Last updated: 7 มิ.ย. 2564 | 913 จำนวนผู้เข้าชม |
Cartier แบรนด์ที่รู้จักกันดีในฐานะ “นักออกแบบรูปทรง” โดยได้รวบรวมมรดกที่ไม่มีใครเทียบได้ในการสร้างสรรค์นาฬิกาที่มีรูปทรงตัวเรือนน่าสนใจมากมาย และล้วนเป็นรูปทรงที่งามสง่าและเปี่ยมเอกลักษณ์ ไม่ว่าจะเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสของ Santos de Cartier, ทรงกลมในวงกลมของ Ballon Bleu de Cartier ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ได้แรงบันดาลใจจากรถถังอย่าง Tank หรือรูปทรงบิดเบี้ยวของ Crash ฯลฯ ซึ่งทำให้ Cartier แตกต่างจากงานออกแบบนาฬิกาทั่วไป แม้แต่นาฬิการูปทรงกลมธรรมดา ก็ไม่เคยเรียบง่าย โดยเฉพาะผลงานในคอลเลกชั่น Pasha de Cartier สัญลักษณ์แห่งความสำเร็จที่หวนกลับมารังสรรค์ใหม่อีกครั้งในปี 2020
หากย้อนรอยกลับไปในประวัติศาสตร์ของ Cartier ผลงานที่ได้รับการสร้างสรรค์ในอดีตล้วนเป็นที่ชื่นชอบในหมู่ราชวงศ์ของโลกมาโดยตลอด และความชื่นชอบนี้ก็นำมาซึ่งเรื่องราวของการกำเนิดคอลเลคชั่น Pasha de Cartier ที่กลายมาเป็นผลงานระดับไอคอนของแบรนด์ในปัจจุบัน โดยย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1930 เมื่อ Louis Cartier ได้รับมอบหมายจาก Thami El Glaoui สุลต่านแห่งมาราเคช หรือ Pasha of Marrakesh ให้สร้างสรรค์นาฬิกาที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่กระตือรือร้นและโปรดการเล่นกีฬาขององค์สุลต่าน และ Louis Cartier ก็ได้นำเสนอนาฬิกาที่มาพร้อมความสามารถกันน้ำได้เพียงพอต่อการว่ายน้ำทุกวันเท่านั้น แต่ยังงามสง่าเพียงพอสำหรับพระราชกรณียกิจด้วย นาฬิกาที่ผสานความเป็นสปอร์ตและความหรูหราเข้าด้วยกันอย่างลงตัว นาฬิกาเรือนพิเศษนี้ยังเป็นผลงานรุ่นแรกของ Cartier และรุ่นแรกๆ ของโลกที่สามารถกันน้ำได้
จากผลงานที่รังสรรค์เพื่อสุลต่านสู่การออกแบบที่เด่นชัดในผลงานที่ผลิตขึ้นเป็นพิเศษตามสั่งในปี 1943 ซึ่ง Cartier ออกแบบตัวเรือนทรงกลมที่ทรงพลัง ตัดด้วยกรอบช่องสี่เหลี่ยมที่เสมือนกรงป้องกันหน้าปัดจากการกระแทก รับกับกรอบสี่เหลี่ยมขอแทรร็กนาทีบนพื้นหน้าปัด เม็ดมะยมขนาดใหญ่พิเศษที่มาพร้อมฝาครอบที่ล่ามด้วยโซ่ เพื่อความสามารถในการกันน้ำ การเลือกใช้ตัวเลขอารบิกในการแสดงหลักชั่วโมง 4 ตำแหน่งแทนตัวเลขโรมันที่คุ้นเคย ชุดเข็มทรงข้าวหลามตัด และหมุดด้านข้างข้อต่อตัวเรือน องค์ประกอบเหล่านี้สร้างบุคลิกที่เด่นชัดให้กับผลงานซึ่งได้รับการพัฒนาและสานต่อเป็นคอลเลคชั่นระดับไอคอนของแบรนด์ในอีก 40 ปีต่อมา ในคอลเลคชั่น Pasha de Cartier ชื่อที่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้กับ Pasha of Marrakesh ลูกค้าคนสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของงานดีไซน์
