AUDEMARS PIGUET Code 11.59

Last updated: 27 ก.พ. 2568  |  316 จำนวนผู้เข้าชม  | 

AUDEMARS PIGUET Code 11.59

เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปี Audemars Piguet แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดตัว 5 เรือนใหม่ของนาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet Grande Sonnerie Carillon Supersonnerie ขนาดหน้าปัด 41 มิลลิเมตร ซึ่งผสานความเชี่ยวชาญแบบดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีสุดล้ำหน้าและดีไซน์ที่ทันสมัย ​​ตัวเรือนของนาฬิกาในคอลเลกชันนี้เลือกใช้วัสดุที่ทั้งล้ำค่าและร่วมสมัย ไล่ตั้งแต่เซรามิกสีดำและ แพลตินัม ไปจนถึงไวท์โกลด์ 18 กะรัต พิ้งค์โกลด์ 18 กะรัต และแซนด์โกลด์ โดยมีหน้าปัดเป็นจุดเด่นของนาฬิกาแต่ละเรือน เริ่มจาก 2 เรือนแรกที่โดดเด่นด้วยหน้าปัดโอปอลสีเหลือบรุ้งใต้กระจกแซฟไฟร์ทรงโค้งสองชั้นที่ดูงดงามแบบมินิมอล ช่วยขับเน้นดีไซน์ร่วมสมัยของคอลเลกชันนี้ให้สมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ส่วนอีก 3 เรือนมาพร้อมกลไกอันซับซ้อนซึ่งทำงานอยู่ภายใน โดยมีหน้าปัดแซฟไฟร์ใสประดับด้วยรายละเอียดแบบคอนทราสต์ที่ตัดกันอย่างแนบเนียน นาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet Grande Sonnerie Carillon Supersonnerie ทั้ง 5 เรือนขับเคลื่อนด้วยกลไกไขลานด้วยมือของคาลิเบอร์ 2956 จาก Audemars Piguet ประทับด้วยโลโก้ครบรอบ 150 ปีบนฝาหลัง

นาฬิการุ่น Code 11.59 โดย Audemars Piguet Grande Sonnerie Carillon Supersonnerie ทั้ง 5 เรือน เปิดตัวออกมาในวาระฉลองครบรอบ 150 ปีของ Audemars Piguet กับคอลเลกชันที่มาพร้อมดีไซน์สุดประณีตและโดดเด่นของหน้าปัดที่เปี่ยมด้วยความน่าหลงใหล © ภาพลิขสิทธิ์จาก Audemars Piguet 

สองหน้าปัดโอปอลหลากสี
นาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet Grande Sonnerie Carillon Supersonnerie จำนวน 2 ใน 5 เรือนมาพร้อมความโดดเด่นของหน้าปัดโอปอล อัญมณีอันล้ำค่าซึ่งมีโครงสร้างภายใน 3 มิติที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยสามารถสะท้อนและกระจายแสงในแบบของตัวเอง ส่งผลให้เกิดเอฟเฟกต์ของการสะท้อนแสงที่ไม่อาจคาดเดาได้ และทำให้แต่ละเรือนมีรูปลักษณ์ที่สวยงามไม่เหมือนใคร

แม้ว่าหน้าปัดที่ทำจากแร่และอัญมณีล้ำค่าจะปรากฏบนนาฬิกาพกพาเป็นครั้งแรกในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ทว่านาฬิกาพร้อมหน้าปัดแบบนี้กลับมาได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 20 เมื่อเริ่มมีการผลิตนาฬิกาข้อมือขนาดเล็กขึ้น หน้าปัดที่ทำจากหินได้รับความนิยมอย่างมากที่ Audemars Piguet ในระหว่างช่วงปลายทศวรรษ 1960 ถึง 1990 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การนำเสนอนาฬิกาข้อมือด้วยความคิดสร้างสรรค์กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง นาฬิกากลุ่มนี้ประดับด้วยอัญมณีมากมายหลายหลากสีสัน เช่น พลอยตาเสือ ไพฑูรย์ อเวนทูรีน โกเมน มุก โอปอล ทับทิม อเมทิสต์ และแจสเปอร์

