Last updated: 7 พ.ย. 2567 | 376 จำนวนผู้เข้าชม |
เรือนเวลา Classique 5177 และ Classique 7787 ถ่ายทอดความคลาสสิคเหนือกาลเวลา ด้วยการผสมผสานวัสดุล้ำค่าสองชนิด ได้แก่ แพลทินัม และศิลปะการโค้ทติ้ง "Grand Feu" (กรองด์ เฟอ) ด้วยสุดยอดเทคนิคอันเชี่ยวชาญ มาพร้อมกับสองกลไกออโตเมติกที่ผ่านการทดสอบมาเป็นอย่างดีของคาลิเบอร์ 777 Q และ 591 DRL
หน้าปัดสีดำสนิทดุจราตรี ส่องประกายงดงามด้วยเทคนิคการเคลือบ “Grand Feu” และเป็นครั้งแรกที่คอลเล็กชันนี้เผยโฉมในตัวเรือนแพลทินัม วัสดุทรงคุณค่าที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นเลิศ เรือนเวลา Classique ของ Breguet (เบรเกต์) มาในโทนสีดำและเงินเพื่อสื่อถึงความสำคัญของกาลเวลา รุ่น 5177 โดดเด่นด้วยดีไซน์เรียบหรู ส่วนรุ่น 7787 มาพร้อมฟังก์ชันข้างขึ้นข้างแรม (moon phase) และมาตรแสดงค่าพลังงานสำรอง
อับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ นักออกแบบแห่งยุค
เมื่อ Abraham-Louis Breguet เปิดเวิร์กช็อปผลิตนาฬิกาขึ้น ณ Île de la Cité (ลิล เดอ ลา ซิเต) ในปี 1775 ก็ได้พัฒนาสไตล์การออกแบบนาฬิกาขึ้นใหม่ เพิ่มเติมจากนวัตกรรมทางเทคนิคอันยอดเยี่ยมที่ทำให้เขามีชื่อเสียงในหมู่ลูกค้าชั้นสูงระดับนานาชาติ แตกต่างจากนักออกแบบในยุคเดียวกันที่มักสร้างสรรค์ชิ้นงานที่เต็มไปด้วยการตกแต่งรายละเอียดมากมาย เบรเกต์ซึ่งเป็นชาวเมือง Neuchâtel (เนอชาแตล) เลือกที่จะฉีกกรอบจากการประดับประดาเรือนเวลาเกินจำเป็น โดยเน้นการแสดงเวลาให้ชัดเจน แม้ว่ากลไกภายในจะซับซ้อนเพียงใด แต่การอ่านเวลาและค่าต่างๆ ควรทำได้รวดเร็วและง่ายดายราวกับเป็นสัญชาตญาณ
ถือเป็นนักออกแบบนาฬิกาคนแรก ผู้มุ่งเน้นความเรียบง่ายด้วยการปรับโฉมหน้าปัดนาฬิกา ทั้งในรูปแบบเคลือบอีนาเมลสีขาว หรือการตกแต่งด้วยลวดลาย guilloché (กิลโยเช่) หลากหลายแบบ รวมถึงการใช้ตัวเลขอารบิกและโรมันที่โค้งมนอ่อนช้อย พร้อมด้วยเข็มนาฬิกาปลายโปร่งรูปพระจันทร์เสี้ยวอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเบรเกต์ ซึ่งสไตล์นี้ได้กลายเป็นรากฐานของคอลเล็กชัน Classique ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากนาฬิกาพกที่ถูกพัฒนาโดยอับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ และอองตวน เบรเกต์ บุตรชายของเขาในศตวรรษที่ 18 และ 19 รวมไปถึงตัวเรือนที่มีขอบเซาะร่องแบบ fluted อันงามสง่า
Classique ผสานแพลทินัม และ Grand Feu สู่ความเป็นนิรันดร์
เป้าหมายของอับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ คือการประทับห้วงเวลาไว้ในกาลเวลา ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ Montres Breguet สืบสานผ่านการสร้างสรรค์อันล้ำสมัย โดยการเลือกใช้วัสดุล้ำค่าที่ทนทานและทรงคุณค่าชั่วนิรันดร์
แพลทินัม: วัสดุอันทรงคุณค่า
ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 18 แพลทินัม ถูกค้นพบขึ้นเมื่อ 400 ปีก่อน ณ ทวีปอเมริกา ซึ่งได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในยุโรป เริ่มจากใช้ทำเครื่องประดับ จากนั้นจึงค่อยๆเข้าสู่แวดวงนาฬิกา วัสดุล้ำค่าชนิดนี้ ได้รับสมญานามให้เป็น "โลหะแห่งกษัตริย์" วัสดุทรงเกียรตินี้ได้ถูกเลือกใช้เพื่อประดับเรือนเวลาชั้นยอด อย่าง Classique 5177 และ Classique 7787
