Last updated: 23 พ.ย. 2564 | 1425 จำนวนผู้เข้าชม |
Audemars Piguet แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พัฒนาเพื่อความก้าวหน้าไปอีกขั้นด้วยการสร้าง 2 สถาปัตยกรรมใหม่แบบโมดูลาร์ (Modular) ในสไตล์ร่วมสมัยที่สามารถดัดแปลงการใช้งานได้ตามความต้องการของแบรนด์ในอนาคต โดยสถาปัตยกรรมแรก ภายใต้ชื่อ “Manufacture des Saignoles” ในเมืองเลอ ล็อกค์ (Le Locle) ได้เปิดต้อนรับพนักงานของแบรนด์ไปเมื่อไม่นานมานี้ หลังจากที่ใช้เวลาก่อสร้างถึง 3 ปี ส่วนสถาปัตยกรรมอีกแห่ง ภายใต้ชื่อ “Arc” เพิ่งได้มีการวางศิลาเพื่อเริ่มต้นงานก่อสร้างเช่นกัน อาคารนี้ถูกตั้งอยู่ติดกันกับ “Manufacture des Forges” ในเมืองเลอ บราซูส์ โดยโปรเจคสถาปัตยกรรมขนาดใหญ่ทั้งสองนี้ สะท้อนถึงแนวคิดที่ยั่งยืนและวัฒนธรรมการทำงานของโอเดอมาร์ ปิเกต์ที่ยืดหยุ่นและเป็นอิสระมากขึ้น ทั้งยังตอกย้ำถึงความทุ่มเทของแบรนด์ในด้านสถาปัตยกรรมที่พัฒนานวัตกรรมเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
อาคาร Manufacture des Saignoles อาคารเวิร์คช็อปหลังใหม่ของโอเดอมาร์ ปิเกต์ เลอ ล็อกค์
© ภาพลิขสิทธิ์จากโอเดอมาร์ ปิเกต์และอิวาน บาน (Iwan Baan)
สถาปัตยกรรมล้ำสมัยที่กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม
สถาปัตยกรรม Manufacture des Saignoles ตั้งอยู่ในเมืองเลอ ล็อกค์ เป็นสถานที่ตั้งของเวิร์คช็อป Audemars Piguet Le Locle หรือที่ก่อนหน้านี้รู้จักกันในชื่อ “เรอโนด์ & ปาปี (Renaud & Papi)” ซึ่งเป็นเวิร์คช็อปที่เชี่ยวชาญด้านกลไกนาฬิกาคอมพลิเคชั่น โดยสถาปัตยกรรมแห่งใหม่นี้เริ่มสร้างในปี 2018 และเสร็จสิ้นในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 2021 ด้วยตัวอาคารชั้นเดียวที่มีพื้นที่ 10,400 ตารางเมตร มีการกระจายระดับของอาคารให้ตอบรับกับสภาพภูมิประเทศและการทำงานของสายการผลิต สถาปัตยกรรมนี้ถูกออกแบบให้กลมกลืนกับสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นหุบเขาได้อย่างลงตัว พร้อมนำทุ่งหญ้า ที่ลุ่ม และป่าไม้โดยรอบมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ ซึ่งโปรเจคนี้ถูกดีไซน์โดยบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรม สัญชาติสวิสอย่าง “คูนิค เดอ มอร์ซิเออร์ (Kuník de Morsier)” โดยงานออกแบบครั้งนี้คำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่และความสะดวกสบายของพนักงานในอาคาร ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการใช้แสงธรรมชาติและเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกด้วย หนึ่งในจุดเด่นของ Manufacture des Saignoles คือหน้าต่างบานใหญ่ที่ผลิตจากกระจกเซจกลาส (SageGlass®) ซึ่งเป็นกระจกปรับเปลี่ยนสีจากปฏิกิริยาไฟฟ้าเคมี (Electrochromic glass) ที่สามารถเปลี่ยนสีได้ตามแสงธรรมชาติ พร้อมช่วยประหยัดพลังงาน นอกจากช่วยให้แสงส่องผ่านเข้ามาในแต่ละเวิร์คช็อปได้อย่างทั่วถึง กระจกประเภทนี้ยังช่วยควบคุมอุณหภูมิได้ตลอดทั้งปี ทั้งยังมอบทัศนียภาพโดยรอบได้อย่างเต็มตา สถาปัตยกรรมที่ใช้งานแสงธรรมชาติได้อย่างดีเยี่ยมแห่งนี้ได้รับการพัฒนาขึ้นร่วมกันกับมาริลีน แอนเดอร์เซ็น (Marilyne Andersen) ศาสตราจารย์ด้านเทคนิคการก่อสร้างที่ยั่งยืน จากสถาบันเทคโนโลยีโลซานแห่งสมาพันธรัฐสวิส (Swiss Federal Institute of Technology Lausanne, EPFL) ผู้ความเชี่ยวชาญด้านการใช้แสงธรรมชาติเพื่อความเป็นอยู่โดยนำมาใช้ในการพัฒนาพื้นที่การทำงานให้ตอบโจทย์งานแต่ละประเภทโดยเฉพาะ