การสร้างหน้าปัดนาฬิกาจากอัญมณีธรรมชาติ เช่น โอปอล ต้องใช้ความประณีตพิถีพิถันในงานฝีมืออย่างสูง เพราะต้องบรรจุวัสดุเลอค่าชนิดนี้ลงไปให้พอดีในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กของหน้าปัด โดยโอปอลจะถูกนำมาตัดเป็นชิ้นที่มีความหนา 0.45 มิลลิเมตรก่อน จากนั้นยังต้องผ่านการคัดเลือกอย่างพิถีพิถันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพระดับสูงของ Audemars Piguet และผ่านการขัดเงาเพื่อเพิ่มรายละเอียดของการเล่นกับแสง ขั้นตอนต่อมาคือการนำไปประกอบอย่างประณีตบนแผ่นดิสก์ที่ทำจากโลหะผสมชนิดแข็งเพื่อป้องกันไม่ให้แตกหัก ก่อนนำไปประกอบเข้ากับนาฬิกา โอปอลที่ล้ำค่าทว่ามีระดับความแข็งต่ำ (อยู่ระหว่าง 5.5 ถึง 6.5 ตามสเกลโมส์) จึงเป็นวัสดุที่เปราะบางมาก และทำให้มีความเสี่ยงที่จะแตกร้าวระหว่างขั้นตอนการทำงาน ถือเป็นความท้าทายที่เพิ่มเข้ามาสำหรับการสร้างสรรค์เรือนเวลาหน้าปัดนี้

นาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet Grande Sonnerie Carillon Supersonnerie เรือนแรกผสมผสานตัวเรือนพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตเข้ากับหน้าปัดโอปอลฮาร์เลควินที่หาได้ยากซึ่งให้เฉดสีเหลือบรุ้งแวววาว โดดเด่นด้วยรายละเอียดของสีเขียวที่ดูน่าหลงใหล หินธรรมชาตินี้ได้รับการตั้งชื่อตาม “ฮาร์เลควิน” (Harlequin) ตัวละครตลกแห่งศตวรรษที่ 16 ที่โด่งดังจากบุคลิกที่เฉียบแหลมและเครื่องแต่งกายลายตารางสีสันสดใส หินที่มีลวดลายเฉพาะตัวคล้ายกับเสื้อผ้าของฮาร์เลควินนี้มาพร้อมรายละเอียดของเหลี่ยมมุมเล็ก ๆ ในสีสันสดใส ไล่ตั้งแต่เขียว น้ำเงิน แดง และเหลือง การออกแบบหน้าปัดที่เรียบง่ายในสไตล์มินิมอลทำให้หินที่มีลักษณะเฉพาะชิ้นนี้ดูโดดเด่น โดยมีขอบตัวเรือนด้านในสีเขียวแวววาวช่วยขับเน้นความโดดเด่นนี้ เข็มชั่วโมงและนาทีแบบ stick ที่ทำจากพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตดูกลมกลืนไปกับตัวเรือนสุดประณีต ส่วนฝาหลังประทับด้วยโลโก้ครบรอบ 150 ปีที่รังสรรค์ขึ้นสำหรับโอกาสพิเศษนี้โดยเฉพาะ

เรือนที่สองรังสรรค์ขึ้นจากไวท์โกลด์ 18 กะรัต ประดับด้วยโอปอลคริสตัลขัดเงาที่เผยให้เห็นเฉดสีเขียวและน้ำเงินอันเป็นเอกลักษณ์ โอปอลคริสตัลมีลักษณะเฉพาะคือมีประกายเหลือบรุ้ง โปร่งแสง และโปร่งใส การเล่นสีตามธรรมชาติของโอปอลเกิดจากการสะท้อนและการหักเหของแสงภายในโครงสร้าง ทำให้โอปอลแต่ละเม็ดมีความพิเศษไม่เหมือนใคร สีสันสดใสของหน้าปัดโอปอลคริสตัลนั้นโดดเด่นสะดุดตา และยังดูโดดเด่นยิ่งขึ้นเมื่อเสริมด้วยขอบตัวเรือนด้านในสีน้ำเงินระยิบระยับ เข็มนาฬิกาแบบ stick ที่ทำจากไวท์โกลด์ 18 กะรัตมอบคอนทราสต์ที่ดูละเมียดละไมล้อไปกับโทนสีของตัวเรือนซึ่งมีโลโก้พิเศษ “150” ประทับอยู่บนฝาหลัง

