A. LANGE & SÖHNE Grand appearance for the perpetual calendar

Last updated: 25 ก.พ. 2567  |  1220 จำนวนผู้เข้าชม  | 

A. LANGE & SÖHNE Grand appearance for the perpetual calendar

ปีนี้สำหรับนาฬิกาทั่วไปที่แสดงวันที่ในช่องหน้าต่างเล็กๆ ไม่ซับซ้อน ถึงปลายเดือนที่มีความยาววันไม่เท่ากันก็ต้องดึงเม็ดมะยมมาตั้งกันสักที หรือถ้าซับซ้อนหน่อยกับระบบปฏิทินแบบ Annual Calendar ระบบก็จะปรับตั้งวันที่ให้อัตโนมัติตามความยาวของเดือนที่มี 30 หรือ 31 วันโดยไม่ต้องเสียเวลามาตั้งเอง แต่ยังไงก็ตาม เดือนกุมภาพันธ์ก็ต้องปรับตั้งเองอยู่ที่ให้เป็น 1 มีนาคม ไม่ว่าเดือนกุมภาพันธ์ปีนั้นจะมี 28 หรือ 29 วัน แต่ถ้าเป็นนาฬิกากลไกซับซ้อนสูงหรือที่เรียกกันว่า Perpetual Calendar หรือระบบปฏิทินร้อยปี นาฬิกาก็จะปรับตั้งวันที่ได้เองอย่างชาญฉลาดในทุกเดือน รวมทั้งเดือนกุมภาพันธ์ที่มี 28 หรือมี 29 วัน ไปจนถึงปี ค.ศ.2100 ถึงตอนนั้น เจ้าของนาฬิกาก็ต้องลงมือปรับตั้งวันที่ 1 ครั้งในปลายเดือนกุมภาพันธ์สู่วันที่ 1 มีนาคม

2024 เป็นอีกหนึ่งครั้งที่เดือนกุมภาพันธ์มีความยาวกว่าปกติ เป็น 29 วันซึ่งเกิดขึ้นในทุกๆ 4 ปี และทำให้ปีนั้นมีวันใน 12 เดือนรวมกันเป็น 366 วันแทนที่จะเป็น 365 ซึ่งเราเรียกปีที่มีวันมากกว่าปกตินี้ว่าปีอธิกสุรทิน สาเหตุที่มีวันมากขึ้นในทุก 4 ปีก็เป็นเพราะเส้นทางการหมุนรอบตัวเองของโลกไม่ใช่ 24 ชั่วโมง แต่เป็น 23 ชั่วโมง 56 นาที 4 วินาที และโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบก็ไม่ใช่ 365 วัน แต่เป็น 365 วัน กับอีก 5 ชั่วโมง 48 นาที 56 วินาที การที่ปฏิทินทุกปีมีแค่ 365 วันจะทำให้เวลาหายไป 6 ชั่วโมงในทุกปี 3 ปีก็ 18 ชั่วโมง ด้วยเหตุนี้เองจึงต้องเพิ่ม 1 วันให้กับเดือนกุมภาพันธ์ในทุก 4 ปี แต่ถ้าปีไหนที่หารด้วย 100 ลงตัว แม้จะตรงกับปีอธิกสุรทินที่เดือนกุมภาพันธ์ต้องมี 29 วัน ก็จะกลายเป็นปีปกติที่มีเพียง 28 วัน ซึ่งก็เป็นไปตามกฎการคำนวณของปฏิทินกริกอเรียน เพื่อทำให้ปฏิทินมนุษย์โลกสัมพันธ์กับปีทางสุริยคติ

ในบรรดาแบรนด์นาฬิการะดับโลก มีเพียงไม่กี่แบรนด์ที่พัฒนากลไกซับซ้อนสูวถึงระดับ Perpetual Calendar หนึ่งในนั้นคือสุดยอดแบรนด์สัญชาติเยอรมันอย่าง A. Lange & Söhne ที่เปิดตัวนาฬิกาพร้อมกลไกซับซ้อนนี้มากถึง 9 รุ่นนับตั้งแต่ปี 2001 เป็นต้นมาก ทั้งโรงงานแห่ง Saxon ยังได้พัฒนาเทคนิคเชิงกลไกที่แตกต่างกันให้กับระบบปฏิทินร้อยปีนี้อีกด้วย

