคำสีชมพู 18k กับทางเลือกของพื้นหน้าปัดดำหรือเงิน และยังคงเอกลักษณ์ด้วยสเกลวัดค่าชีพจร หรือ pulsometer
18151 Chronograph ได้รับการรังสรรค์ครั้งแรกในปี 2004 ขยายไลน์การผลิตในตระกูล 1815 โดยมาพร้อมฟังก์ชั่นจับเวลาในระบบโครโนกราฟ ขณะเดียวกันก็โดดเด่นด้วยสเกลจับชีพจร มาถึงปี 2010 ได้รับการสานต่ออีกครั้ง แต่เผยโฉมด้วยพื้นหน้าปัดสะอาดตา แทนที่สเกลวัดชีพจรด้วยแทร็กนาที ตามมาด้วยรุ่นหน้าปัดขาวและน้ำเงินในปี 2013 และปีก่อนในตัวเรือนทองขาว 18k กับพื้นหน้าปัดดำ ล่าสุด A. Lange & Söhne เติมเต็มความคลาสสิกด้วยผลงานใหม่ของ 1815 Chronograph กับตัวเรือนทองคำสีชมพู 18k ในขนาดที่ลงตัวด้วยเส้นผ่าศูนย์กลาง 39.5 มิลลิเมตร ที่นำเอาสเกล pulsometer กลับมาอีกครั้ง และไม่เพียงแค่ฟังก์ชันจับเวลาโครโนกราฟเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมระบบฟลายแบ็ค เข็มกวาดตีกลับเซ็ตศูนย์อย่างรวดเร็ว ให้การจับเวลาทำได้เร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น โดยรุ่นใหม่เปิดตัวพร้อมกัน 2 เวอร์ชั่น เข้มกับหน้าปัดดำสนิท และงามพิสุทธิ์กับหน้าปัดเงินกระจ่างตา
พื้นหน้าปัดดำลงตัวกับความอบอุ่นของทองคำสีชมพูทั้งจากตัวเรือนและชุดเข็ม ขณะที่ตัวเลขอารบิกและสเกลมาตรวัดชีพจรเด่นชัดตาด้วยสีขาว ในขณะที่เวอร์ชั่นพื้นหน้าปัดเงิน ตัดด้วยสเกลและตัวเลขสีดำ แต่จับคู่กับชุดเข็มฟ้า โดยเข็มวินาทีกลางทำหน้าที่จับเวลา ซึ่งจับเวลาได้ละเอียดถึง 1/5 วินาที ร่วมกับการจับเวลาบนหน้าปัดย่อยที่ 4 นาฬิกา และแยกการแสดงวินาทีมาไว้บนหน้าปัดย่อยที่ 8 นาฬิกา ระบบฟลายแบ็คจะทำงานเมื่อกดปุ่มด้านข้างตัวเรือนที่ 4 นาฬิกา เข็มวินาทีจับเวลาและเข็มจับเวลาบนหน้าปัดย่อยจะตีกลับพร้อมกัน เพื่อเริ่มต้นการจับเวลาใหม่ อีกทั้งสเกลมาตรวัดชีพจรยังทำให้นึกถึงของนาฬิกาพกในอดีตที่นิยมใช้ในหมู่แพทย์และพยาบาล ซึ่งสามารถวัดการเต้นของหัวใจตั้งแต่ 30 ครั้งต่อนาที แต่สเกลจะเริ่มต้นจาก 40-200 ครั้งต่อนาที
ภายในยังคงมาพร้อมขุมพลังของชุดกลไกไขลาน คาลิเบอร์ L951.5 พร้อมโมดูลกลไกโครโนกราฟและควบคุมการทำงานด้วยจักรคอลัมน์วีลและครัตช์แนวดิ่ง ที่เผยให้เห็นผ่านฝาหลังคริสตัลแซพไฟร์ กลไกเดินด้วยความถี่ 18,000 ครั้งต่อชั่วโมง สำรองพลังงานได้นาน 60 ชั่วโมง ทุกชิ้นส่วนประกอบด้วยมือ และขัดแต่งอย่างประณีตตามมาตรฐานของแบรนด์ งบนแท่นเครื่องสามส่วนสี่ และสะพานจักรที่ทำด้วย German Silver ที่ไม่ผ่านกระบวนการชุบพื้นผิว รวมถึงงานแกะสลักลายบนคอหงส์บาลานซ์ด้วยมือ
1815 Chronograph รุ่นใหม่ประกอบสายหนังจระเข้สีดำหรือสีน้ำตาลแดง เย็บริมอย่างประณีต พร้อมเข็มขัดล็อกสายทำด้วยทองคำสีชมพู 18k วัสดุเดียวกับตัวเรือน
4. 1815 Chronograph
Case: 18k pink gold, 39.5 mm
Dial: Black or silver
Movement: Manually wound calibre L951.5, in-house, 3Hz frequency, 60 hours power reserve
Functions: Hours, minutes, small seconds, chronograph with column-wheel
Strap: Hand-stitched alligator leather, black or reddish-brown
20 ธ.ค. 2567
19 ธ.ค. 2567