Last updated: 20 ก.ย. 2567 | 823 จำนวนผู้เข้าชม |
Audemars Piguet (โอเดอมาร์ ปิเกต์) แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดตัวนาฬิการุ่น Royal Oak Concept Split-Seconds Chronograph GMT Large Date ขนาดหน้าปัด 43 มิลลิเมตรรุ่นใหม่ พร้อมเลือกใช้คาร์บอนหลอมสีใหม่หมดจดเป็นครั้งแรก วัสดุสีดำลุ่มลึกที่รังสรรค์ขึ้นภายในเวิร์คช็อปเพื่อการวิจัยและพัฒนาของ Audemars Piguet โดยใช้เทคโนโลยีการหลอมขึ้นรูปสี หรือซีเอฟที (Chroma Forged Technology: CFT) นี้ เผยให้เห็นสุนทรียะใหม่ที่งดงามของการแต้มสัมผัสของสีสันที่มีความนุ่มนวลเข้ามา ซีเอฟทีคาร์บอนที่ปราศจากรูพรุนนี้ยังทนทานต่อความชื้น ความร้อน และแรงกระแทกได้อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ตัวเรือนส่วนกลางคาร์บอนหลอมน้ำหนักเบาเป็นพิเศษของ Royal Oak Concept เรือนใหม่ซึ่งมาพร้อมเม็ดสีเรืองแสงสีน้ำเงินนี้ ดูโดดเด่นยิ่งขึ้นด้วยรายละเอียดของขอบตัวเรือน เม็ดมะยม ปุ่มกด และฝาหลังเซรามิกสีดำ นาฬิกาสีทูโทนเรือนนี้ยังมาพร้อมหน้าปัดโทนสีเข้มแต้มด้วยรายละเอียดของสีน้ำเงินอิเล็คทริกบลู การผสมผสานรายละเอียดของกลไกการสร้างสรรค์เรือนเวลาอันซับซ้อนเข้ากับดีไซน์ที่มีความร่วมสมัยสุดขั้ว ช่วยให้นาฬิกาเรือนนี้เผยให้เห็นความมุ่งมั่นต่อการค้นหานวัตกรรมใหม่ ๆ ดั่งที่แบรนด์มีความมุ่งมั่นอย่างไม่หยุดนิ่งนับตั้งแต่วันก่อตั้ง
สิ่งที่ทำให้วัสดุชนิดนี้แตกต่างไปจากคาร์บอนรุ่นก่อน ๆ ก็คือ เทคโนโลยีซีเอฟทีของ Audemars Piguet ที่ช่วยให้สามารถลงสีไปในคาร์บอนไฟเบอร์ได้โดยตรงแทนเรซิน และสามารถจัดเรียงได้ตามต้องการในชิ้นส่วนที่ผลิตขึ้น นำไปสู่การเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างหลากหลาย และเนื่องจากมีปริมาณเรซินน้อยกว่าคาร์บอนหลอมทั่วไป จึงทำให้คาร์บอนประเภทนี้เกิดรอยขีดข่วนได้น้อยกว่า
กระบวนการผลิตประกอบด้วยหลายขั้นตอนและต้องอาศัยความเชี่ยวชาญระดับสูง คาร์บอนไฟเบอร์จะถูกตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อนลงสีด้วยเม็ดสี และเพราะการลงสีหลากสีสามารถทำได้ จึงยังผลให้เกิดการพัฒนาเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างกว้างไกล จากนั้น ขั้นตอนต่อไปคือการนำชิ้นส่วนคาร์บอนที่ลงสีแล้วไปวางในแม่พิมพ์ตามดีไซน์ที่ต้องการด้วยมือ แล้วจึงปิดท้ายด้วยเรซิน ขั้นตอนนี้ต้องมีการทำซ้ำเพื่อสร้างเลเยอร์หลายชั้นในแบบที่คล้ายกับขนมมิลล์เฟยของฝรั่งเศส