Last updated: 27 ก.พ. 2568 | 362 จำนวนผู้เข้าชม |
Audemars Piguet แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดตัวนาฬิกา Royal Oak Perpetual Calendar Openworked “150th Anniversary” รุ่นลิมิเต็ด เอดิชันฉลองครบรอบ 150 ปีที่สะท้อนประวัติศาสตร์อันล้ำค่าของแบรนด์ทั้งในด้านดีไซน์ การเลือกใช้วัสดุ และการสำรวจเทคนิคการสร้างสรรค์เรือนเวลา นาฬิการุ่นนี้จะเป็นนาฬิการุ่นสุดท้ายที่มาพร้อมคาลิเบอร์ 5135 ก่อนกล่าวคำอำลาอย่างเป็นทางการหลังจากที่กลไกนี้ถูกบรรจุอยู่ในนาฬิกาข้อมือรุ่นกลไกฉลุอัตโนมัติพร้อมระบบปฏิทินถาวร (Openworked Selfwinding Perpetual Calendar) ขนาดหน้าปัด 41 มิลลิเมตรของ Audemars Piguet มาเกือบหนึ่งทศวรรษ การผสมผสานวัสดุสุดไฮเทคอย่างไทเทเนียมและกระจกเมทัลลิกบีเอ็มจี (Bulk Metallic Glass หรือ BMG) บนตัวเรือนและสายนาฬิกาของรุ่นนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มเสน่ห์เหนือกาลเวลาให้กับนาฬิกา ยังช่วยสร้างคอนทราสต์ที่ซับซ้อนน่าค้นหาให้กับหน้าปัดนาฬิกาสไตล์วินเทจที่ได้แรงบันดาลใจจากนาฬิกาพกพาซึ่งจัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ Musée Atelier Audemars Piguet (Ref. 25729) นาฬิการุ่นลิมิเต็ด เอดิชันที่งดงามซึ่งผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 150 เรือนนี้ ยังมาพร้อมรายละเอียดการตกแต่งภายใต้รหัสการออกแบบที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับวาระครบรอบครั้งนี้ และจะขยายไปยังนาฬิการุ่นอื่น ๆ ในคอลเลกชันของปีนี้ด้วย ทั้งนี้เพื่อเฉลิมฉลองความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของ Audemars Piguet ที่มีต่อประเพณีการสร้างสรรค์เรือนเวลาที่สืบทอดต่อมายาวนานและผลงานการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างไม่หยุดนิ่ง
นาฬิกา Royal Oak Perpetual Calendar Openworked “150th Anniversary” รุ่นฉลองครบรอบ 150 ปี ผสานการเลือกใช้วัสดุสุดล้ำสมัยเข้ากับดีไซน์หน้าปัดที่ได้แรงบันดาลใจจากสไตล์วินเทจได้อย่างลงตัว เพื่อปิดฉากการใช้คาลิเบอร์ 5135 อย่างงดงามที่สุด © ภาพลิขสิทธิ์จาก Audemars Piguet
การปิดฉากที่งดงามของคาลิเบอร์ 5135
ในปีนี้ Audemars Piguet เลือกเชิดชูรากฐานอันแข็งแกร่งของตนเองพร้อมเปิดรับนวัตกรรมสำหรับอนาคต นาฬิกา Royal Oak Perpetual Calendar Openworked “150th Anniversary” ฉลองวาระครบ 150 ปีจะเป็นนาฬิการุ่นสุดท้ายที่ใช้คาลิเบอร์ 5135 ซึ่งเป็นกลไกที่ใช้ในนาฬิกากลไกฉลุอัตโนมัติพร้อมระบบปฏิทินถาวรขนาดหน้าปัด 41 มิลลิเมตรของ Audemars Piguet มาเกือบหนึ่งทศวรรษ ถือเป็นการปิดฉากเรื่องราวที่เริ่มต้นขึ้นในปี 1978 หลังการถือกำเนิดของกลไกชิ้นประวัติศาสตร์ที่มีมาก่อนหน้า