และในปี 2024 ซึ่งเป็นปีอธิกสุรทิน ซึ่งมีความแตกต่างบนนาฬิการะบบปฏิทินร้อยปีหรือ Perpetual calendar กับระบบปฏิทินรายปีหรือ Annual calendar โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่ตัวเลขในช่องแสดงปีอธิกสุรทินของนาฬิกาจะเปลี่ยนจากเลข 3 สู่เลข 4 เพื่อบอกให้รู้ว่าปีอธิกสุรทินได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว และจากนั้นก็จะใช้เวลาอีก 59 วัน ในการตอกย้ำถึงปีที่เดือนกุมภาพันธ์มีความยาวกว่าปกติเมื่อหน้าต่างวันที่แสดงวันที่ 29 ก่อนจะเปลี่ยนสู่วันที่ 1 มีนาคมในตอนเที่ยงคืน ฟังดูเหมือนจะง่ายกับการเปลี่ยนวันที่เช่นนี้ แต่เป็นความท้าทายในเชิงเทคนิคอย่างยิ่ง ซึ่งต้องพัฒนาโปรแกรมเชิงกลเพื่อกำหนดระยะเวลาที่แตกต่างกันของ 48 เดือนในรอบ 4 ปีให้แสดงค่าอย่างถูกต้องในทุกเดือนที่มีความยาวแตกต่างกัน

วิถีคลาสสิก
กลไกนาฬิกาทั่วไปจะใช้เฟือง 48 ซี่ในการควบคุมโปรแกรมการปรับตั้งวันที่อัตโนมัติให้สอดคล้องอย่างถูกต้องในช่วงเวลา 48 เดือนในรอบ 4 ปีซึ่งประกอบด้วย 3 ปีหรือที่เรียกว่า ปีปกติสุรทิน และหนึ่งปีของอธิกสุรทิน ในขณะที่เฟืองจะหมุนเพียงหนึ่งรอบใน 4 ปี แต่ก็ยังมีส่วนที่เป็นรอยบากและชั้นที่ถูกจัดการด้วยคันโยกหรือ lever ชิ้นส่วนที่ปล่อยหรือกักแต่ละซี่ไว้ ซึ่งมีกฎง่ายๆ คือ ยิ่งซี่ร่องลึกเท่าไร กลไกก็จะเปลี่ยนเป็นวันถัดไปสู่วันแรกของเดือนเร็วขึ้นเท่านั้น และซี่ที่ลึกที่สุดก็จะตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ในรอบที่ 4 ของเฟืองนั่นเอง เมื่อมองใกล้ๆ ก็จะเห็นว่าหนึ่งในซี่เหล่านั้นมีความตื้นกว่าเล็กน้อย นั่นหมายความว่า เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้มี 29 วันและเป็นปีอธิกสุรทินนั่นเอง ซึ่งต้องเพิ่มวันให้รอบปฏิทินหนึ่งปียาวขึ้น กลไกจักรกลนี้รับรู้ความยาวที่แตกต่างกันของเดือนตลอดศตวรรษ และมีเพียงปี ค.ศ. 2100, 2200 และ 2300 เท่านั้นที่ต้องการปรับค่าวันที่ด้วยมือเจ้าของนาฬิกาเอง
นาฬิกา 7 รุ่นจาก 9 รุ่นของ A. Lange & Söhne ที่มาพร้อมระบบปฏิทินร้อยปีหรือ perpetual calendar และหน้าปัดย่อยที่มีความซับซ้อนล้วนใช้หลักการดั้งเดิม สำหรับ Lange 1 Tourbillon และ Lange 1 Perpetual Calendar มีพื้นฐานกลไกอยู่บนแนวทางใหม่ทั้งหมด

