Last updated: 27 ก.พ. 2568 | 375 จำนวนผู้เข้าชม |
Audemars Piguet แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เปิดตัวนาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet สองเรือนใหม่บนตัวเรือนสแตนเลส สตีล หลังจากเปิดตัวไปแล้วเมื่อปี 2023 นาฬิกาทั้ง 2 เรือนนี้มาพร้อมหน้าปัดและสายนาฬิกาในเฉดสีเทาใหม่ซึ่งตัดกันกับเฉดสีน้ำเงิน “Bleu Nuit, Nuage 50” ที่เป็นเอกลักษณ์ได้อย่างลงตัว โดยมีให้เลือก 2 เวอร์ชัน ได้แก่ รุ่น Selfwinding และรุ่น Selfwinding Chronograph ซึ่งออกแบบมาโดยคำนึงถึงหลักสรีรศาสตร์และการอ่านเวลาได้ชัดเจน ในรูปลักษณ์ที่เรียบง่ายทว่าประณีตพิถีพิถัน พร้อมทั้งเน้นย้ำความหลากหลายที่โดดเด่นของคอลเลกชัน
นาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet ทั้ง 2 เรือนนี้โดดเด่นด้วยดีไซน์แบบทูโทนที่เน้นย้ำ
ส่วนประกอบของตัวเรือนสแตนเลส สตีลที่รังสรรค์ขึ้นอย่างพิถีพิถัน © ภาพลิขสิทธิ์จาก Audemars Piguet
ดีไซน์ที่ผนวกความหรูหราเข้ากับความพิถีพิถันละเอียดอ่อน
นาฬิกาทั้งสองเรือนซึ่งรังสรรค์ขึ้นจากสแตนเลส สตีลทั้งหมด มาพร้อมการตกแต่งด้วยการขัดแบบซาตินสลับกับการขัดเงาลบมุมที่เป็นเอกลักษณ์ของ Audemars Piguet จึงให้รายละเอียดของการเล่นกับแสงที่ยิ่งโดดเด่นขึ้นอีกด้วยรายละเอียดสลักเสลาหลากหลายเหลี่ยมมุมของตัวเรือน Code 11.59 by Audemars Piguet หน้าปัดสีเทาสเลตเกรย์ที่ช่วยขับความโดดเด่นของตัวเรือนสแตนเลส สตีลได้อย่างกลมกลืน ยังตัดกับสีน้ำเงิน “Bleu Nuit, Nuage 50” บนขอบตัวเรือนด้านในและบนหน้าปัดย่อยได้อย่างโดดเด่น
หน้าปัดตกแต่งด้วยลายประทับนูน “เอกลักษณ์” ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยทีมออกแบบของ Audemars Piguet ภายใต้ความร่วมมือกับยานน์ วอน แคเนล (Yann Von Kaenel) ช่างฝีมือแกะสลักงานกิโยเช่ชาวสวิส แม่พิมพ์ที่ใช้ประทับบนหน้าปัดแกะสลักด้วยมืออย่างพิถีพิถัน โดยมาพร้อมลวดลายวงกลมซ้อนกันคล้ายคลื่นบนผิวน้ำ วงกลมเหล่านี้ยังประดับด้วยรูเล็ก ๆ หลายร้อยรูที่ให้รายละเอียดของการเล่นกับแสง จากนั้นหน้าปัดนาฬิกายังได้รับการเคลือบสีโดยใช้เทคนิคกัลวานิกเพื่อรักษาและเพิ่มมิติให้กับหน้าปัด สำหรับรุ่นโครโนกราฟ หน้าปัดย่อยสีน้ำเงิน “Bleu Nuit, Nuage 50” ได้มาจากวิธีการเคลือบแบบพีวีดี (physical vapour deposition) และล้อมกรอบด้วยเส้นใยกัลวานิกโรเดียม รายละเอียดอันรุ่มรวยของลวดลายยังดูโดดเด่นยิ่งขึ้นด้วยกระจกแซฟไฟร์ทรงโค้งสองชั้นที่พัฒนาขึ้นเป็นพิเศษสำหรับคอลเลกชัน Code 11.59 by Audemars Piguet