ในช่วงต้นทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤตการณ์ควอตซ์กำลังรุนแรงที่สุด Audemars Piguet ได้เปิดตัวนาฬิกาข้อมือกลไกอัตโนมัติพร้อมระบบปฏิทินถาวรที่บางที่สุดในยุคนั้น ซึ่งมาพร้อมคาลิเบอร์ 2120/2800 อันล้ำสมัย นาฬิกาพร้อมระบบปฏิทินถาวรเรือนนี้ได้รับการคิดค้นขึ้นอย่างลับ ๆ โดยช่างทำนาฬิกาผู้ทุ่มเท 3 คน และได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมการสร้างสรรค์เรือนเวลา และนับเป็นการเริ่มต้นของยุคแห่งการเติบโตครั้งสำคัญของบริษัท ตลอดระยะเวลาอีก 18 ปีต่อมา Audemars Piguet ได้ผลิต ประกอบ และจำหน่ายนาฬิกาพร้อมกลไกนี้ไปมากกว่า 7,000 เรือน โดยได้นำกลไกคลาสสิกอื่น ๆ กลับมาสร้างสรรค์ใหม่ไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นรุ่น Openworked Chronograph (1980) Selfwinding Tourbillon รุ่นแรก (1986) Minute Repeater (1992) และ Grande Complication Combination (1996) ในปี 1984 คาลิเบอร์ 2120/2800 เปิดตัวเป็นครั้งแรกในคอลเลกชัน Royal Oak (โมเดล 5554) ก่อนที่เวอร์ชัน Openworked (โมเดล 25636) จะได้รับการเปิดตัวในอีก 2 ปีต่อมา แม้ว่าการผลิตนาฬิกาข้อมือพร้อมระบบปฏิทินถาวรจะดำเนินไปได้ดี แต่บริษัทก็ยังคงไม่หยุดนิ่งที่จะผลิตนาฬิกาพกพาที่ทั้งล้ำสมัยและคลาสสิกด้วยกลไกที่ซับซ้อนนี้ต่อไป
คาลิเบอร์ 5134 ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากรุ่นก่อนหน้าได้รับการเปิดตัวออกมาในปี 2015 โดยปรับเปลี่ยนกลไกปฏิทินถาวรให้รับกับขนาดตัวเรือน 41 มิลลิเมตรที่ใหญ่ขึ้น แต่ยังคงรูปลักษณ์ที่บางเพียง 4.5 มิลลิเมตร โดยนำมาบรรจุอยู่ในนาฬฺการุ่น Royal Oak ใหม่ที่มีรูปลักษณ์ที่ปราดเปรียว (ref. 26574) และทำให้กลไกซึ่งความนิยมลดน้อยลงตั้งแต่ปี 1989 กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง การกลับมาได้รับความนิยมครั้งนี้ได้รับการยืนยันอีกครั้งในปี 2017 ด้วยการเปิดตัวรุ่นเซรามิกสีดำที่เรียกเสียงฮือฮาและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก (ref. 26579CE) กลายเป็นการวางรากฐานการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ มากมายในไลน์ผลิตภัณฑ์นาฬิกาที่มาพร้อมระบบปฏิทินถาวร
คาลิเบอร์ 5135 ซึ่งผสานศิลปะการทำงานฉลุแบบโบราณเข้ากับเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เปิดตัวออกมาในปี 2019 เพื่อใช้ในนาฬิการุ่น Royal Oak Perpetual Calendar Openworked บนวัสดุเซรามิกสีดำ (ref. 26585CE) พร้อมเผยให้เห็นรายละเอียดการตกแต่งสุดประณีตของกลไกทั้งจากด้านหน้าและด้านหลังของนาฬิกา และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กลไกอันซับซ้อนนี้ก็ได้รับเลือกให้นำมาใช้ในเรือนเวลารุ่นต่าง ๆ มากมาย รวมทั้งรุ่นไวท์โกลด์ 18 กะรัตที่ประดับด้วยเพชรจำนวน 962 เม็ด (ref. 26625BC) และรุ่นที่เกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับ Cactus Jack (ref. 26585CM) ในปี 2023 ก่อนที่ Audemars Piguet จะเลือกสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์นาฬิกากับรุ่น Frosted Gold (ref. 26585BC) เมื่อปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หลังจากเวลาผ่านไปเกือบ 10 ปี ได้เวลาที่ Audemars Piguet จะปิดฉากการใช้งานกลไกรุ่นนี้ลงอย่างเป็นทางการ ด้วยการนำเสนอรุ่นลิมิเต็ด เอดิชันที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปีแห่งการสร้างสรรค์เรือนเวลาสุดพิถีพิถันของแบรนด์โดยเฉพาะในวันนี้
หน้าปัดที่เผยแรงบันดาลใจจากอดีต
เพื่อนำเรื่องราวในอดีตมาสร้างบทสนทนาครั้งใหม่กับปัจจุบัน นาฬิการุ่นลิมิเต็ด เอดิชันเรือนนี้จึงเลือกนาฬิกาพกพารุ่นกลไกฉลุพร้อมระบบปฏิทินถาวร (ref. 25729) ซึ่งจัดแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์ Musée Atelier Audemars Piguet มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างรหัสการออกแบบของหน้าปัด
นาฬิกา Royal Oak Perpetual Calendar Openworked “150th Anniversary” รุ่นฉลองครบรอบ 150 ปีเรือนใหม่ที่มาพร้อมหน้าปัดแซฟไฟร์นี้ โดดเด่นด้วยกลไกฉลุที่เคลื่อนไหวอยู่ภายใน ขอบตัวเรือนด้านในและหน้าปัดย่อยตีความดีไซน์ที่ตัดกันของนาฬิกาพกพารุ่นดั้งเดิมแบบใหม่ด้วยการเลือกใช้เฉดสีน้ำเงินที่ถูกทำให้เข้มขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้กลมกลืนกับสีเข้มของเข็มนาฬิกาทรง bathtub ที่แมตช์กัน โดยเข็มนาฬิการังสรรค์ขึ้นจากไวท์โกลด์ 18 กะรัตและเคลือบวัสดุเรืองแสงเพื่อให้อ่านเวลาได้อย่างดีที่สุด ในขณะเดียวกัน เครื่องหมายบอกหลักชั่วโมงเลือกใช้สีเทาเงินในรูปทรงกลมแลดูประณีต สะท้อนถึงแรงบันดาลใจจากนาฬิกาพกพาเรือนประวัติศาสตร์ที่ใช้เพชรเจียระไนแบบ brilliant cut บนหน้าปัด แบบอักษรสีขาวที่ใช้สำหรับการระบุตัวเลขและตัวอักษรในปฏิทินถาวรได้รับการออกแบบใหม่เพื่อให้หน้าปัดดูสง่างามในสไตล์วินเทจ
วัสดุสุดไฮเทคเพื่อให้สอดรับกับสรีระได้ดียิ่งขึ้น
สำหรับนาฬิการุ่นลิมิเต็ด เอดิชันขนาดหน้าปัด 41 มิลลิเมตรเรือนนี้ น้ำหนักเบาของไทเทเนียมถูกนำมาผนวกเข้ากับความทนทานของกระจกเมทัลลิกบีเอ็มจี (Bulk Metallic Glass หรือ BMG) ที่เผยให้เห็นการก้าวข้ามขีดจำกัดของการสำรวจการใช้วัสดุใหม่ ๆ และผลักดันขอบเขตการสร้างสรรค์ผลงานให้ก้าวไปไกลยิ่งขึ้น
