Last updated: 18 มิ.ย. 2567 | 403 จำนวนผู้เข้าชม |
แม้ Rado จะได้รับการยอมรับในแวดวงนาฬิกาโลกมาตลอดว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวัสดุตัวจริง แต่แบรนด์ก็ยังคงทุ่มเทให้กับการคิดค้น สร้างสรรค์ และพัฒนาเรื่องวัสดุมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไฮเทคเซรามิก ที่นักทำนาฬิกาต่างหลงใหลในคุณสมบัติแข็งแรงทนทาน แต่น้ำหนักเบาเหลือเชื่อ แถมยังนำมารังสรรค์นาฬิกาได้หลากหลายแบบ เพื่อรองรับสไตล์ของผู้คนทั่วโลก
Rado เริ่มต้นบุกเบิกการผลิตนาฬิกาด้วยไฮเทคเซรามิกมาตั้งแต่ปีค.ศ.1986 กับคอลเล็กชั่น Rado Integral ในตำนาน โดยแบรนด์นำไฮเทคเซรามิกสีดำขัดเงามาใช้กับข้อต่อ แล้วนับจากนั้นเทคโนโลยีก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จน Rado ผลิตนาฬิกาไฮเทคเซรามิกออกมาอีกหลายคอลเล็กชั่น ในรูปแบบที่แปลกใหม่และเพียบพร้อมขึ้นกว่าเก่าเสมอ
แต่ทั้งนี้การผลิตไฮเทคเซรามิกนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องอาศัยทั้งความชำนาญและความละเอียดละออในทุกกระบวนการ เพราะถือเป็นงานทางวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ต้องใช้ทั้งผงอะลูมิเนียมออกไซด์ เซอร์โคเนียมออกไซด์ และซิลิกอนไนไตรด์บริสุทธิ์ที่มีขนาดเกรนเท่ากันทั้งหมด จากนั้นนำมาขึ้นรูป แล้วเข้าอบในอุณหภูมิสูง โดยมีพลาสติกผสม ผงแร่เป็นสารตัวกลางที่ช่วยให้ฉีดขึ้นรูปในแม่พิมพ์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องอยู่ใต้แรงดันราว 1,000 บาร์ หลังจากนั้นเมื่อส่วนประกอบเย็นตัวลง ก็นำไปเผาผนึกที่อุณหภูมิ 1450°C ระดับเดียวกับการผลิตจรวดเลย สิ่งนี้เองที่ทำให้ไฮเทคเซรามิกมีความหนาแน่นและแข็งแรงกว่าเซรามิกทั่วไป โดยช่างเทคนิคต้องคำนวณขนาดนาฬิกาให้แม่นยำ เพราะในกระบวนการเผาผนึกตัวเรือนจะหดลง 23% ส่วนความแข็งสุดท้ายที่ได้อยู่ในระดับ 1,250 Vickers พร้อมเข้าสู่กระบวนการเจียระไนและตกแต่งด้วยเครื่องมือเดียวกับที่ใช้เจียระไนเพชรจริงๆ
ความยากในการผลิตทั้งหมดนี้ทำให้ได้ผลลัพธ์อันล้ำค่าเป็นนาฬิกาไฮเทคเซรามิกหลายรูปแบบของ Rado อาทิ นาฬิกาไฮเทคเซรามิกผิวด้านและผิวเงา ทรงเหลี่ยม ทรงมน และทรงกลม รวมถึงเนรมิตเป็นสีต่างๆ ได้มากมาย
โดยในปีนี้ Rado ชวนพบนาฬิกาหลากหลายคอลเล็กชั่นจาก Rado Novelties 2024 ที่ผลิตจากไฮเทคเซรามิกหลากสี อย่างเมื่อช่วงเดือนเมษายน Rado ปล่อย True Square Automatic Open Heart สีขาวกับเขียวเทอร์ควอยซ์ออกมา ต่อด้วยเดือนพฤษภาคมกับ True Square Automatic Skeleton กับ Captain Cook High-Tech Ceramic Skeleton ที่คุมโทนด้วยสีไฮเทคเซรามิกสีน้ำเงินทั้ง 2 เรือน และล่าสุดในเดือนมิถุนายนนี้ กับนาฬิกาสีสันสดใส 3 เรือน ประกอบด้วยซีรีส์ฮิตตลอดกาลอย่าง Captain Cook High-Tech Ceramic Skeleton สีน้ำเงิน ที่ประดับวงแหวนบนหน้าปัดด้วยสีเหลืองสดกับสีแดง อีกหนึ่งรุ่นลิมิเต็ดที่ควรมีไว้ครอบครอง สุดท้ายคือ True Square Automatic Skeleton ซึ่งใช้ไฮเทคเซรามิกสีเหลืองสดทั้งเรือน แบรนด์ Rado สร้างสรรค์นาฬิกาที่เหมาะสำหรับทุกไลฟ์สไตล์ นอกเหนือจากการเป็นผู้นำด้านวัสดุศาสตร์แล้ว ยังเป็นผู้นำด้านการดีไซน์ สามารถออกแบบนาฬิกาไฮเทค เซรามิก ควบคู่เข้ากับสายยาง ได้เข้ากันอย่างลงตัว ทุกเฉดสีที่แบรนด์ได้ทำขึ้นมา ล้วนแต่ผ่านนวัตกรรมที่คิดค้นเฉพาะในแบบฉบับของ Rado
มาทำความรู้จักขั้นตอนการผลิตไฮเทค เซรามิกพร้อมกัน..