จากนั้นวัสดุที่อยู่ในแม่พิมพ์จะถูกบีบอัดเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่ปราศจากฟองอากาศ ท้ายที่สุด ชิ้นงานที่ได้ออกมาจะถูกนำไปใส่ในเครื่องอบความร้อนสูงด้วยไอน้ำเพื่อให้แห้งภายใต้แรงดันประมาณ 10 ชั่วโมง ก่อนจะเผยคุณสมบัติของเรซินและผลิตออกมาเป็นก้อนคาร์บอนที่ถูกนำมากลึงเป็นเวลา 6-8 ชั่วโมงเพื่อสร้างชิ้นส่วนขั้นสุดท้าย
เนื่องจากขั้นตอนการผสมต้องทำด้วยมือ ตัวเรือนส่วนกลางแต่ละชิ้นที่ผลิตขึ้นจึงมีลวดลายที่แตกต่างกันเล็กน้อย ทำให้แต่ละชิ้นงานเป็นชิ้นงานที่ทั้งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และผสมผสานเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยเข้ากับความเชี่ยวชาญของช่างฝีมือจากเลอ บราซูส์ได้อย่างโดดเด่น
“Audemars Piguet เป็นแบรนด์แรกที่เลือกใช้คาร์บอนหลอมในการสร้างสรรค์เรือนเวลา นับตั้งแต่ปี 2007 และหลังผ่านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปีเต็ม เรามีความภาคภูมิใจที่ได้นำเสนอเจเนอเรชันใหม่ล่าสุดของคาร์บอนหลอม ซึ่งสามารถลงสีได้โดยยังคงรักษาไว้ซึ่งคุณสมบัติเชิงกลไกที่ยอดเยี่ยมไว้ได้ดังเดิม”
ลูคัส แรกกี (Lucas Raggi) / ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา Audemars Piguet กล่าว
สุนทรียะล้ำอนาคต
นาฬิการุ่น Royal Oak Concept Split-Seconds Chronograph GMT Large Date ขนาดหน้าปัด 43 มิลลิเมตรเรือนใหม่นี้ ผสานความซับซ้อนของการสร้างสรรค์เรือนเวลา วัสดุที่เป็นนวัตกรรม หลักสรีรศาสตร์ และสุนทรียะของการออกแบบที่โดดเด่นในดีไซน์แบบทูโทนที่จับคู่โทนสีเข้มขรึมของหน้าปัดฉลุกับสีน้ำเงินอิเล็คทริกบลูที่ช่วยมอบสัมผัสของความทันสมัย
ตัวเรือนส่วนกลางซีเอฟทีคาร์บอนนั้นมีน้ำหนักเบาเป็นพิเศษ โดดเด่นด้วยรายละเอียดของไฟเบอร์สีน้ำเงินที่ส่องสว่างในที่มืด ช่วยเพิ่มลูกเล่นที่สวยงามน่ามองให้กับนาฬิกา นอกจากนี้ยังเสริมด้วยขอบตัวเรือนเซรามิกสีดำที่ผ่านการขัดแบบซาตินอีกด้วย การเก็บรายละเอียดสุดท้ายอย่างพิถีพิถันนี้ยังสามารถมองเห็นได้ ทั้งที่เม็ดมะยม ฝาหลัง และปุ่มกดเซรามิกสีดำ ตัวเรือนและเม็ดมะยมถูกออกแบบให้มีรูปทรงโค้งเล็กน้อยเพื่อให้รับกับรูปทรงตามธรรมชาติของข้อมือ กรอบปุ่มกดที่ตำแหน่ง 2, 4 และ 9 นาฬิกาเล่นกับรายละเอียดแบบคอนทราสต์ด้วยไทเทเนียมเพื่อให้ดูตัดกันกับชิ้นส่วนที่เบากว่าของหน้าปัดแบบฉลุ
