AUDEMARS PIGUET Royal Oak Offshore

Last updated: 27 ก.พ. 2568  |  342 จำนวนผู้เข้าชม  | 

AUDEMARS PIGUET Royal Oak Offshore

เป็นเวลา 150 ปีเต็ม ที่ Audemars Piguet ผสานทักษะที่สืบทอดจากอดีตเข้ากับการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อผลักดันขีดจำกัดของการสร้างสรรค์เรือนเวลาพร้อมกับรักษาขนบธรรมเนียมที่เคยมีมาเอาไว้ ภายใต้ประวัติศาสตร์อันยาวนานดังกล่าวนี้ Audemars Piguet แบรนด์เครื่องบอกเวลาชั้นสูงจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จึงเปิดตัวนาฬิกา Royal Oak Offshore Selfwinding Chronograph รุ่นใหม่ 2 เรือนที่สำรวจหนทางใหม่ ๆ ในการเลือกใช้วัสดุอย่างเซรามิกต่อเนื่องในคอลเลกชัน เรือนแรกมาพร้อมดีไซน์สปอร์ต 3 โทนสีที่ผสมตัวเรือนเซรามิกสีดำขนาดหน้าปัด 43 มิลลิเมตรเข้ากับขอบตัวเรือน เม็ดมะยม และปุ่มกดเซรามิกสีเขียว ก่อนตัดกันได้อย่างน่าสนใจกับรายละเอียดของไทเทเนียม เรือนที่สองมาพร้อมตัวเรือนขนาด 42 มิลลิเมตรและสายนาฬิกาที่ทั้งหมดรังสรรค์ขึ้นจากเซรามิกสีดำ นาฬิกาทั้งสองเรือนขับเคลื่อนด้วยกลไกโครโนกราฟอัตโนมัติล่าสุดของ Audemars Piguet ได้แก่ คาลิเบอร์ 4401 และคาลิเบอร์ 4404 ซึ่งรายละเอียดการตกแต่งสุดประณีตบนกลไกสามารถมองเห็นได้ผ่านฝาหลังประดับแซฟไฟร์และไทเทเนียม สุนทรียะในการออกแบบที่ล้ำสมัยของทั้งสองเรือนผสานทั้งความทนทานของเซรามิกเข้ากับงานตกแต่งด้วยมือที่พิถีพิถันถึงขีดสุด ตอกย้ำความใส่ใจในทุกรายละเอียดซึ่งเป็นสิ่งที่ Audemars Piguet ยังคงสืบสานไว้จากรุ่นสู่รุ่น

นาฬิกา Royal Oak Offshore Selfwinding Chronograph รุ่นใหม่ที่รังสรรค์ขึ้นจากเซรามิก ผ่านการตกแต่งด้วยงานขัดเงาและงานขัดแบบซาตินด้วยมือที่เป็นเอกลักษณ์ของ Audemars Piguet ทั้งนี้เพื่อมอบรายละเอียดของการเล่นกับแสงที่ต่อเนื่องขับเน้นความโดดเด่นของดีไซน์หลายเหลี่ยมมุมของนาฬิกาในคอลเลกชันนี้ © ภาพลิขสิทธิ์จาก Audemars Piguet


สองเรือนในรูปลักษณ์สุดแกร่งตามแบบฉบับ Offshore
เซรามิกซึ่งใช้เป็นวัสดุหลักในการสร้างสรรค์นาฬิการุ่น Royal Oak Offshore Selfwinding Chronograph ทั้งสองเรือนนี้ มีความโดดเด่นทั้งในเรื่องน้ำหนักที่เบาและความทนทานต่อรอยขีดข่วน