3 หน้าปัดแซฟไฟร์
นาฬิกาขนาดหน้าปัด 41 มิลลิเมตรอีก 3 เรือน มาพร้อมหน้าปัดแซฟไฟร์และการผสมผสานวัสดุแบบใหม่ ที่ช่วยเติมเต็มความโดดเด่นให้กับคอลเลกชัน Code 11.59 by Audemars Piguet Grande Sonnerie Carillon Supersonnerie นาฬิการุ่นนี้ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 2023 เผยให้เห็นกลไกการทำงานภายในของคาลิเบอร์ 2956 ซึ่งผ่านการตกแต่งอย่างพิถีพิถันด้วยรายละเอียดของงานขัดสุดประณีต งานตกแต่งที่งดงามเหล่านี้สะท้อนให้เห็นผ่านเทคนิคการขัดเงาสลับกับงานขัดแบบซาตินบนตัวเรือนที่ช่วยให้เกิดรายละเอียดของการเล่นกับแสงอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 150 ปีของ Audemars Piguet นาฬิการุ่นนี้จึงประทับโลโก้ “150” ไว้บนฝาหลัง โดยยังมาพร้อมรายละเอียดของงานขัดแบบพ่นทราย งานขัดเงา และงานขัดเงาลบมุม

นาฬิกาหน้าปัดแซฟไฟร์เรือนแรกมาในดีไซน์สีเทาเงินพร้อมขอบตัวเรือน ขานาฬิกา และฝาหลังไวท์โกลด์ 18 กะรัต เสริมด้วยตัวเรือนส่วนกลางแพลตินัมขัดเงาและสายนาฬิกาเคลือบยางมีเท็กซ์เจอร์สีเทาพร้อมบุด้านในด้วยหนังลูกวัว ขอบตัวเรือนไวท์โกลด์ผ่านการขัดแบบซาตินทั้งหมดเพื่อเติมคอนทราสต์ที่น่าสนใจเข้ามา ส่วนขอบตัวเรือนด้านในพิ้งค์โกลด์ช่วยเพิ่มสัมผัสของสีสันให้กับหน้าปัด พร้อมเสริมด้วยรายละเอียดของพิ้งค์โกลด์ในส่วนอื่น ๆ เช่น เข็มนาฬิกาและเครื่องหมายบอกหลักชั่วโมงเคลือบวัสดุเรืองแสงที่ทำจากพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตเช่นกัน หน้าปัดขนาดย่อยบอกวินาทีที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกายังล้อไปกับเฉดสีเทาและพิ้งค์โกลด์ด้วยเช่นกัน ในขณะที่ส่วนประกอบอื่น ๆ ของกลไกในโทนสีโรเดียมช่วยสร้างฉากหลังที่กลมกลืนกับดีไซน์สไตล์ทูโทนของหน้าปัดได้อย่างลงตัว

เรือนที่สองมาพร้อมตัวเรือนสุดหรูหราที่ผนวกไวท์โกลด์และพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตไว้ด้วยกัน เสริมความโดดเด่นด้วยสายนาฬิกาเคลือบยางมีเท็กซ์เจอร์สีเทาเข้มบุด้านในด้วยหนังลูกวัว หน้าปัดมี 3 โทนสีโดยผสมผสานเฉดสีเทาอ่อนและเทาเข้มเข้ากับเฉดของสีพิ้งค์โกลด์ ขอบด้านในสีเทาสเลทเกรย์ถูกขับเน้นให้เด่นขึ้นด้วยแทร็กนาทีสีเทาอ่อนและเครื่องหมายบอกหลักชั่วโมงและเข็มนาฬิกาพิ้งค์โกลด์ 18 กะรัตเคลือบวัสดุเรืองแสง รวมถึงรายละเอียดที่แมตช์กันอย่างละเอียดอ่อนบนหน้าปัดย่อยแสดงวินาทีที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา ภายใต้หน้าปัดโปร่งใสที่มองเห็นกลไกยังเผยให้เห็นชิ้นส่วนสีเทาสเลทเกรย์และสีโรเดียมที่เข้ากันกับดีไซน์ของหน้าปัด

นาฬิกาเรือนที่สามมาพร้อมคอนทราสต์ที่ทรงพลัง ตัวเรือนเป็นแซนด์โกลด์ 18 กะรัต ในขณะที่ตัวเรือนส่วนกลางและเม็ดมะยมเป็นเซรามิกสีดำ รับกับสายนาฬิกาเคลือบยางมีเท็กซ์เจอร์และบุด้านในด้วยหนังลูกวัว ส่วนหน้าปัดเล่นกับโทนสีแซนด์โกลด์ ดำ และเทา โทนสีแซนด์โกลด์และโรเดียมของกลไกและขอบตัวเรือนด้านในดูโดดเด่นด้วยสีดำของแทร็กนาทีและพื้นที่รอบนอกของหน้าปัดย่อยนับวินาทีที่ตำแหน่ง 6 นาฬิกา เครื่องหมายบอกหลักชั่วโมงและเข็มนาฬิกาแซนด์โกลด์ 18 กะรัตเคลือบด้วยวัสดุเรืองแสง เพื่อให้อ่านเวลาได้ดีที่สุดในทุกช่วงเวลา


