Last updated: 27 ก.พ. 2568 | 391 จำนวนผู้เข้าชม |
เป็นเวลา 150 ปีเต็ม ที่ Audemars Piguet ได้คิดค้นและสร้างสรรค์กลไกอันซับซ้อน ด้วยแรงผลักดันจากความหลงใหลที่มีร่วมกันและจิตวิญญาณที่เปี่ยมด้วยอิสระ ช่างนาฬิกาและช่างฝีมือมากความสามารถหลายชั่วอายุคนได้ทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันขอบเขตในการทำงาน และสร้างความประหลาดใจให้กับลูกค้าหลากหลายกลุ่มด้วยเรือนเวลาที่มาพร้อมกลไกอันซับซ้อนในหลากขนาดหลายดีไซน์ที่เปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์ และเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองประวัติศาสตร์ที่สืบสานมาอย่างยาวนานนี้ Audemars Piguet แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงได้ขยายคอลเลกชันเรือนเวลาเพิ่มเติมด้วยการแนะนำนาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet Selfwinding Flying Tourbillon บนขนาดหน้าปัด 38 มิลลิเมตร พร้อมดีไซน์แบบโมโนโครมที่ผสมผสานการใช้วัสดุอันล้ำค่าทั้งแซนด์โกลด์ 18 กะรัตและเพชรเจียระไนแบบ brilliant cut นาฬิกาที่เปี่ยมด้วยความหรูหราเรือนนี้ ซึ่งถือว่าเป็นนาฬิกาพร้อมกลไก flying tourbillon เรือนแรกที่ Audemars Piguet นำเสนอออกมาบนขนาดหน้าปัดนี้ ขับเคลื่อนด้วยกลไก RD#3 ที่บางเฉียบ คาลิเบอร์ 2968 ผสานสุนทรียะอันซับซ้อนและประสิทธิภาพสุดล้ำสมัยไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว ซึ่งภายใต้แนวทางการทำงานที่ไม่ประนีประนอมของแบรนด์ในการสร้างสรรค์เรือนเวลาชั้นสูง Audemars Piguet นำเสนอเจเนอเรชันใหม่ของนาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet ที่มาพร้อมกลไกอันซับซ้อน และผสานทั้งงานฝีมือแบบดั้งเดิม เทคโนโลยีที่ล้ำสมัย และความประณีตเหนือกาลเวลาเข้าด้วยกัน
นาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet Flying Tourbillon ขนาดหน้าปัด 38 มิลลิเมตรใหม่เรือนนี้มาพร้อมรูปลักษณ์อันหรูหราของตัวเรือนแซนด์โกลด์ 18 กะรัต ประดับด้วยเพชรเจียระไนแบบ brilliant cut หน้าปัดโทนสีแซนด์โกลด์ และสายหนังจระเข้สีเบจ © ภาพลิขสิทธิ์จาก Audemars Piguet
กลไก Flying Tourbillon บางเฉียบ
ผสานความประณีตและความสง่างามได้อย่างลงตัว
นาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet ใหม่เรือนนี้ได้รับการเปิดตัวเข้ามาอยู่ในคอลเลกชันนาฬิกาที่มาพร้อมกลไกอัตโนมัติ flying tourbillon บางเฉียบของคาลิเบอร์ 2968 (RD#3) ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2022 ในรุ่น Royal Oak “Jumbo” ขนาดหน้าปัด 39 มิลลิเมตร และรุ่นเล็กกว่าบนขนาดหน้าปัด 37 มิลลิเมตร นี่ยังนับเป็นครั้งแรกที่กลไกล้ำสมัยซึ่งมีความหนาเพียง 3.4 มิลลิเมตรนี้ ถูกบรรจุไว้ในตัวเรือนขนาด 38 มิลลิเมตร