หน้าปัดแบบฉลุได้รับการออกแบบให้เหมือนบริดจ์ของกลไก โดยเป็นผลลัพธ์ของการตัดที่มีความแม่นยำสูง ช่องวงกลมถูกตัดให้เป็นแผ่นนิกเกิลซิลเวอร์ที่ถูกขัดแบบพ่นทรายแผ่นเดียว แล้วเคลือบด้วยพีวีดีสีดำ และตกแต่งด้วยขอบเอียงโทนสีโรเดียมที่ขัดด้วยเพชร เพื่อเผยให้เห็นกลไกขนาดเล็กบางส่วนที่เดินอยู่ภายใน ดีไซน์แบบทูโทนช่วยเพิ่มความลึกและรายละเอียดของการเล่นของแสงให้กับนาฬิกาที่ฉีกกฎเกณฑ์เรือนนี้ ซึ่งยิ่งฉีกกฎขึ้นไปอีกเมื่อไม่มีโลโก้บนหน้าปัด และเพื่อให้กลมกลืนไปกับสีน้ำเงินของตัวเรือนส่วนกลาง ขอบตัวเรือนด้านในและขอบด้านนอกของหน้าปัดเล็กทั้ง 3 หน้าปัดจึงมาพร้อมเฉดสีน้ำเงินอิเล็คทริกบลู ตัดกับกลไกโทนสีเทาและดำ ช่วยเพิ่มความชัดเจนในการอ่านเวลาให้มากขึ้น
รูปลักษณ์ล้ำอนาคตถูกขับเน้นให้โดดเด่นด้วยเครื่องหมายบอกหลักชั่วโมงและเข็มนาฬิกาไวท์โกลด์ที่เคลือบด้วยวัสดุเรืองแสงเช่นเดียวกันกับเข็มนาฬิกาบนหน้าปัดเล็ก ซึ่งจะมองเห็นเป็นสีขาวในเวลากลางวันแต่เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินในที่มืด สุดท้าย มาตรวัด tachymeter บนขอบตัวเรือนด้านในและการไล่เฉดสีบนหน้าปัดเล็กใช้สีขาวเพื่อให้สามารถบอกเวลาได้อย่างดีที่สุด
นาฬิกาเรือนนี้ยังมาพร้อมสายยางสีน้ำเงินตัดด้วยสีดำเพื่อมอบสัมผัสแห่งความสปอร์ต พร้อมด้วยระบบเปลี่ยนสายนาฬิกาได้เอง ซึ่งถูกเปิดตัวออกมาครั้งแรกในคอลเลกชันนาฬิการุ่น Royal Oak Concept ขนาดหน้าปัด 43 มิลลิเมตรในปี 2023 โดยยังมาพร้อมกับสายนาฬิกาสำรองที่เป็นสายยางสีดำน้ำเงินอีกหนึ่งเส้น
“นาฬิกาซีเอฟทีคาร์บอนใหม่นี้นับเป็นเครื่องพิสูจน์ทั้งความเชี่ยวชาญของทีมงานและความมุ่งมั่นของAudemars Piguet ในการแสวงหานวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างไม่รู้จบ อันเป็นแรงผลักดันสำหรับแบรนด์มานับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1875 นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้เราได้สำรวจความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ด้วยคำมั่นสัญญาว่า จะมีเซอร์ไพรส์อีกมากมายมามอบให้กับผู้ที่มีความหลงใหลในเรือนเวลาชั้นสูงในอีกหลายปีต่อจากนี้”
อิลาเรีย เรสตา (Ilaria Resta) / ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Audemars Piguet กล่าว
กลไกไฮเทคที่ใช้งานง่าย