มุมมองทางด้านหลังที่มองเห็นโลโก้ฉลองครบรอบ 150 ปีสลักอยู่บนฝาหลัง © ภาพลิขสิทธิ์จาก Audemars Piguet 

ขนบที่สืบสานผสานกับนวัตกรรมบนกลไก
นาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet Grande Sonnerie Carillon Supersonnerie ทั้ง 5 เรือนมาพร้อมกับกลไกไขลานด้วยมือของคาลิเบอร์ 2956 ซึ่งผสมผสานความซับซ้อนของกลไก Grande Sonnerie เข้ากับชุดระฆังและเทคโนโลยี Supersonnerie ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วและได้รับการเปิดตัวออกมาในคอลเลกชัน Royal Oak Concept (RD#1) เมื่อปี 2015 กลไกที่ล้ำหน้านี้ประกอบด้วยชิ้นส่วนมากถึง 498 ชิ้นที่ตกแต่งอย่างประณีตและสะท้อนถึงแนวทางการทำงานที่ไม่ประนีประนอมของ Audemars Piguet ทั้งในด้านความรู้ความชำนาญที่มีและเทคโนโลยีที่ใส่เข้ามา

กลไก Grande Sonnerie ตีบอกเวลาชั่วโมงและทุก 15 นาทีโดยอัตโนมัติโดยที่ผู้สวมใส่ไม่ต้องตั้งค่าอะไรเพิ่ม ชุดระฆังซึ่งประกอบด้วยระฆังและค้อน 3 อัน ทำให้สามารถตีบอกเวลาทุก 15 นาทีด้วยโน้ต 3 ตัวติดต่อกัน (สูง กลาง ต่ำ) แทนที่จะเป็น 2 ตัว ในตำแหน่ง Petite Sonnerie นาฬิกาจะตีบอกชั่วโมงเท่านั้น ในขณะที่การตีบอกเวลาอัตโนมัติจะถูกปิดใช้งานให้อยู่ในโหมดเงียบ นอกจากนี้ ผู้สวมใส่ยังสามารถเปิดใช้งานกลไก minute repeater ได้ตลอดเวลาโดยใช้ปุ่มกดที่ออกแบบมาโดยเฉพาะที่ตำแหน่ง 10 นาฬิกา

กลไก Supersonnerie ช่วยให้นาฬิกาข้อมือที่ซับซ้อนเรือนนี้มีคุณภาพเสียงเหมือนนาฬิกาพกพา เทคโนโลยีที่ได้รับการจดสิทธิบัตรนี้คือผลลัพธ์ของการวิจัยยาวนานถึง 8 ปีเต็มภายใต้การทำงานร่วมกันกับสถาบันเทคโนโลยีโลซานน์แห่งสหพันธรัฐสวิส (Swiss Federal Institute of Technology Lausanne: EPFL) ที่รวบรวมคณะผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบด้วยช่างทำนาฬิกา วิศวกร นักดนตรี และผู้เชี่ยวชาญด้านเสียง โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นคืนโทนเสียงของนาฬิการุ่นเก่าที่มีเสียงระฆังให้กลับมาอีกครั้ง พลังเสียง คุณภาพของเสียง และโทนเสียงที่กลมกลืนและสอดประสานของกลไก Supersonnerie โดดเด่นด้วยระฆังที่ได้รับการจดสิทธิบัตรเฉพาะ ชุดระฆังจะไม่ถูกยึดไว้กับชุด main plate แต่จะยึดอยู่กับอุปกรณ์ใหม่ที่ทำหน้าที่เป็นซาวด์บอร์ดที่ช่วยส่งผ่านเสียงได้ดียิ่งขึ้น เทคโนโลยีใหม่นี้ยังให้จังหวะที่คมชัด เนื่องจากเสียงระฆังเคาะบอกเวลาชั่วโมงและนาทีจะตีโดยไม่หยุดชะงักเมื่อไม่มีลำดับการเคาะบอกเวลาทุก 15 นาที

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้