วิถีแห่งนวัตกรรม
การสร้างนวัตกรรมกลไกปฏิทินร้อยปีเป็นเรื่องยาก นี่คืออีกหนึ่งกลไกซับซ้อนดั้งเดิมที่ย้อนยุคการถือกำเนิดครั้งแรกกลับไปที่กลางทศวรรษ 1700 เมื่อช่างนาฬิกาชาวอังกฤษ Thomas Mudge สร้างนาฬิกาเรือนแรกที่มีระบบปฏิทินถาวร นาฬิกาพกรุ่นแรกของ A. Lange & Söhne ที่มีระบบปฏิทินร้อยปีแสดงอย่างครบถ้วน ทั้้งวัน วันที่ เดือน ปีอธิกสุรทิน รวมถึงข้างขึ้นข้ามแรม ซึ่งได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ทุกอย่างดูเหมือนได้รับการประดิษฐ์ขึ้นแล้ว แต่นักออกแบบกลไกที่มากความสามารถของ A. Lange & Söhne ได้เริ่มต้นค้นหาเส้นทางใหม่ในการออกแบบปฏิทินร้อยปี โดยพัฒนากลไกให้กับ Lange 1 Tourbillon Perpetual Calendar ที่เปิดตัวในปี 2012 ผลงานที่รังสรรค์จากความเป็นไปไม่ได้ในการผสานรวมการแสดงค่าต่างๆ ในระบบปฏิทินเข้ากับสถาปัตยกรรมบนหน้าปัดของ Lange 1 โดยไม่ส่งผลกระทบต่อดีไซน์อสมมาตรของจอแสดงผลที่ไม่ทับซ้อนกัน แต่ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ

องค์ประกอบสำคัญคือวงแหวนแสดงเดือนแบบต่อพ่วงที่ได้รับการจดสิทธิบัตร ถือเป็นการแสดงเดือนรูปแบบใหม่ โดยแทนที่กลไกเดิมซึ่งเลื่อนเดือนไปข้างหน้า ด้วยวงแหวนของเฟืองที่มีร่องซี่แตกต่างกัน ทางออกของนวัตกรรมได้ก่อเกิดความท้าทายใหม่ให้กับนักออกแบบกลไกที่เปี่ยมความสามารถ พวกเขาจำเป็นต้องหาวิธีหมุนวงแหวนขนาดใหญ่ทันที 30 องศาขณะเข้าสู่เดือนใหม่ การเพิ่มขยายขึ้น 4 เท่าด้วยน้ำหนักที่เบาและต้องเล็กกว่าเฟืองควบคุม ภารกิจนี้ขับเคลื่อนสู่การแสวงหาวิธีการเพิ่มขนาดวงแหวนของเดือนที่ก้าวหน้าไปไกลมาก แนวทางใหม่นี้จะคำนวณความยาวของแต่ละเดือนได้อย่างแม่นยำ

วงแหวนแสดงเดือนถูกขับเคลื่อนด้วยเฟืองภายในที่หมุนรอบแกนของมันเองปีละครั้ง ขอบเฟืองมีลักษณะเป็นรอยหยักของซี่และเว้าคล้ายคลื่นที่ตื้นลึกต่างกัน คันโยกจะเลื่อนไหตามโครงร่างของรอยเว้า และเบี่ยงไปตามขนาดที่สอดคล้องกับความลึกของรอยเว้าตามลำดับ ยิ่งเบี่ยงออกเดือนก็ยิ่งสั้นลง เช่นในเดือนกุมภาพันธ์ ส่วนขยายของคันโยกจะสัมผัสกับลูกเบี้ยวใต้แผ่นดิสก์ปีอธิกสุรทิน ระบบนี้จะบอกกลไกว่าปีปกติจะมีแค่ 28 วัน และปีอธิกสุรทินจะมี 29 วัน นวัตกรรมที่สามารถหยักรู้ถึงความยาวสั้นในระบสี่ปีอย่างแม่นยำถูกนำมาใช้กับ Lange 1 Perpetual Calendar ที่เปิดตัวในปี 2012

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้