บีเอ็มจีซึ่งได้รับการค้นพบในช่วงทศวรรษ 1960 ถูกนำไปประยุกต์ใช้ในหลากหลายวงการในปัจจุบัน ทั้งไมโครอิเล็กทรอนิกส์และกอล์ฟ โลหะผสมชนิดนี้ผลิตขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ นับร้อยแบบ และมีลักษณะเฉพาะตัวหลายประการที่เหมือนกับกระจกชนิดอื่น ๆ เมื่อเย็นตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ป้องกันไม่ให้ผลึกก่อตัวและทำให้วัสดุแข็งตัวในสถานะคล้ายแก้ว จึงทำให้มีคุณสมบัติที่แข็งแกร่งและไม่มีรูปทรงที่แน่นอน Audemars Piguet ทดลองสร้างเทคนิค รูปทรง และวัสดุต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และได้ร่วมพัฒนาบีเอ็มจีที่ใช้แพลเลเดียมเป็นฐาน โดยประกอบด้วยแพลเลเดียมมากกว่า 50% ทำให้วัสดุที่ได้ออกมา ทนทานต่อการสึกหรอและการกัดกร่อนสูงพร้อมมอบความแวววาวเป็นมันเงา Audemars Piguet ได้นำไทเทเนียมมาจับคู่กับบีเอ็มจีเป็นครั้งแรกในนาฬิการุ่น Royal Oak “Jumbo” Extra-Thin (ref. 15202XT) ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร โดยสร้างขึ้นสำหรับ Only Watch ในปี 2021 และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้กระจกโลหะที่ทำจากแพลเลเดียมในการผลิตนาฬิกา บีเอ็มจียังถูกใช้ต่อมาในรุ่น “Jumbo” (ref. 16202XT) ของคอลเลกชัน Royal Oak ในอีก 2 ปีต่อมา ก่อนที่จะนำมาใช้อีกครั้งกับรุ่น Royal Oak Perpetual Calendar (ref. 26585XT) ในปี 2024
บีเอ็มจีซึ่งใช้ในส่วนของขอบตัวเรือน กรอบฝาหลัง และหมุดเชื่อมสายนาฬิกาในรุ่นลิมิเต็ด เอดิชันใหม่นี้ ผ่านการขัดเงาเพื่อเผยให้เห็นประกายแวววาว ช่วยขับเน้นความสวยงามของตัวเรือนและข้อต่อสายนาฬิกาไทเทเนียมด้วยรายละเอียดของการเล่นกับแสงที่น่าหลงใหล ไทเทเนียมซึ่งขึ้นชื่อเรื่องน้ำหนักเบาและทนทานต่อแรงกระแทก ยังมาพร้อมรายละเอียดของการขัดแบบซาตินและการขัดเงาลบมุมที่ช่วยเสริมความแวววาว โดดเด่นให้กับนาฬิกาเรือนนี้
ความงามสง่าของดวงจันทร์
นาฬิการุ่น Perpetual Calendar กลไกฉลุเรือนนี้ซึ่งมีช่องแสดงข้างขึ้นข้างแรมที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ให้มุมมองที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับเวลาที่ผันผ่าน เพราะการแสดงข้างขึ้นข้างแรมด้วยรูปดวงจันทร์บนหน้าปัดใช้แผ่นดิสก์ที่ประดับด้วยภาพถ่ายดวงจันทร์เมื่อมองจากโลก ภาพที่สมจริงนี้ซึ่งมาจากภาพถ่ายขององค์การนาซ่า ได้รับการถ่ายโอนลงไปบนแผ่นดิสก์ด้วยวิธีการเคลือบโลหะบนแซฟไฟร์[1] ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกย่องความงดงามของวัตถุท้องฟ้า ขณะที่นาฬิกาทำงานตามกลไกที่มี รูรับแสงบนหน้าปัดจะแสดงข้างขึ้นข้างแรม 8 ช่วงเวลาที่แตกต่างกันของรอบของดวงจันทร์ 29.5 วัน เมื่อมองจากทั้งสองฝั่งของเส้นศูนย์สูตร