คุณสมบัติเด่นของไฮเทคเซรามิก ในทุกคอลเล็กชั่นคือ ทนทานต่อรอยขีดข่วน ไม่เสื่อมสภาพง่าย มีความแข็งแรงกว่าวัสดุประเภทสตีลถึง 500% แต่น้ำหนักเบากว่า 25% จึงทำให้สวมใส่สบาย นอกจากนี้ยังมีความอ่อนโยนต่อผิว แม้กระทั่งคนผิวแพ้ง่ายที่มักใส่นาฬิกาข้อมือแล้วประสบปัญหา ก็ยังใช้นาฬิกาไฮเทคเซรามิกของ Rado ได้โดยปราศจากการระคายเคือง
ตลอดระยะเวลา 38 ปี นับจากวันแรกที่ Rado คิดค้นวัสดุไฮเทคเซรามิกขึ้นมา ก็เกิดนาฬิกาไฮเทคเซรามิกขึ้นจำนวนนับไม่ถ้วนในวงการนาฬิกาโลก ซึ่ง Rado ก็จะยังคงเป็นผู้นำและสร้างสรรค์ผลงานที่ทั้งงดงาม เบาสบาย และแข็งแรงต่อไป เพื่อให้ทุกคนได้เก็บช่วงเวลาหลากสีสันอันน่าประทับใจของตนไปพร้อมๆ กับเรา
ศิลปะแห่งเซรามิก: ขั้นตอนการผลิต
1 การออกแบบแม่พิมพ์: “แม่พิมพ์” เกิดจากฝีมือการวาดของนักออกแบบ
2 การฉีดขึ้นรูป: นำแม่พิมพ์ที่ได้ติดตั้งด้านในเครื่องจักรอันทรงพลังที่ใช้ฉีดขึ้นรูป
3 การเผาผนึก: นำตัวเรือนเข้าเตาอบแบบพิเศษที่มีอุณหภูมิสูงมาก (1450°C) ทิ้งไว้หลายชั่วโมงจนเซรามิกแข็งตัวดี กระบวนการนี้จะทำให้เซรามิกได้สีที่เข้มข้นและเกิดความแข็งแรงในระดับสูงสุด ขณะเดียวกันตัวเรือนก็จะหดลง 23% ซึ่งเป็นขนาดนาฬิกาที่แท้จริง
4 การขึ้นรูปด้วยเครื่องจักร: ใช้เครื่องมือเจียระไนเพชรในการตัดเฉือนส่วนประกอบต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าได้ขนาดที่แม่นยำที่สุด
5 การขัดเงา: นำส่วนประกอบที่ต้องการให้เกิดความเงาจุ่มลงในอ่างซึ่งมีเศษเซรามิกเล็กๆ สั่นสะเทือนด้วยความถี่สูงอยู่
6 การพ่นทราย: ขั้นตอนนี้สำหรับชิ้นส่วนที่ต้องการให้ผิวเรียบและผิวด้าน
7 การสลักลวดลาย: เลเซอร์จะสลักตัวเลขและเครื่องหมายต่างๆ ลงบนกรอบหน้าปัดในระดับความลึกที่พอดีที่สุด
7.1 เตาอบพลาสม่า: การตกแต่งขั้นสุดท้ายสำหรับส่วนประกอบบางชิ้น เตาอบพลาสม่าจะเปลี่ยนพื้นผิวสีขาวให้เป็นพื้นผิวเฉดสีโลหะได้อย่างถาวร
7.2 พลาสม่า: พลาสม่าไฮเทคเซรามิกของ Rado คือวัสดุที่รูปลักษณ์เหมือนโลหะ แต่ไม่มีส่วนประกอบของโลหะอยู่เลย
8 การเคลือบแลกเกอร์: ขั้นตอนการเคลือบแลกเกอร์บนช่องว่างเล็กๆ ที่เกิดจากการเลเซอร์ ซึ่งแลกเกอร์จะแห้งแล้วยึดติดกับไฮเทคเซรามิกอย่างถาวร งานอันแสนละเอียดอ่อนนี้ดำเนินการโดยช่างทำนาฬิกาผู้เชี่ยวชาญ