นอกเหนือจากนั้น นาฬิการุ่นใหม่นี้ยังมาพร้อมรายละเอียดที่โดดเด่นของเครื่องหมายบอกหลักชั่วโมงทรงเหลี่ยมขัดเงาที่มีรูปทรงยาวกว่าปกติ รวมถึงเข็มชั่วโมงและเข็มนาที ทั้งหมดเป็นไวท์โกลด์ 18 กะรัตเคลือบวัสดุเรืองแสง เพื่อให้การอ่านเวลาทำได้ดีที่สุดเมื่ออยู่ในที่มืด สายยางสีเทามีเท็กซ์เจอร์พร้อมบุด้านในด้วยหนังลูกวัวทำให้นาฬิกาเรือนนี้ดูสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น
ความท้าทายของสแตนเลส สตีล
ขานาฬิกาเป็นหนึ่งในคุณสมบัติพิเศษของนาฬิการุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet ซึ่งแตกต่างไปจากนาฬิกาหน้าปัดกลมส่วนใหญ่ตรงที่ส่วนบนของขานาฬิกาซึ่งออกแบบมาได้อย่างมีสไตล์ จะเชื่อมเข้ากับขอบตัวเรือนที่บางเฉียบได้อย่างแนบเนียน ในขณะที่ส่วนล่างของขานาฬิกาจะอิงอยู่กับฝาหลังอย่างประณีตในระนาบที่ดูลงตัวพอดี การทำงานออกแบบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวนี้เป็นผลลัพธ์ของการพัฒนาขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนและพิถีพิถัน เริ่มจากการนำบัดกรีซึ่งเป็นกาวชนิดหนึ่งทาลงบนรอยหยักที่แกะสลักไว้ภายในขานาฬิกา จากนั้นจึงบัดกรีด้วยเลเซอร์เพื่อสร้างรอยเชื่อม ก่อนนำส่วนประกอบต่าง ๆ ไปผ่านความร้อนในเตาเผาเพื่อให้บัดกรีเซ็ตตัวขณะที่หลอมละลาย ขั้นตอนการทำงานด้วยมือเหล่านี้จะเสร็จสมบูรณ์เมื่อนำมาตกแต่งต่อด้วยมือโดยใช้ตะไบเพื่อขจัดส่วนที่ยังไม่เรียบร้อยออกและทำให้ขานาฬิกาดูแวววาว
เดิมที ขั้นตอนการเชื่อมต่อนี้ถูกพัฒนาขึ้นสำหรับตัวเรือนทองคำ แต่ได้รับการดัดแปลงเพื่อให้เหมาะกับชิ้นงานสแตนเลส สตีล โทมัส ผู้จัดการเวิร์กช็อปของ Audemars Piguet ในเมย์ริน อธิบายว่า “การทำงานสแตนเลส สตีลต้องอาศัยความระมัดระวังมากขึ้นตลอดกระบวนการ ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิโดยรอบจะต้องไม่เกิน 25 องศา และการที่บัดกรีแห้งเร็วทำให้การผลิตชิ้นส่วนทำได้น้อยลงในแต่ละครั้ง การตกแต่งด้วยมือยังต้องใช้เวลานานกว่าเมื่อเป็นงานสแตนเลส สตีล นั่นแปลว่าการทำงานก็ยากขึ้นด้วย” นี่จึงเป็นเหตุผลให้การสร้างสรรค์ตัวเรือนของรุ่น Code 11.59 by Audemars Piguet ต้องใช้ทีมงานประมาณ 30 คน และต้องใช้เวลาทั้งปีกับทีมงานที่ตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อเฟ้นหาหนทางที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานสแตนเลส สตีล ทั้งนี้เพื่อให้ตรงตามมาตรฐานคุณภาพของ Audemars