จากมุมมองที่มองจากโลกของเราออกไป ดวงจันทร์ดูเหมือนจะเปลี่ยนรูปทรงไปในขณะที่โคจรรอบโลก แม้ว่ารอบของดวงจันทร์จะเป็นปรากฏการณ์ระดับโลก แต่ทั้ง 8 ช่วงเวลาของดวงจันทร์จะปรากฏขึ้นแบบย้อนกลับ ไม่ว่าผู้ชมจะยืนอยู่ในซีกโลกเหนือหรือซีกโลกใต้ ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์นี้ถูกจำลองไว้ในฟังก์ชันปฏิทินถาวรของนาฬิการุ่นลิมิเต็ด เอดิชันเรือนนี้ ซึ่งมีดวงจันทร์ 2 ดวงเพื่อรองรับมุมมองทั้งสองแบบ
กลไกอัตโนมัติของคาลิเบอร์ 5135 จะคำนวณจำนวนวันในแต่ละเดือนโดยอัตโนมัติและแสดงวันที่ปัจจุบันอย่างถูกต้องแม้ในปีอธิกสุรทินก็ตาม หากนาฬิกาได้รับการขึ้นลานจนเต็มอยู่เสมอ เราจะไม่ต้องตั้งค่าปฏิทินถาวรใหม่ด้วยตัวเองอีกเลยจนกว่าจะถึงปี 2100 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น นาฬิกาจำเป็นต้องถูกตั้งค่าให้สอดคล้องกับปฏิทินเกรโกเรียน[2]
[1] ขั้นตอนการเคลือบโลหะบนแซฟไฟร์คือการเคลือบโลหะที่เป็นเลเยอร์บาง ๆ ลงบนแซฟไฟร์โดยใช้วิธีการเคลือบแบบพีวีดี (physical vapour deposition) กระบวนการนี้สามารถทำได้ด้วยความแม่นยำสูงสุดในสภาพแวดล้อมที่เป็นสูญญากาศ จึงช่วยให้การยึดเกาะกับกระจกเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและสามารถควบคุมได้ และทำให้สามารถสร้างองค์ประกอบภาพกราฟิกต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ ลวดลาย หรือดีไซน์แบบต่าง ๆ
[2] ปฏิทินเกรโกเรียนจะข้ามเวลา 3 ปีอธิกสุรทินทุก ๆ 400 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับเวลาสุริยะ โดยการข้ามวันที่ 29 กุมภาพันธ์ในปีศตวรรษที่หารด้วย 100 ลงตัว แต่ไม่ใช่ 400 ดังนั้นปีค.ศ. 2100 จะไม่เป็นปีอธิกสุรทินและกลไกปฏิทินถาวรจะต้องมีการเลื่อนไปข้างหน้า 1 วัน อย่างไรก็ตาม ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงการตั้งค่านี้กับการระบุสัปดาห์
ฉลองวาระครบรอบด้วยรายละเอียดการตกแต่งสุดพิเศษ
นาฬิการุ่นลิมิเต็ด เอดิชันที่ผลิตในจำนวนจำกัดเพียง 150 เรือนนี้ เป็นหนึ่งในนาฬิการุ่นที่ผ่านการตกแต่งด้วยรหัสการออกแบบอันละเอียดอ่อนที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปีของ Audemars Piguet โดยเฉพาะ บนหน้าปัดนาฬิกา ช่องข้างขึ้นข้างแรมที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกาดูผสานอย่างกลมกลืนไปกับสัญลักษณ์ “Audemars Piguet” ที่ได้แรงบันดาลใจจากเอกสารทางประวัติศาสตร์ กรอบฝาหลังมีการสลักเพิ่มเติมอีกสองรายละเอียด ได้แก่ โลโก้ “150” ที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อการเฉลิมฉลองครั้งนี้ รวมถึง “1 of 150 pieces” เพื่อเป็นการอ้างอิงถึงจำนวนทั้งหมดที่ผลิตออกมา
3 เม.ย 2568
3 เม.ย 2568
3 เม.ย 2568