กลไกที่ซับซ้อนทว่าล้ำสมัยนี้ช่วยต้านทานผลกระทบของแรงโน้มถ่วงที่มีต่อความแม่นยำของนาฬิกา โดย balance wheel และ escapement ถูกบรรจุอยู่ในกรงหมุนขนาดเล็กที่หมุนหนึ่งรอบทุกนาที เพื่อป้องกันไม่ให้จุดศูนย์ถ่วงของกลไกยังคงอยู่ในทิศทางเดียวกัน สิ่งที่แตกต่างไปจากนาฬิกา flying tourbillon รุ่นอื่น ๆ ก็คือ กรง flying tourbillon ในนาฬิกาเรือนนี้มีฐานรองรับจากด้านล่างเท่านั้น เพื่อเผยให้เห็นหัวใจสำคัญที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่บนหน้าปัดของนาฬิกา ในปัจจุบัน กลไกนี้ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของศิลปะการสร้างสรรค์เรือนเวลา เนื่องจากต้องใช้ความชำนาญในงานฝีมือขั้นสูง
กรง flying tourbillon ของคาลิเบอร์ 2968 ได้รับการออกแบบโดยคำนึงถึงความเพรียวบาง สุนทรียะในการออกแบบที่กลมกลืน และประสิทธิภาพเป็นสำคัญ นอกเหนือจากการปรับเปลี่ยนตำแหน่งส่วนประกอบหลายชิ้นเมื่อเทียบกับกลไก flying tourbillon รุ่นก่อน ๆ แล้ว ทีม Audemars Piguet ยังรวมเอา escapement แบบใหม่เข้ามาเพื่อขับเคลื่อนกรงไทเทเนียมรอบนอก และยกระดับการกระจายพลังงานไปยัง tourbillon ในขณะเดียวกันก็ทำให้ออร์แกนควบคุม (regulating organ) [1] มีน้ำหนักเบาและดูดีขึ้น นอกจากนี้ escapement ยังต้องอาศัย oscillator ที่มีแอมพลิจูดเพิ่มขึ้น เพื่อผลักดันขีดจำกัดของการเคาะ ซึ่งเป็นสถานะที่เกิดขึ้นเมื่อพลังงานส่วนเกินถูกถ่ายโอนจาก escapement ไปยัง oscillator พร้อมทั้งเพิ่มความน่าเชื่อถือ ประสิทธิภาพด้านพลังงาน และความแม่นยำ
โครงสร้างของตัวเรือนที่ล้ำหน้านี้ยังช่วยเพิ่มความสวยงามให้กับกลไก ในฝั่งหน้าปัด เส้นสายเรขาคณิตและตำแหน่งของ balance wheel ได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อให้สามารถวางกรง flying tourbillon ในระดับเดียวกับหน้าปัดได้ และมอบประสบการณ์ทางสายตาที่น่าหลงใหล ทางด้านหลัง ฝาหลังประดับแซฟไฟร์ไฮไลต์ความโดดเด่นของบริดจ์โทนสีโรเดียมของกลไก ซึ่งมีรายละเอียดของการฉลุอย่างประณีตเพื่อเผยให้เห็นกลไกการทำงานภายใน ทั้งยังเผยให้เห็นโครงสร้างที่กลมกลืนและสมมาตร การตกแต่งส่วนประกอบต่าง ๆ ของกลไกซึ่งมองเห็นได้ผ่านฝาหลังประดับแซฟไฟร์เช่นกัน ผสมผสานความคล่องตัวและความคลาสสิกของมุมรูปตัววีเข้ากับความทันสมัยของเทคนิค “เทรตส์ ทิเรส์” (traits tirés) ซึ่งเป็นการตกแต่งบริดจ์แทนที่งานขัดลายวงกลมวน “Côtes de Genève” แบบดั้งเดิม ฝาหลังยังเผยให้เห็น oscillating weight พิ้งค์โกลด์ 22 กะรัตในโทนสีแซนด์โกลด์ที่ล้อไปกับสีของตัวเรือนอีกด้วย
[1] ระบบขับเคลื่อนรอบนอกของกรง tourbillon ช่วยลดทอนความหนาของ tourbillon ลงในขณะที่ช่วยยกระดับขึ้น จึงทำให้สามารถใส่ลงไปในตัวเรือนของรุ่น Royal Oak “Jumbo” ที่บางเป็นพิเศษเพียง 8.1 มิลลิเมตรได้ โซลูชันนี้ยังช่วยปรับปรุงการส่งพลังงาน เนื่องจากระยะพิตช์เชิงมุมที่เล็กลงทำให้กระจายพลังงานได้สม่ำเสมอมากขึ้น