นาฬิการุ่นนี้ใช้กลไกอัตโนมัติของคาลิเบอร์ 4407 ซึ่งเป็นผลงานสร้างสรรค์ทางวิศวกรรมเครื่องกลและอุตสาหการที่ผสมผสานทั้งกลไกฟลายแบ็กโครโนกราฟ กลไก split second กลไก GMT และการแสดงวันที่ขนาดใหญ่ กลไกซึ่งได้รับการเปิดตัวครั้งแรกในปี 2023 นี้ ต่อยอดมาจากกลไกฟลายแบ็กโครโนกราฟรุ่นล่าสุดของAudemars Piguet ซึ่งเปิดตัวในปี 2019 ในคอลเลกชัน Code 11.59 by Audemars Piguet และแม้ว่ากลไกนี้จะเป็นกลไกนาฬิกาที่มีความซับซ้อนสูง ทว่ากลับได้รับการออกแบบให้สามารถผสานดีไซน์ที่สอดรับกับหลักสรีรศาสตร์และแนวคิดเรื่องความง่ายดายในการใช้งานได้อย่างลงตัว
สิ่งที่แตกต่างไปจากกลไกโครโนกราฟทั่วไปก็คือ ฟังก์ชันฟลายแบ็กของนาฬิกาเรือนนี้ช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถรีเซ็ตและรีสตาร์ทการจับเวลาได้โดยไม่ต้องกดให้หยุดก่อน column wheel จะทำงานร่วมกับระบบคลัตช์แนวตั้ง เมื่อเริ่มหรือหยุดโครโนกราฟ เข็มนาฬิกาจะตอบสนองตามนั้นโดยไม่มีการกระโดด นอกจากนี้ กลไกการรีเซ็ตเป็นศูนย์ที่จดสิทธิบัตรแล้วยังช่วยให้มั่นใจได้ว่า เข็มจับเวลาโครโนกราฟและเข็ม split second จะถูกรีเซ็ตเป็นศูนย์ในทันที
กลไก split second ช่วยให้สามารถวัดช่วงเวลาระหว่างกลางได้ด้วยการเพิ่มเข็มวินาทีที่สามารถหยุดอย่างอิสระจากเข็มโครโนกราฟเมื่อกดปุ่มเฉพาะเพื่อเปิดใช้งาน และเมื่อกดปุ่มอีกครั้ง เข็ม split second ก็จะตามเข็มนาฬิกาที่กำลังเดินไปให้ทันเพื่อเดินต่อไปอย่างพร้อมเพรียงกันรอบหน้าปัด การทำแบบนี้สามารถทำซ้ำได้ตามต้องการ ปุ่มกดที่ตำแหน่ง 9 นาฬิกาถือเป็นการแสดงความเคารพต่อนาฬิกา Royal Oak Concept Laptimer (2015) ซึ่งเป็นนาฬิกาจักรกลเรือนแรกที่สามารถวัดรอบเวลาติดต่อกันบนสนามแข่ง โดยเป็นการพัฒนาร่วมกับไมเคิล ชูมัคเกอร์ ทั้งนี้ เพื่อลดความสูงของกลไก โดยกลไก split second ได้ถูกรวมไว้ภายในความหนาของตลับลูกปืนของโรเตอร์กึ่งรอบนอก และตอนนี้สามารถมองเห็นได้ผ่านฝาหลังประดับแซฟไฟร์เหมือนในนาฬิกาพกพาและนาฬิกาข้อมือแบบไขลาน วงล้อ split second และแคลมป์ 2 ตัวซึ่งโดยทั่วไปมักจะถูกซ่อนไว้ไม่ให้มองเห็นสำหรับนาฬิกาอัตโนมัติ สามารถมองเห็นได้ตรงกลาง oscillating weight แพลทินัม ใต้บริดจ์รูปตัว X ที่ยึดกลไกต่าง ๆ ให้เข้าที่