สีเทาแวววาวงดงามของแพลทินัม มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นทองคำขาวหรือเงิน แต่ด้วยคุณสมบัติพิเศษหลายประการ แพลทินัมจึงโดดเด่นกว่าแร่ธาตุธรรมชาติและโลหะผสมอื่นๆ เช่น น้ำหนัก ความยืดหยุ่น และเหนือสิ่งอื่นใดคือความสามารถในการต้านทานต่อแม่เหล็กและการกัดกร่อน จึงทำให้แพลทินัมเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นความนิรันดร์ อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และน้ำหนักของแพลทินัมยังเสริมให้ดูโดดเด่นเมื่อสวมใส่บนข้อมือ
คอลเล็กชันนี้คงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ด้านการออกแบบของนาฬิกา Classique โดยตัวเรือนที่มีทั้งขอบตัวเรือนเพรียวบาง เม็ดมะยมสลักร่อง ขาสายนาฬิกาเรียวบาง และขอบตัวเรือนแบบเซาะร่องแบบ fluted ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่นาฬิกาสองรุ่นใหม่นี้ถูกสร้างขึ้นจากแพลทินัม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 38 มม. กับความหนา 8.8 มม. สำหรับรุ่น Classique 5177 และขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 39 มม. กับความหนา 10.3 มม. สำหรับรุ่น Classique 7787
ความเงางามของ "Grand Feu" (กรองด์ เฟอ)
เฉกเช่นเดียวกับแพลทินัม "Grand Feu" เป็นศิลป์ที่สงวนไว้สำหรับนาฬิกาชั้นสูงและโมเดลพิเศษ และคงคุณค่าชั่วไว้ตลอดกาล เดิมทีศิลปะนี้ถูกนำมาใช้ในงานทำนาฬิกาเพื่อป้องกันดิสก์หน้าปัด ที่มักจะเสื่อมสภาพจากแสงธรรมชาติ ฝุ่นละออง และการออกซิไดซ์ เนื่องจากในอดีตนาฬิกายังไม่สามารถกันน้ำได้จนถึงช่วงกลางศตวรรษที่ 20
เทคนิคการตกแต่งนี้ใช้ผงที่ทำจากแร่หลากหลายชนิดและออกไซด์ของโลหะเพื่อสร้างสี ผสมกับสารยึดเกาะ แล้วนำไปเคลือบที่ฐานหน้าปัด จากนั้นเผาที่อุณหภูมิสูง (ระหว่าง 800 และ 1200 องศาเซลเซียส) ซึ่งต้องอาศัยฝีมืออันประณีต ศิลปะแขนงนี้เปรียบเสมือนเปลวไฟที่คาดเดาไม่ได้และยากจะควบคุม จึงต้องผ่านการเผาหลายครั้งในเตาเฉพาะ เพื่อให้เกิดการหลอมรวมของส่วนประกอบและเม็ดสี สร้างมิติและความเงางามที่ทนทาน ซึ่งแต่ละครั้งที่เผาย่อมมีความเสี่ยงต่อการเสียหายได้
ความงดงามอันบริสุทธิ์
เรือนเวลา Classique รุ่นใหม่นี้มาพร้อมหน้าปัดที่โค้ทติ้งด้วยเทคนิค "Grand Feu" สีดำเข้ม ซึ่งเป็นหนึ่งในเฉดสีที่สร้างสรรค์ได้ยากที่สุด หน้าปัดที่งดงามเรียบเนียนรุ่นนี้ตกแต่งด้วยตัวเลขอารบิกในแบบฉบับของ Breguet และมีหลักแสดงเวลาที่เคลือบด้วยผงสีเงินซึ่งตัดกับพื้นหน้าปัดอย่างโดดเด่น เข็มนาฬิกาปลาย "พระจันทร์" ทำจากแผ่นโรเดียม ทำหน้าที่แสดงชั่วโมง นาที และวินาที ยิ่งเสริมความงดงามของตัวเรือน นอกจากนี้ตามธรรมเนียมของช่างนาฬิกาในศตวรรษที่ 18 เพื่อเป็นการยืนยันว่ารังสรรค์โดยการเคลือบสีโคทติ้งแบบ "Grand Feu” อย่างแท้จริง บนหน้าปัดจะเผยให้เห็นลายเซ็น Breguet ณ ด้านขวาของจุดศูนย์กลางสำหรับรุ่น 7787 และอยู่ระหว่างจุดศูนย์กลางกับตำแหน่ง 6 นาฬิกาสำหรับรุ่น 5177