“สำหรับ Audemars Piguet ลูกค้าเปรียบเหมือนเครื่องเร่งปฏิกิริยาในการคิดค้นนวัตกรรมทั้งทางด้านกลไกและการออกแบบ พวกเขาส่งแรงบันดาลใจให้เราสร้างนาฬิกาแนวใหม่หลากหลายรุ่นที่พร้อมตอบรับรสนิยมและความคาดหวังที่เปลี่ยนแปลงไป พลังของลูกค้าดังที่กล่าวมานี้ได้ผลักดันให้ช่างนาฬิกาและวิศวกรของเราก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท นาฬิการุ่น
Code 11.59 by Audemars Piguet บนหน้าปัดขนาด 38 มิลลิเมตร ที่มาพร้อมกลไก flying tourbillon สุดประณีตและตัวเรือนแซนด์โกลด์ที่แวววาวด้วยเพชร จะทำให้ข้อมือของคุณดูโดดเด่นภายใต้การผสมผสานเทคโนโลยีอันล้ำสมัย เข้ากับความสง่างามเหนือระดับ”
อิลาเรีย เรสตา (Ilaria Resta)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โอเดอมาร์ ปิเกต์ กล่าว
ตัวเรือนแซนด์โกลด์เหนือระดับ
ล้อกับแสงได้อย่างงดงาม
นาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet Selfwinding Flying Tourbillon เรือนใหม่ซึ่งเผยความประณีตของกลไกที่บรรจุอยู่ภายใน มาพร้อมตัวเรือนแซนด์โกลด์อันงดงาม ทั้งยังประดับด้วยเพชรที่เปล่งประกายระยิบระยับทุกครั้งที่ขยับข้อมือ โลหะผสม 18 กะรัตนี้ซึ่งผสมผสานทั้งทองคำ ทองแดง และแพลเลเดียม ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกในคอลเลกชัน Code 11.59 by Audemars Piguet ในปีนี้ ต่อเนื่องจากการเปิดตัวครั้งแรกในรุ่น Royal Oak ในปี 2024 วัสดุนี้ซึ่งให้สีสันที่อยู่ระหว่างไวท์โกลด์และพิ้งค์โกลด์ ขึ้นอยู่กับแสงและมุม ช่วยขับเน้นรายละเอียดของการเล่นแสงอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอันเกิดจากโครงสร้างหลายเหลี่ยมมุมของตัวเรือนและรายละเอียดของงานขัดแบบซาตินสลับกับการขัดเงาลบมุมที่ตกแต่งอยู่บนผิวสัมผัสของตัวเรือน
เพชรเจียระไนแบบ brilliant cut จำนวน 235 เม็ด (น้ำหนักรวม 1.2 กะรัต) ถูกนำมาประดับไว้บนตัวเรือนส่วนกลาง ขานาฬิกา และเม็ดมะยม ช่วยเพิ่มความสง่างามสุดระยิบระยับให้กับนาฬิกา เพชรแต่ละเม็ดได้รับการคัดสรรมาอย่างพิถีพิถันเพื่อให้ตรงตามหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดที่สุดของ Audemars Piguet ทั้งในเรื่องความบริสุทธิ์และสีสัน ก่อนที่จะเจียระไนเป็นขนาดต่าง ๆ เพื่อให้เข้ากับเส้นสายและรูปทรงที่แตกต่างกันของตัวเรือน คุณภาพของการเจียระไนมีความสำคัญพอ ๆ กับคุณภาพตามธรรมชาติของเพชร เพื่อให้เพชรสามารถเปล่งประกายระยิบระยับได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ในขณะที่การจัดวางให้ลงตัวเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างองค์ประกอบของการประดับเพชรที่งดงามและกลมกลืน
สีสันสุดซับซ้อนบนหน้าปัดและสายนาฬิกาที่เป็นเอกลักษณ์