นาฬิกาสุดล้ำสมัยเรือนนี้ยังมีฟังก์ชัน GMT ซึ่งแสดงเวลากลางวันและกลางคืนที่ตำแหน่ง 3 นาฬิกา ช่วยให้สามารถอ่านโซนเวลาที่สองได้ทันที การตั้งเวลาสามารถทำได้โดยใช้ปุ่มกดที่แกนเดียวกับเม็ดมะยมตรงตำแหน่ง 3 นาฬิกา (กดหนึ่งครั้ง เวลาจะเลื่อนไปหนึ่งชั่วโมง) ระบบ GMT ตั้งอยู่บนแผ่นดิสก์และเข็มนาฬิกาที่หมุนด้วยความเร็วที่ต่างกัน เข็มชั่วโมงจะหมุนครบรอบใน 12 ชั่วโมง ขณะที่ดิสก์บอกเวลากลางวันและกลางคืนจะหมุนครบรอบใน 24 ชั่วโมง พื้นผิวสองสีช่วยให้สามารถอ่านเวลาได้ง่าย สีขาวสำหรับเวลากลางวันและสีดำสำหรับเวลากลางคืน ส่วนสุดท้ายคือวันที่ขนาดใหญ่ที่ตำแหน่ง 12 นาฬิกาที่ช่วยให้อ่านเวลาได้ง่ายขึ้นด้วยรูปลักษณ์แบบดิจิทัล ดูสมมาตรและลงตัวไปกับหน้าปัดเล็กนับวินาทีที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา
คาลิเบอร์ 4407 พร้อมฟังก์ชันที่มีความร่วมสมัยเป็นพิเศษและสปริงบาลานซ์แบบไม่ใช่แม่เหล็กพร้อมโอเวอร์คอยล์ของ Breguet นี้ ยังคงรักษาประเพณีการสร้างสรรค์เรือนเวลาชั้นสูงไว้ได้อย่างเหนียวแน่นด้วยรายละเอียดการตกแต่งสุดหรูหรา ทั้งการขัดแบบพ่นทราย การขัดแบบซาตินเป็นวงกลม เทคนิค “เซอร์คิวลาร์ เกรนิง” (Circular Graining) และการขัดเงาลบมุม ซึ่งทั้งหมดสามารถมองเห็นได้ผ่านฝาหลังประดับแซฟไฟร์
ผู้บุกเบิกงานสร้างสรรค์วัสดุคาร์บอน
เป็นเวลาครึ่งศตวรรษมาแล้วที่อุตสาหกรรมนาฬิกาสวิสได้สำรวจการสร้างสรรค์วัสดุชนิดใหม่ ๆ หลากหลายประเภท ทั้งไทเทเนียม พลาสติก เซรามิก ไม้ และยาง Audemars Piguet นับว่าเป็นผู้นำในการเสาะแสวงหาการสร้างสรรค์วัสดุเหล่านี้ เริ่มจากการยกระดับการใช้สตีลในปี 1972 ตามด้วยการแนะนำแทนทาลัมออกมาในปี 1988 อะลาไครต์ในปี 2002 คาร์บอนหลอมในปี 2007 เซอร์เมตในปี 2010 และรูปแบบแรกของบีเอ็มจีอันสูงค่าในปี 2021
เวอร์ชันแรกของคาร์บอนซึ่งหยิบยืมมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์และมีลักษณะคล้ายผ้าถูกนำมาใช้ในการสร้างสรรค์เรือนเวลานับตั้งแต่ปี 1998 ไฟเบอร์ขนาดยาวถูกทอเข้าด้วยกันเพื่อสร้างพื้นผิวที่มีความทนทานสูง Audemars Piguet ใช้เทคนิคนี้เป็นครั้งแรกในปี 2004 เพื่อนำมาหุ้มขอบตัวเรือนของนาฬิการุ่น Royal Oak Offshore Juan Pablo Montoya (26030RO)
ในปี 2007 Audemars Piguet ได้นำคาร์บอนหลอม ซึ่งเป็นวัสดุที่เคยใช้สำหรับการผลิตใบพัดของเฮลิคอปเตอร์มาก่อน เข้ามาสู่โลกแห่งการสร้างสรรค์เรือนเวลา คาร์บอนหลอมแตกต่างจากคาร์บอนทั่วไปตรงการเป็นคาร์บอนเส้นสั้นที่ถูกวางแบบสุ่มลงไปในเรซิน ทำให้มีความแข็งแรงในการบิดตัวสูงในทุกทิศทาง วัสดุนี้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกโดย Audemars Piguet ในนาฬิการุ่น Royal Oak Offshore Alinghi Team Chronograph ขนาดหน้าปัด 44 มิลลิเมตร (26062FS) ซึ่งเป็นเรือนเวลาที่ผลิตขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ทีมเรือใบของสวิตเซอร์แลนด์