Pasha de Cartier นาฬิกาที่ขึ้นสถานะ Cult มาตั้งแต่ปี 1985 ด้วยดีไซน์ที่พัฒนาโดยสุดยอดดีไซเนอร์ของโลกนาฬิกาอย่าง Gerald Genta ที่นำเสนอนาฬิกาสปอร์ตที่คงความงามสง่าของ Cartier ไว้ แต่ตอบโจทย์ความต้องการงานดีไซน์ที่ความโดดเด่นมากขึ้นในยุคนั้น โดยมีนาฬิกาเรือนแรกที่ผลิตให้กับสุลต่านคือแรงบันดาลใจสำคัญ เผยโฉมในตัวเรือนทองขนาด 38.0 มิลลิเมตร ที่มาของชื่อรุ่น Pasha 38 เด่นด้วยองค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของ “สี่เหลี่ยมจัตุรัสในวงกลม” ของตัวเรือนทรงกลมและแทร็กนาทีสี่เหลี่ยมจัตุรัสบนพื้นหน้าปัด สิ่งตรงข้ามกับมาตรฐานทั่วไป รวมถึงตัวเลขอารบิกหนาขนาดใหญ่ 4 ตำแหน่งช่วยให้มั่นใจถึงดีไซน์ร่วมสมัย เม็ดมะยมยังคงได้รับการป้องกันด้วยฝาปิดที่เชื่อมด้วยโซ่ เหนือเม็ดมะยมโดดเด่นด้วยลาย Clou de Paris ขนาดใหญ่พิเศษ มาพร้อมขอบตัวเรือนในสไตล์นาฬิกาดำน้ำ กับการประดับสเกลบนขอบตัวเรือน และแน่นอนว่า ยังคงสามารถกันน้ำได้เป็นอย่างดี
คอลเลคชั่น Pasha ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องต่อมาอีกหลายรุ่น โดยในยุค 1990s Pasha de Cartier ที่เคยรังสรรค์ในตัวเรือนทองก็เริ่มเผยโฉมในตัวเรือนสเตนเลสสตีล หากยังคงเอกลักษณ์ของความเป็นนาฬิการ่วมสมัยที่แตกต่างไว้อย่างเด่นชัด มาถึงปี 1995 Pasha ฉลองครบรอบ 10 ปีและยังคงต่อเนื่องในตัวเรือนสเตนเลสสตีล แต่ปรับโฉมใหม่ให้มีตัวเรือนเล็กลงที่ 35.0 มิลลิเมตรในรุ่น Pasha C มาพร้อมสายสไตล์สปอร์ตในดีไซน์ตัว ‘H’ นับเป็นจุดเริ่มต้นยุคใหม่ของ Pasha ที่ทรงพลังด้วยดีไซน์เปี่ยมเอกลักษณ์ พื้นหน้าปัดใหม่ผสานงานออกแบบโดดเด่น ทั้งพื้นหน้าปัดสีแซลมอนและลายตารางที่สะท้อนถึงตะแกรงตารางในผลงานรุ่นแรก Pasha C ยังได้รับการเพิ่มรุ่นซับซ้อนของการแสดงเวลาไทม์โซนที่ 2 ในระบบ GMT และตัวเรือนที่เล็กลงไม่เพียงแต่ดึงดูดใจชายหนุ่มรุ่นใหม่เท่านั้น แต่ยังเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มผู้หญิงที่นิยมนาฬิกาไซส์ใหญ่ด้วย