หน้าปัดนาฬิกายังคงความสวยงามหรูหราด้วยโทนสีแซนด์โกลด์ที่รุ่มรวย เฉดสีที่อบอุ่นซึ่งรังสรรค์ขึ้นด้วยวิธีการเคลือบแบบพีวีดี (physical vapour deposition) นี้ช่วยเติมความสดใสและโดดเด่นให้กับขอบด้านในและลายประทับนูนอันเป็นเอกลักษณ์ของคอลเลกชัน ซึ่งประกอบด้วยวงกลมซ้อนกันที่เคลื่อนออกไปจากตรงกลางหน้าปัด และตกแต่งด้วยรูเล็ก ๆ หลายร้อยรูที่มอบทั้งแสง ความลึก และเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้กับนาฬิกาเรือนนี้ ลวดลายซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2023 สร้างสรรค์ขึ้นโดยร่วมมือกับยานน์ วอน แคเนล (Yann Von Kaenel) ช่างฝีมือแกะสลักงานกิโยเช่ชาวสวิส ซึ่งแกะสลักตราประทับฐานด้วยมือ
หน้าปัดสุดประณีตของนาฬิกาเรือนนี้ยังเผยให้เห็นกลไก flying tourbillon ที่เคลื่อนไหวอยู่บนระนาบเดียวกับหน้าปัดที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา มอบมุมมองเหนือจริงของหัวใจสำคัญที่กำลังเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งของนาฬิกาเรือนนี้ เครื่องหมายบอกหลักชั่วโมงและเข็มนาฬิกาแซนด์โกลด์18 กะรัตช่วยเสริมความกลมกลืนของดีไซน์แบบโมโนโครม ในขณะที่วัสดุเรืองแสงที่เคลือบอยู่บนเข็มนาฬิกาช่วยให้สามารถบอกเวลาได้ชัดเจนในที่มืด
นาฬิกาเรือนนี้ยังมาพร้อมสายหนังจระเข้ลายกว้างสีเบจสุดหรูหรา โดยเฉดสีที่เข้มกว่าของสายนาฬิกาจะให้รายละเอียดที่ตัดกันได้อย่างน่าสนใจกับตัวเรือนและหน้าปัด พร้อมเสริมรายละเอียดของการเล่นกับแสงตามธรรมชาติ ส่วนเพชรเจียระไนแบบ brilliant cut ที่ประดับอยู่บนเข็มขัดกดพับเพื่อล็อกสายนาฬิกายังช่วยแต้มสัมผัสสุดท้ายของความเปล่งประกายให้กับนาฬิกาเรือนนี้
ประวัติศาสตร์อันทรงพลังของกลไกอันซับซ้อน
นับตั้งแต่ปี 1875 Audemars Piguet ได้เป็นผู้บุกเบิกการผลิตกลไกสำหรับลูกค้าหลากหลายกลุ่ม พร้อมทั้งสร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ทั้งในด้านการสร้างสรรค์นาฬิกาพกพาที่มีความซับซ้อนสูง และนาฬิกาที่มีกลไกขนาดเล็กสำหรับผู้หญิงเพื่อการสวมใส่เป็นจี้ เข็มกลัด หรือแหวน ความเชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์กลไกขนาดเล็กของAudemars Piguet ได้ช่วยก่อร่างสร้างพื้นฐานสำหรับการนำเสนอนวัตกรรมและการที่แบรนด์มีบทบาทสำคัญในการพัฒนานาฬิกาข้อมือในช่วงทศวรรษแรก ๆ ของศตวรรษที่ 20 นำไปสู่ความสำเร็จในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ของโลกทั้งในประเภทนาฬิการุ่นบางเฉียบและนาฬิกาที่มีขนาดเล็กเป็นพิเศษ
แม้ว่าการสร้างกลไกขนาดเล็กจะแผ้วถางหนทางใหม่ ๆ ทั้งในแง่การสร้างสรรค์และงานเทคนิค ทว่าความเชี่ยวชาญในงานด้านนี้ยังส่งผลต่อการลดจำนวนกลไกที่ผลิตขึ้นในศตวรรษที่ 20 ด้วย เนื่องจากการติดตั้งกลไกที่มีความซับซ้อนเหล่านี้ลงไปในนาฬิกาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางที่เล็กลงนั้นทำได้ยาก ระหว่างปี 1892 ซึ่งเป็นปีที่นาฬิกาข้อมือแบบ minute-repeater เรือนแรกวางจำหน่าย และในปี 1969 บริษัทยังได้ผลิตนาฬิกาข้อมือที่มีกลไกอันซับซ้อนออกมาทั้งหมด 550 เรือน[2] ปัจจุบัน นักสะสมต่างชื่นชอบนาฬิกาเหล่านี้เพราะความหายาก ความหลากหลายของดีไซน์ และฝีมือการผลิต เมื่อนำมารวมกัน นาฬิกาทั้งสองรุ่นนี้ถือเป็นรากฐานของการทดลองสร้างสรรค์รูปแบบและฟังก์ชันของ Audemars Piguet ทั้งยังเป็นแรงผลักดันให้เกิดนวัตกรรมนาฬิกาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