นับว่า Classique 5177 ได้ถ่ายทอดปรัชญาการออกแบบของอับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ได้อย่างชัดเจนที่สุด โดยนำเสนอความงดงามของการบอกเวลาในแบบที่เรียบง่าย พร้อมกับช่องแสดงวันที่แบบ "tone-on-tone" ณ ตำแหน่ง 3 นาฬิกา ในขณะที่ Classique 7787 มาพร้อมกับฟังก์ชันการแสดงเวลาที่หลากหลายยิ่งขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล
ฟังก์ชั่น moon phase ในรุ่น Classique 7787 มาพร้อมกับการออกแบบที่คล้ายพัดคลี่ลงด้านล่าง หรือรูปทรงพระจันทร์เสี้ยวที่ดูเป็นมิตร ชวนให้เกิดจินตนาการอันโรแมนติก ดวงจันทร์ยามค่ำคืนที่รังสรรค์จากการตีแผ่นทองคำขึ้นรูป ปรากฏอยู่ท่ามกลางท้องฟ้าสีฟ้าเข้มพร่างพราวด้วยหมู่ดาว ซึ่งค่อยๆขับเคลื่อนไปตามรอบการโคจรของพระจันทร์เป็นเวลา 29.5 วัน โดยอยู่เหนือเข็มแสดงพลังงานสำรองที่ตำแหน่งส่วนล่างของหน้าปัด
กลไกที่ผลิตขึ้นเองภายในโรงงาน: ความแม่นยำและความเชื่อถือได้
Maison Breguet ยังคงสืบทอดสุดยอดความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคที่ก่อตั้งโดยอับราฮัม-หลุยส์ เบรเกต์ ณ กรุงปารีสเมื่อเกือบ 250 ปีก่อน ด้วยการสร้างสรรค์กลไกนาฬิกาที่มีนวัตกรรม ความแม่นยำ และความเชื่อถือได้ ซึ่งพัฒนาขึ้นในโรงงานผลิตของบริษัทที่ Vallée de Joux (วาลเลย์ เดอ ฌูส์) ในเทือกเขาจูรา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีกลไกขึ้นลานอัตโนมัติที่ขับเคลื่อน Classique 5177 และ Classique 7787 เผยโฉมผ่านฝาหลังคริสตัลแซฟไฟร์
กลไก 777 Q: หัวใจสำคัญ
ขับเคลื่อนด้วยความถี่มาตรฐานที่ 28,800 รอบต่อชั่วโมง กลไกนี้ประกอบด้วยชิ้นส่วน 237 ชิ้น รวมถึงบาลานซ์สปริงแบบ flat ทำจากซิลิคอน วัสดุที่ทนต่อการสึกหรอ การกัดกร่อน และยังต้านทานต่อแม่เหล็ก ซึ่ง Montres Breguet เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2006 โรเตอร์เคลือบโรเดียม 18 กะรัต แกะสลักลวดลาย "starry mosaic" ด้วยมือ ซึ่งเป็นดีไซน์พิเศษ สะท้อนความเอ็กซ์คลูซีฟด้วยคำว่า "Breguet special edition" ที่ถูกแกะสลักบนตัวโรเตอร์ ซึ่งส่งพลังงานให้กับบาร์เรลเดี่ยว ที่สามารถสร้างพลังงานสำรองได้นานถึง 55 ชั่วโมงเมื่อไขลานจนครบรอบ
กลไก 591 DRL: ความสมจริง
กลไกนี้ทำงานด้วยความถี่ 4 เฮิรตซ์ และประกอบด้วยชิ้นส่วนทั้งหมด 221 ชิ้น สามารถสำรองพลังงานได้ 38 ชั่วโมงเมื่อไขลานครบรอบ โรเตอร์ทองคำ 22 กะรัตเคลือบโรเดียมสลักด้วยเทคนิค guilloché เป็นลวดลาย "เมล็ดข้าวบาร์เลย์" เพิ่มแกนหมุนบนดิสก์มูนเฟสช่วยให้รอบการหมุนแสดงผลได้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยอยู่ที่ 29.5303498 วัน แทนที่จะเป็น 29.5 วัน ตามมาตรฐานของกลไกมูนเฟสทั่วไป ซึ่งทำให้ใกล้เคียงกับรอบโคจรจริงของดวงจันทร์ที่ 29.53058888 วัน ความคลาดเคลื่อนจึงเกิดขึ้นเพียงหนึ่งวันหลังจากผ่านไป 348.7 ปี
21 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567
21 พ.ย. 2567