ความนิยมของตลาดผู้หญิงนำมาซึ่งผลงานในปี 1998 กับ Pasha 32 ในตัวเรือนเล็กลงที่ 32.0 มิลลิเมตร การหวนกลับสู่ตัวเรือนทองอีกครั้งและประดับเพชรน้ำงามสวยหรู รวมถึงนำลายตารางออกจากหน้าปัด กลายเป็นผลงานงานสปอร์ตหรูที่น่าหลงใหลในปี 1998 ในช่วงเวลาเดียวกันจนถึงปี 2008 เป็นยุคที่เฟื่องฟูที่สุดของ Pasha ในกลุ่มนักสะสม Cartier รุ่นใหม่ ด้วยการเปิดตัวผลงาน CPCP ย่อมาจาก Collection Privée, Cartier Paris ที่ผลิตจำนวนจำกัดเพียง 100 เรือนหรือน้อยกว่านั้น เป็นหนึ่งในผลงานที่นักสะสมนาฬิกาชื่นชอบและตามหากันมาก ซึ่งมีจำหน่ายเฉพาะในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะในสองรุ่นพิเศษที่มาพร้อมกลไกทูร์บิญองและการแสดงเวลากลางวัน-กลางคืนที่ซับซ้อน
ในปี 2005 Pasha มีอายุครบ 20 ปี ผลงานรุ่น Pasha 42 กับตัวเรือนที่ขยายขนาดขึ้นอีก 4 มิลลิเมตรเป็น 42.0 มิลลิเมตร ถือเป็นตัวเรือนขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในคอลเลคชั่นก็เผยโฉมขึ้น ทั้งยังอัพเกรดชุดกลไกจักรกลใหม่ที่ผลิตขึ้นภายในโรงงานอย่าง คาลิเบอร์ 8000MC ทรงประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในปีถัดมา Cartier เพิ่มความเป็นสปอร์ตที่ชัดเจนยิ่งขึ้นให้กับผลงานใหม่ Pasha Seatimer ที่มีความเป็นนาฬิกาสปอร์ตทางน้ำด้วยความสามารถกันน้ำได้ดี ขอบตัวเรือนหมุนได้ทิศทางเดียวตามแบบฉบับนาฬิกาดำน้ำ พื้นหน้าปัดดำเคลือบสารเรืองแสง ในตัวเรือน 40.5 มิลลิเมตร ที่มาพร้อมกับสายยางหรือสายสตีล ต่อมาในปี 2009 Pasha de Cartier ถูกย่อขนาดตัวเรือนให้เล็กลงในไซส์มินิ ด้วยเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 27.0 มิลลิเมตร พร้อมเติมแต้มด้วยสีสันที่หลากหลาย ซึ่งทำให้ Miss Pasha กลายเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ได้รับความนิยมอย่างสูงอย่างรวดเร็ว
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Line : @CartierTH
#Cartier #PashadeCartier
Pasha de Cartier
More sophisticated than ever
ปี 2020 Pasha de Cartier ในวัยที่ครบ 35 ปีพอดี หวนกลับมาอีกครั้งกับการตีความใหม่ที่ทำให้ดูสวยและหล่อขึ้นกว่าเดิม แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็น Pasha ไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าแทร็กนาทีทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสในตัวเรือนทรงกลม ตัวเลขอารบิกใหญ่ชัดตา 4 ตำแหน่ง หมุดทรง Clou de Paris บริเวณข้อต่อตัวเรือนและสาย เม็ดมะยมขันเกลียวที่มาพร้อมฝาครอบประดับพลอยเจียระไนทรงหลังเบี้ยเชื่อมด้วยโซ่ดีไซน์เก๋ และความสามารถกันน้ำได้ 100 เมตร หากเพิ่มความสมดุลและปรับเปลี่ยนรายละเอียดให้เข้ากับยุคสมัยมากขึ้น