Piguet และเช่นเดียวกับวัสดุประเภทอื่น ๆ ชิ้นส่วนเหล่านี้จะต้องผ่านการทดสอบความทนทานในเครื่องจักรที่จะดึงขานาฬิกาจนกว่าจะหลุดออก “ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านโลหะมีค่า โปรเจกต์นี้ทำให้เราสามารถรวมความเชี่ยวชาญด้านการทำงานสตีลและขยายทักษะของเราให้ก้าวไปไกลยิ่งขึ้น การพัฒนาวิธีการทดสอบคุณภาพเพื่อให้ทันกำหนดการเปิดตัววางจำหน่ายนั้น ท้าทายแต่ก็นับว่าคุ้มค่าสำหรับทีมงานทุกคน ทุกครั้งที่เราเผชิญกับความท้าทายใหม่ ความหลงใหลและความสามัคคีกันของทีมมักจะทำให้เรามีแรงกระตุ้นอยู่เสมอ และทำให้เราก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองได้” โทมัส กล่าวสรุป
กลไกสุดล้ำหน้า
นาฬิการุ่นใหม่นี้มาพร้อมกับกลไกเจเนอเรชันล่าสุดของ Audemars Piguet ที่ผสานความแม่นยำทางเทคนิค ความน่าเชื่อถือ หลักสรีรศาสตร์ และการตกแต่งที่ประณีตเข้าด้วยกัน กลไกนี้ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะด้วยฝีมือของวิศวกรและช่างทำนาฬิกาของ Audemars Piguet เพื่อให้ใช้งานง่ายและสอดรับกับไลฟ์สไตล์ที่ร่วมสมัย
นาฬิการุ่นอัตโนมัติขับเคลื่อนด้วยพลังของคาลิเบอร์ 4302 ซึ่งสามารถระบุชั่วโมง นาที วินาที และวันที่ ส่วนนาฬิการุ่นโครโนกราฟขับเคลื่อนด้วยคาลิเบอร์ 4401 ซึ่งเป็นกลไกโครโนกราฟอัตโนมัติแบบบูรณาการที่มาพร้อม column wheel และฟังก์ชันฟลายแบ็ก ทั้งสองคาลิเบอร์มาพร้อมกลไกที่ได้รับการจดสิทธิบัตรซึ่งให้ความเสถียรและความแม่นยำเมื่อตั้งค่านาฬิกา ด้วยเส้นผ่านศูนย์กลางขนาดใหญ่ 32 มิลลิเมตร จึงช่วยรับประกันความเที่ยงตรงที่เพิ่มมากขึ้น คาลิเบอร์ 4401 ยังมีระบบเกียร์แนวตั้งที่ป้องกันไม่ให้เข็มนาฬิกากระโดดเมื่อฟังก์ชันการจับเวลาถูกเปิดใช้งานหรือหยุดการทำงาน กลไกรีเซ็ตที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วนี้ยังช่วยให้เข็มในหน้าปัดย่อยแต่ละเข็มกลับคืนสู่ตำแหน่งเดิมได้อย่างเที่ยงตรง
ขณะเดียวกัน ฝาหลังประดับแซฟไฟร์ยังเผยให้เห็น oscillating weight พิ้งค์โกลด์ 22 กะรัตที่รังสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษสำหรับคอลเลกชันนี้ รวมถึงรายละเอียดการตกแต่งเครื่องบอกเวลาชั้นสูงบนส่วนประกอบต่าง ๆ ของกลไกทั้งสองชิ้นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการขัดเงาที่มุม การขัดเงาแบบซาตินในแนวตั้ง งานขัดลายวงกลมวน “Côtes de Genève” เทคนิค “เซอร์คิวลาร์ เกรนิง” (Circular Graining) และการขัดเงาลบมุม
3 เม.ย 2568
3 เม.ย 2568
3 เม.ย 2568