ส่วนสถาปัตยกรรม “Arc” ในเมือง Le Brassus (เลอ บราซูส์) ดีไซน์โดย “เดอ จูลี เอ ปอร์ติเยร์ อาร์คิเต็ก (De Giuli & Portier Architectes)” บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมสัญชาติสวิสที่ได้รับมอบหมายโดยบริษัท สไตน์เนอร์ (Steiner SA) อาคารรูปตัวยูแห่งใหม่นี้มีพื้นที่รวม 17,000 ตารางเมตร ถูกแบ่งเป็น 3 ชั้นพร้อมทั้งชั้นใต้ดินซึ่งเป็นส่วนของห้องเทคนิค โดยสถาปัตยกรรมแห่งนี้เชื่อมต่อกับ Manufacture des Forges ที่เปิดดำเนินการอยู่แล้วในปัจจุบัน เมื่อ Arc สร้างเสร็จ อาคารทั้ง 2 แห่งจะถูกรวมกันเป็นหนึ่ง พร้อมกลายเป็นศูนย์รวมในการผลิตทั้งหมดของ Audemars Piguet ที่ปัจจุบันกระจายอยู่ทั่ววัลเลย์ เดอ ฌูซ์ (Vallée de Joux) การก่อสร้างเริ่มต้นขึ้นแล้วในฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา มีแผนว่าจะแล้วเสร็จในปี 2025 ระหว่างการก่อสร้างโปรเจคนี้ยังถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยโครงสร้างแบบโมดูลาร์ที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับการใช้งานให้ตอบรับความต้องการในอนาคตของบริษัทได้ ทั้งยังนำเสนอเทคโนโลยีระดับแนวหน้าด้วยการใช้แสงธรรมชาติเป็นหลักจากกระจกเซจกลาส ทั้งนี้สถาปัตยกรรม Arc ชิ้นนี้ยิ่งเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของโอเดอมาร์ ปิเกต์ในการออกแบบสถาปัตยกรรมสไตล์อาว็อง-การ์ด (Avant-garde) ที่ยังใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
โครงสร้างแบบโมดูลาร์พร้อมพื้นที่การใช้งานที่เชื่อมต่อกัน
Manufacture des Saignoles แห่งใหม่นี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อรองรับระบบการทำงานที่เชื่อมกัน และช่วยส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ การสื่อสารพร้อมเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน โครงสร้างโมดูลาร์ภายในสามารถปรับการใช้งานให้เข้ากับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาของพนักงานพร้อมช่วยให้การทำงานเป็นทีมง่ายยิ่งขึ้น การจัดระเบียบพื้นที่ของอาคารทรงเรขาคณิตนี้ใช้ผนังกระจกกั้นซึ่งสามารถมองเห็นกันได้ชัดเจนระหว่างเวิร์คช็อป พร้อมช่วยเรื่องการสื่อสารระหว่างพนักงาน นอกจากนี้ ผู้มาเยี่ยมเยือนยังสามารถชื่นชมการทำงานอย่างพิถีพิถันของช่างนาฬิกาได้จากระยะไกล อาคารใหม่แห่งนี้ยังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้อาศัยและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล พร้อมยังมีส่วนที่เรียกว่า “Piazza” ที่ตั้งอยู่ตรงกลางอาคารจะเป็นพื้นที่ส่วนรวมที่เปิดโอกาสให้พนักงานมากถึง 190 คนสามารถเข้ามาพบปะ พูดคุย และผ่อนคลายร่วมกันได้
สำหรับโปรเจคการสร้าง Arc ซึ่งอยู่ติดกับ Manufacture des Forges ยังคงใช้หลักการเดียวกัน นั่นก็คือความยืดหยุ่นในการใช้งานและพื้นที่ใช้สอยที่เชื่อมต่อกัน โดยโปรเจคนี้ริเริ่มขึ้นในปี 2019 และได้รับการปรับเปลี่ยนหลังเกิดการระบาดใหญ่ของโควิดในปี 2020 และ 2021 ซึ่งยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการสร้างพื้นที่ทำงานที่มีสัดส่วนแยกจากกัน และเช่นเดียวกันกับอาคาร Manufacture des Saignoles อาคาร Arc แห่งนี้ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลและความเป็นอยู่ที่ดีของช่างนาฬิกา จึงทำให้มีการสร้างพื้นที่ส่วนรวมเล็ก 3 จุดสำหรับผ่อนคลายและพบปะพูดคุยกัน หน้าต่างที่ผลิตจากกระจกอิเล็กโทรโครมิกช่วยให้แสงส่องผ่านเข้ามาในเวิร์คช็อปได้ พร้อมมอบทัศนียภาพโดยรอบที่งดงามปราศจากสิ่งกีดขวาง นอกจากนี้ยังมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่คอร์ตยาร์ตระหว่าง Arc และ Manufacture des Forges ให้กลายเป็นสวนอีกด้วย
ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคต
เพื่อตอกย้ำแนวคิดพื้นฐานด้านการใส่ใจสิ่งแวดล้อมของโอเดอมาร์ ปิเกต์ สถาปัตยกรรมล้ำสมัยทั้ง 2 แห่งนี้ ถูกวางโครงสร้างตามข้อกำหนดมาตรฐานการใช้พลังงานต่ำในอาคาร หรือ มิเนอร์จี้® (Minergie®) โดยอาคาร Arc นั้นตรงตามมาตรฐานถึงระดับมิเนอจี้-อีโค® (Minergie-ECO®) ในแง่ของการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับต่ำและสถาปัตยกรรมที่ดีไซน์ภายในแบบโมดูลาร์
สำหรับสถาปัตยกรรม Manufacture des Saignoles ไม่มีการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระบบทำความร้อน โดยทดแทนด้วยการผสานระบบเตาไม้ทำความร้อน 2 เตา ตัวปั๊มความร้อน และระบบนำของเสียจากความร้อนกลับมาใช้ใหม่ไว้ด้วยกัน นอกจากนี้ ในอาคารยังมีระบบที่ป้องกันกระแสลมเพื่อช่วยรักษาอุณหภูมิได้ตลอดทั้งปี ส่วนหลังคายังมีการติดตั้งด้วยแผงโซลาร์เซลล์ 300 แผง ครอบคลุมพื้นที่รวม 480 ตารางเมตร ที่มีความจุไฟฟ้า 80 กิโลวัตต์
ณ เมืองเลอ บราซูส์ กระบวนการการออกแบบอาคาร Arc ได้คำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นสำคัญ โปรเจคนี้พัฒนาด้วยมุมมองทางนิเวศวิทยาที่มาประยุกต์ใช้กับการวางแผนการใช้สอยที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนหลังคาที่เป็นสวนจะถูกสร้างให้เป็นระบบนิเวศน์สำหรับแมลงและนก แต่ยังคงไว้ให้เห็นถึงทัศนียภาพแบบพาโนรามาของช่องเขามาร์เชรูซ์ (Marchairuz pass) กลมกลืนไปกับทุ่งหญ้าในวัลเลย์ เดอ ฌูซ์ โปรเจคนี้มีแผนการจัดการพลังงานที่ล้ำสมัย ทั้งการใช้ความร้อนที่เหลือทิ้งจากอุตสาหกรรม อาคาร Arc ยังจะเชื่อมต่อกับ “เลอ บราซูส์ บัวส์ (Le Brassus Bois)” ระบบทำความร้อนจากระยะไกลที่ใช้ไม้เป็นหลักและปลอดเชื้อเพลิงจากฟอสซิลซึ่งอยู่ติดกับสถานีรถไฟพร้อมมีแผงโซลาร์เซลล์ที่ทำให้อาคารมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับการใช้วัสดุก่อสร้างที่หมุนเวียนได้ที่ถูกต้องตามข้อกำหนดของมิเนอจี้-อีโค® โดยข้อกำหนด “อีโค” นี้ยังได้คำนึงถึงประเด็นด้านสุขภาพและการก่อสร้างเชิงนิเวศอีกด้วย
เพื่อเพิ่มชีวิตให้กับส่วนโค้งด้านหน้าของอาคารที่มีความยาว 350 เมตร ทีมสถาปนิกยังได้แนะนำระบบกรอบโลหะที่ช่วยลดความเสี่ยงในการชนของนกและลดแสงสะท้อนที่ทำให้ผู้ใช้อาคารไม่สบายตา นอกจากนี้ยังแก้ไขกรณีน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นด้วยการยกตัวอาคารขึ้นสูง 80 เซนติเมตร ซึ่งน้ำสามารถไหลผ่านไปตามทางน้ำตามธรรมชาติโดยสภาพภูมิประเทศเดิมไม่ถูกเปลี่ยนแปลง และอาคาร Arc นี้ถูกสร้างห่างจากสถานีรถไฟเลอ บราซูส์ เพียงไม่กี่ก้าวซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องที่จอดรถให้ผู้คนที่มาร่วมกิจกรรมสุดสัปดาห์ อีกทั้งบริษัทยังได้จัดทำโปรแกรมคาร์พูลในองค์กรและเพิ่มการทำงานระยะไกลสำหรับงานบางตำแหน่งด้วย
สำหรับ Manufacture des Saignoles นั้น Audemars Piguet ได้สนับสนุนการพัฒนารถประจำทางสาย TransN โดยร่วมมือกับทรานส์ปอร์ต พับลิกส์ เนอชาเทลัวส์ เอสเอ (Transports Publics Neuchâtelois) บริษัทขนส่งสาธารณะของสวิตเซอร์แลนด์เพื่อเชื่อมต่อศูนย์กลางเมืองเลอ ล็อกค์กับเขตอุตสาหกรรมของ Saignoles ซึ่งในเวลานี้ได้มีป้ายรถประจำทางที่จอดโดยตรงแล้ว
26 ก.ย. 2567
8 ต.ค. 2567
16 ต.ค. 2567
7 ต.ค. 2567