Pasha de Cartier รุ่นใหม่เปิดตัวใน 2 ขนาดตัวเรือนคือ 35.0 มิลลิเมตรและ 41.0 มิลลิเมตร กับทางเลือกของตัวเรือนที่มีหลากหลายวัสดุ ทั้งสเตนเลสสตีล, ตัวเรือนทองคำชมพู 18k หรือตัวเรือนทองคำ 18k และเพิ่มพื้นที่สำหรับแกะสลักชื่อเจ้าของ โดยซ่อนไว้ใต้ฝาครอบเม็ดมะยมที่จะเห็นได้ก็ต่อเมื่อคลายเกลียวฝาครอบเท่านั้น เพื่อเพิ่มความเป็นสินทรัพย์ส่วนบุคคลที่ชัดเจนขึ้น ขณะที่เม็ดมะยมก็งดงามประณีตด้วยเกลียวขันที่ซ่อนอยู่ใต้ฝาครอบซึ่งประดับยอดด้วยสปิเนลหรือแซฟไฟร์สีน้ำเงิน เกลียวฝาครอบจะช่วยเพิ่มความแน่นหนาและประสิทธิภาพในการกันน้ำได้อีกด้วย
พื้นหน้าปัดโดยรวมยังคงดีไซน์ดั้งเดิม หากปรับเปลี่ยนในรายละเอียดเล็กน้อยเพื่อให้ดูงดงามยิ่งขึ้น โดยในรุ่นตัวเรือนขนาด 41.0 มิลลิเมตรจะมาพร้อมฟังก์ชั่นแสดงวันที่ในช่องหน้าต่างที่ 4-5 นาฬิกาสุดคลาสสิก เด่นด้วยแทร็กนาทีในกรอบสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่ตรงข้ามกับตัวเรือนทรงกลมตามแบบฉบับของ Pasha หากปรับพื้นให้หรูหราซับซ้อนขึ้นด้วยลายกิโยเช่ที่ทำให้เกิดมิติของรัศมีกระจายบนหน้าปัดอย่างน่าหลงใหลยิ่งขึ้น
Cartier ยังเพิ่มประสิทธิภาพด้วยกลไกอัตโนมัติ เครื่องอินเฮาส์ที่ได้รับการพัฒนาและผลิตขึ้นภายในโรงงาน คาลิเบอร์ 1847 MC ทำงานด้วยความถี่ 28,800 ครั้งต่อนาที ประดับทับทิม 23 เม็ดและสำรองพลังงานได้นาน 40 ชั่วโมง ทั้งยังมาพร้อมสายที่มีระบบ “QuickSwitch” ที่ให้เปลี่ยนสายได้เองอย่างง่ายดายเพียงคลิ๊กเดียว ทั้งยังสามารถปรับขนาดของสายโลหะให้สั้นหรือยาวได้ด้วย “SmartLink” แม้จะต้องใช้เครื่องมือที่ Cartier มีมาให้พร้อมกับนาฬิกา แต่ก็ปลดข้อต่อสายได้ง่ายจริงๆ และสุดท้ายคือ ทุกรุ่นซึ่งมาพร้อมกลไกอัตโนมัติคุณภาพสูง ยังเผยให้ชมการทำงานของกลไกผ่านฝาหลังคริสตัลแซฟไฟร์อีกด้วย
Pasha de Cartier ยังมีรุ่นพิเศษอีกถึง 3 รุ่นที่มาพร้อมชุดกลไก 4 ชุด คือ Pasha de Cartier Tourbillon Skeleton ที่มีทั้งแบบเรียบง่ายหรือประดับเพชรบนขอบตัวเรือนและบนกลไกไขลาน คาลิเบอร์ 9466 MC อวดทูร์บิญองสุดซับซ้อนในตัวเรือนทองขาว หรือทองชมพู 18k ขนาด 41.0 มิลลิเมตร ในตำแหน่ง 6 นาฬิกา เด่นด้วยโครงสร้างตัวเลขอารบิก 4 ตำแหน่งและกรอบของแทร็กนาที สะท้อนดีไซน์ "สี่หลี่ยมและในทรงกลม" ที่ซับซ้อนยิ่งกว่า กลไกชุดนี้ทำงานด้วยความถี่ 21,600 ครั้งต่อชั่วโมงและสำรองพลังงานได้ 50 ชั่วโมง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Line:@CartierTH
#Cartier #PashadeCartier
16 ต.ค. 2567
26 ก.ย. 2567
8 ต.ค. 2567
7 ต.ค. 2567