9 การควบคุมคุณภาพ: ขั้นตอนการตรวจสอบนาฬิกาอย่างละเอียดและเข้มงวด เพื่อให้มั่นใจว่านาฬิกาทุกเรือนได้มาตรฐานของ Rado ทุกประการ
ความเชี่ยวชาญด้านวัสดุของ Rado
ศิลปะแห่งไฮเทคเซรามิก
Rado เปิดตัวไฮเทคเซรามิกครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1986 ซึ่งมาพร้อมคุณสมบัติมากมาย ทั้งแข็งแรงทนทาน ป้องกันรอยขีดข่วนได้ มีน้ำหนักเบา และให้สัมผัสนุ่มนวล ทั้งหมดนี้ชนะใจคนรักนาฬิกาทั่วโลกได้ทันที
ไฮเทคเซรามิกเกิดขึ้นได้ด้วยวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ต้องใช้ทั้งผงอะลูมิเนียมออกไซด์, เซอร์โคเนียมออกไซด์ และซิลิกอนไนไตรด์บริสุทธิ์ที่มีขนาดเกรนเท่ากันทั้งหมด จากนั้นนำมาขึ้นรูป แล้วเข้าอบในอุณหภูมิสูง โดยมีพลาสติกผสมผงแร่เป็นสารตัวกลางที่ช่วยให้ฉีดขึ้นรูปในแม่พิมพ์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องอยู่ใต้แรงดันราว 1,000 บาร์ หลังจากนั้นเมื่อส่วนประกอบเย็นตัวลง ก็นำไปเผาผนึกที่อุณหภูมิ 1450°C ขั้นตอนนี้อยู่ในระดับเดียวกับการผลิตจรวด ซึ่งทำให้ไฮเทคเซรามิกมีความหนาแน่นและแข็งแรงกว่าเซรามิกทั่วไป โดยช่างเทคนิคต้องคำนวณขนาดนาฬิกาให้แม่นยำ เพราะกระบวนการเผานี้ตัวเรือนจะหดลง 23% ส่วนความแข็งสุดท้ายที่ได้อยู่ในระดับ 1,250 Vickers พร้อมเข้าสู่กระบวนการเจียระไนและตกแต่งด้วยเครื่องมือเดียวกับที่ใช้เจียระไนเพชร
ศิลปะแห่ง CeremosTM
หนึ่งใน DNA ของ Rado คือการค้นคว้าหาวัสดุในอุดมคติสำหรับผลิตนาฬิกาอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งวิศวกรของ Rado ได้สร้าง CeremosTM วัสดุคอมโพสิตแบบใหม่ขึ้นมา ซึ่งมีทั้งความแข็งแกร่งแบบเซรามิกและความมันวาวแบบโลหะ โดยงานชิ้นแรกๆ ผลิตด้วยการอัดขึ้นรูปในแม่พิมพ์ อาทิ นาฬิกาซีรีส์ Sintra ปีค.ศ.1993 จนเมื่อปีค.ศ.2011 ทีมงานของ Rado ก็ประสบความสำเร็จในการฉีดขึ้นรูปโลหะผสมนี้ ซึ่ง CeremosTM มีส่วมผสมของไททาเนียมคาไบด์ราว 90% ทำให้วัสดุตัวนี้น้ำหนักเบากว่า “โลหะแข็ง” ที่แบรนด์เคยใช้กับ DiaStar1 เมื่อปี ค.ศ. 1962
คุณสมบัติและเอกลักษณ์เด่นของ CeremosTM คือป้องกันรอยขีดข่วนได้ดี มีความมันวาวเป็นพิเศษ มีโทนสีแปลกตา เช่นเฉดสีเมทัลลิก สีทอง ฯลฯ
ศิลปะแห่งโลหะแข็ง
ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 คือยุคแห่งการพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องจักร เครื่องไม้เครื่องมือ และวัสดุ หนึ่งในนั้นคือ “โลหะแข็ง” หรือที่ศัพท์เทคนิคภาษาเยอรมันเรียกว่า “Hartmetal” ซึ่ง Rado เป็นผู้บุกเบิกการนำวัสดุชนิดนี้มาผลิตนาฬิกา จนได้เป็น Rado DiaStar (รุ่นดั้งเดิม) ในปีค.ศ.1962 ถือเป็นนาฬิการุ่นแรกที่ตัวเรือนเป็นโลหะแข็ง มีความทนทานสูงแบบที่ไม่มีใครเทียบได้
ส่วนกระบวนการผลิตนาฬิกาจากโลหะแข็งก็คล้ายกับนาฬิกาไฮเทคเซรามิก คือใช้ผงทังสเตนคาร์ไบด์แบบละเอียดพิเศษ ผสมสารยึดเกาะโลหะกับพลาสติก โดยบดให้เป็นเม็ดก่อนเพื่อฉีดขึ้นรูปให้ได้รูปร่างที่ต้องการ จากนั้นนำชิ้นส่วนที่ได้ไปเผาในภาวะสุญญากาศ ซึ่งจะช่วยให้เราได้ส่วนประกอบที่มีความหนาแน่นและแข็งแกร่ง แล้วก็เช่นเดียวกันกับไฮเทคเซรามิก คือวิศวกรรมต้องคำนวณขนาดมาอย่างแม่นยำ เพราะในขั้นตอนนี้ชิ้นส่วนจะหดเล็กลง หลังจากเผาผนึกแล้ว ก็จะส่งส่วนประกอบที่ได้ไปกลึงและขัดเงา เพื่อให้ได้ตัวเรือนหรือชิ้นส่วนที่มีความมันวาวและทนทานต่อการขีดข่วน
ศิลปะแห่งคริสตัลแซฟไฟร์
คริสตัลแซฟไฟร์ถือเป็นวัสดุที่แข็งที่สุดชนิดหนึ่งของโลก สร้างขึ้นจากกระบวนการที่เรียกว่า Verneil โดยผสมผงอะลูมิเนียมออกไซด์แบบละเอียดพิเศษ เข้ากับออกซิเจนและไฮโดรเจนในความร้อนสูงถึง 2000°C จากนั้นจะได้ผลึกโมโนคริสตัลแนวตั้งที่เรียกว่า “Boule” ซึ่งจะค่อยๆ ก่อตัวสูงขึ้นมาประมาณ 20 ซม.ทุก 8 ชั่วโมง เสร็จแล้วจึงนำ Boule ไปอบให้อ่อนตัวลง โดยต้องใช้อุณหภูมิสูงมากและกินระยะเวลาหลายวัน เพื่อให้ได้วัสดุที่มีโครงสร้างเหมือนแซฟไฟร์จากธรรมชาติจริงๆ
ตัวคริสตัลแซฟไฟร์ที่ได้จากการผลิตนี้นอกจากจะแข็งแรงทนทานมากแล้ว ความโปร่งใสยังอยู่ในระดับสูงมากด้วย ซึ่ง Rado คือแบรนด์แรกที่นำคริสตัลแซฟไฟร์มาผลิตกระจกนาฬิกา เริ่มจาก DiaStar1 หลังจากนั้นนักออกแบบของ Rado ก็ได้เติมความคิดสร้างสรรค์ลงไปอีก โดยเพิ่มการเจียระไน เคลือบโลหะ ย้อมสี รมควัน ไปจนถึงการเคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนบนคริสตัลแซฟไฟร์
คุณลักษณะและประโยชน์ของไฮเทคเซรามิก:
- น้ำหนักเบา ให้สัมผัสสบาย
- มีความแข็งในระดับสูงสุดขีด
- ทนต่อการขีดข่วนและเสียดสีได้อย่างยอดเยี่ยม
- เป็นมิตรกับผิว เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย
- ทนต่อการเสื่อมสภาพ
21 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567