หลังความสำเร็จของนาฬิกาที่ผลิตออกมา 1,300 เรือนนี้ ยังมีการผลิตนาฬิกาคาร์บอนหลอมออกมาอีกหลายรุ่น รวมถึงรุ่น Millenary Carbon One (26152AU) ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 70 กรัมเพราะใช้ตัวเรือนคาร์บอนหลอมและไทเทเนียม นาฬิกาเรือนนี้เปิดตัวออกมาในปี 2009 ในจำนวนจำกัดเพียง 120 เรือน ในปีต่อมา คอลเลกชัน Royal Oak Offshore ได้นำคาร์บอนหลอมมาใช้ในรุ่น Royal Oak Offshore Grand Prix (26290IO) โดยนาฬิกาอัตโนมัติโครโนกราฟขนาดหน้าปัด 44 มิลลิเมตรเรือนนี้ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากสนามแข่งรถ มาพร้อมตัวเรือนที่ผสมผสานไว้ทั้งคาร์บอนหลอม ไทเทเนียม และเซรามิก เผยให้เห็นการผสมผสานหลากหลายทักษะความเชี่ยวชาญของ Audemars Piguet ได้อย่างโดดเด่น
ในปี 2015 Audemars Piguet เปิดตัวนาฬิกา Royal Oak Concept Laptimer (26221FT) ร่วมกับแชมป์แข่งรถชื่อดังอย่างไมเคิล ชูมัคเกอร์ นาฬิกาโครโนกราฟที่ปฏิวัติวงการเรือนนี้เป็นนาฬิกาจักรกลเรือนแรกที่มีฟังก์ชัน Laptimer สำหรับวัดรอบเวลาต่อเนื่องบนสนามแข่ง โดยบรรจุอยู่ในตัวเรือนขนาด 44 มิลลิเมตรที่ใช้ทั้งคาร์บอนหลอม ไทเทเนียม เซรามิก และพิ้งค์โกลด์
คาร์บอนหลอมปรากฏโฉมครั้งล่าสุดที่Audemars Piguet ในปี 2016 บนนาฬิการุ่น Royal Oak Offshore Chronograph QE II Cup (26406FR) และในวันนี้ Audemars Piguet ได้เปิดตัวซีเอฟทีคาร์บอนสุดไฮเทคใหม่ที่พรั่งพร้อมทั้งความทนทานและเผยความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการทำงานสร้างสรรค์เรือนเวลา ที่พร้อมพาทุกคนก้าวเข้าสู่เขตแดนใหม่ ๆ ในอีกหลายปีข้างหน้า
“ปี 2024 ถือเป็นหมุดหมายแห่งประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญสำหรับAudemars Piguet ในแง่ของการสร้างสรรค์วัสดุใหม่ ๆ เพราะเราสามารถคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยต่อยอดการสร้างสรรค์วัสดุเซรามิกและทองคำหลากสี รวมไปถึงเจเนอเรชันใหม่ของคาร์บอนหลอมที่ปราศจากรูพรุนโดยสิ้นเชิง”
เซบาสเตียน วิวาส (Sébastian Vivas) / ผู้อำนวยการฝ่ายประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ Audemars Piguet กล่าว
“Seek Beyond.”
1 พ.ย. 2567
6 พ.ย. 2567
7 พ.ย. 2567
5 พ.ย. 2567