Audemars Piguet ยังมีบทบาทสำคัญในการฟื้นคืนชีพให้กับกลไกคลาสสิกด้วยการเปิดตัวนาฬิการะบบปฏิทินถาวรที่บางที่สุดในยุคนั้นในปี 1978 และนาฬิกาข้อมือพร้อมกลไก tourbillon เรือนแรกในปี 1986 นาฬิการุ่นนี้ซึ่งออกแบบโดยแจ็กเกอลีน ดิมิเยร์ (Jacqueline Dimier) มาพร้อมความหนาเพียง 5.3 มิลลิเมตร โดยวางกลไก tourbillon ไว้ที่ด้านหน้าปัด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์เรือนเวลา กรง tourbillon ไทเทเนียมที่รังสรรค์ขึ้นยังนับว่ามีขนาดเล็กที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบันด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 7.2 มิลลิเมตร ทั้งยังมีน้ำหนักเบาที่สุดด้วย เพราะมีน้ำหนักเพียง 0.123 กรัมเท่านั้น จากวันนั้น กลไก tourbillon ได้รับการตีความใหม่อยู่เสมอ ทั้งในแบบที่ติดตั้งมาเพียงลำพังหรืออยู่ร่วมกับฟังก์ชันอื่น ๆ ในหลากหลายคอลเลกชันของ Audemars Piguet โดยเริ่มจากคอลเลกชัน Royal Oak ในปี 1997
[2] ได้แก่ นาฬิกาข้อมือรุ่น minute repeater 35 เรือน, นาฬิกาข้อมือพร้อมกลไกปฏิทิน 188 เรือน, นาฬิกาข้อมือโครโนกราฟ 307 เรือน และนาฬิกากลไกแบบคู่ (โครโนกราฟและปฏิทินรวมกัน) 20 เรือน
กว่า 20 ปีต่อมา ในปี 2018 กลไก flying tourbillon ปรากฏโฉมในคอลเลกชัน Royal Oak Concept ผ่านการเปิดตัวนาฬิกาไขลานขนาดหน้าปัด 38.5 มิลลิเมตร และ 42 มิลลิเมตร ซึ่งแต่ละรุ่นมีรูปลักษณ์ที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ในปี 2020 นาฬิการุ่น Royal Oak ได้ต้อนรับนาฬิการุ่น selfwinding flying tourbillon เรือนแรกของ Audemars Piguet กับซีรีส์นาฬิกาซีรีส์ขนาดหน้าปัด 41 มิลลิเมตร หนึ่งปีต่อมา กลไกอันน่าภาคภูมินี้ยังปรากฏตัวพร้อมกลไกโครโนกราฟในรุ่น Royal Oak Offshore ขนาดหน้าปัด 43 มิลลิเมตรด้วย
การพัฒนานวัตกรรมทางเทคนิคให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 50 ปีของนาฬิการุ่น Royal Oak ในปี 2022 คือแรงผลักดันเบื้องหลังการออกแบบกลไก tourbillon ใหม่ทั้งหมดเพื่อให้พอดีกับขนาดที่แน่ชัดของตัวเรือน Royal Oak “Jumbo” ก่อนบรรจุลงไปในตัวเรือนขนาดหน้าปัด 37 มิลลิเมตรที่เล็กลงกว่าเดิม ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกเพราะกลไกอัตโนมัตินี้เคยสงวนไว้ใช้ในรุ่นหน้าปัด 41 มิลลิเมตรเท่านั้น คาลิเบอร์ 2968 (RD#3) ที่บางเป็นพิเศษและเป็นกลไกที่ขับเคลื่อนความสำเร็จทางวิศวกรรมนี้ ได้รับการเปิดตัวออกมาในปีนี้บนขนาดหน้าปัดใหม่ของรุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet นับว่าเป็นการขยายขอบเขตใหม่ ๆ ทั้งในเชิงเทคนิคและการดีไซน์เพื่อให้ตอบรับความต้องการที่หลากหลายของผู้คนที่มีขนาดข้อมือแตกต่างกัน
3 เม.ย 2568
3 เม.ย 2568
3 เม.ย 2568