เรือนแรกมาพร้อมตัวเรือนเซรามิกสีดำบนขนาดหน้าปัด 43 มิลลิเมตร ประกอบกับขอบตัวเรือน เม็ดมะยม และปุ่มกดเซรามิกสีเขียว ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกสำหรับตัวเรือนขนาดเท่านี้ ในขณะที่กรอบฝาหลัง กรอบปุ่มกด และหมุดเชื่อมสายนาฬิกาเป็นไทเทเนียมที่ตัดกับโทนสีเข้มของนาฬิกาได้อย่างลงตัว และเพื่อให้กลมกลืนไปกับแนวทางการออกแบบตัวเรือนแบบสามโทนสี บนหน้าปัดจึงใช้ลวดลาย Méga Tapisserie เจเนอเรชันล่าสุดในสีเขียวเข้มเคลือบพีวีดี ตัดกับขอบตัวเรือนด้านในสีดำและหน้าปัดย่อยลาย snail ที่แมตช์กันในตำแหน่ง 3, 6 และ 9 นาฬิกา ส่วนเข็มนาฬิกาและเครื่องหมายบอกหลักชั่วโมงไวท์โกลด์ 18 กะรัตเคลือบวัสดุเรืองแสงมาในเฉดสีเทาเงินที่ดูแวววาวสะดุดตา ทางด้านหลังของนาฬิกา ฝาหลังประดับแซฟไฟร์และไทเทเนียมเผยให้เห็นรายละเอียดอันซับซ้อนของคาลิเบอร์ 4401 ที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่ภายใน นาฬิกาโครโนกราฟเรือนนี้ยังมาพร้อมสายหนังมีเท็กซ์เจอร์สีเขียวเข้มพร้อมระบบถอดเปลี่ยนสายได้ รวมถึงสายนาฬิกายางสีดำสำรองอีกหนึ่งเส้นที่ช่วยเสริมให้นาฬิกาเรือนนี้ดูสปอร์ตยิ่งขึ้น

สำหรับนาฬิกาเรือนที่สองบนตัวเรือนเซรามิกสีดำขนาด 42 มิลลิเมตรและสายนาฬิกาสีแมตช์กัน มาพร้อมดีไซน์แบบโมโนโครมทรงพลังที่ตัดกันอย่างชัดเจนกับสกรูหกเหลี่ยม 8 ตัวที่ผลิตจากสตีลและโมโนแกรม AP บนหน้าปัดนาฬิกา ทั้งลวดลาย Mega Tapisserie เจเนอเรชันล่าสุด ขอบตัวเรือนด้านใน และหน้าปัดย่อยลาย snail ที่ตำแหน่ง 6, 9 และ 12 นาฬิกาผ่านการเคลือบพีวีดีสีดำเพื่อให้ได้เฉดสีที่สม่ำเสมอตลอดทั้งเรือน และเพื่อเสริมความโดดเด่นขึ้นอีกขั้น มาตรวัดความเร็วสีเทาเข้มและตัวระบุเวลาโครโนกราฟยังได้รับการขับเน้นด้วยเข็มนาฬิกาและเครื่องหมายบอกหลักชั่วโมงที่ทำจากไวท์โกลด์ 18 กะรัตรมดำ พร้อมเคลือบด้วยวัสดุเรืองแสงสีเทา


กลไกโครโนกราฟอัตโนมัติที่ล้ำหน้า
นาฬิกาทั้งสองเรือนมาพร้อมกลไกโครโนกราฟอัตโนมัติรุ่นล่าสุดของ Audemars Piguet โดยรุ่นหน้าปัด 43 มิลลิเมตรขับเคลื่อนด้วยคาลิเบอร์ 4401 ในขณะที่รุ่นหน้าปัด 42 มิลลิเมตรใช้กลไกของคาลิเบอร์ 4404

ทั้งสองคาลิเบอร์มีฟังก์ชันฟลายแบ็กซึ่งช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถรีเซ็ตและเริ่มจับเวลาใหม่ได้โดยไม่ต้องกดหยุดก่อน column wheel ทำงานด้วยระบบคลัตช์แนวตั้ง เมื่อเริ่มหรือหยุดจับเวลา เข็มนาฬิกาจะตอบสนองตามนั้นโดยไม่กระโดด นอกจากนี้ กลไกรีเซ็ตเป็นศูนย์ที่ได้รับการจดสิทธิบัตรแล้วยังช่วยให้เข็มจับเวลาแบบฟลายแบ็กสามารถรีเซ็ตเป็นศูนย์ได้ทันที

การตกแต่งกลไกด้วยความประณีตยังมองเห็นได้ชัดจากด้านหลังของนาฬิกา ไม่ว่าจะเป็นงานขัดลายวงกลมวน “Côtes de Genève” งานขัดเงาในแนวตั้ง งานขัดแบบวงกลมและเทคนิคการขัดลายแสงแดด (sunray brushing) เทคนิค “เซอร์คิวลาร์ เกรนิง” (Circular Graining) และการขัดเงาลบมุม นาฬิกาทั้งสองเรือนยังมาพร้อม oscillating weight พิ้งค์โกลด์ 22 กะรัตที่ออกแบบมาสำหรับรุ่นนี้โดยเฉพาะ โดยในรุ่นหน้าปัด 43 มิลลิเมตรจะมาพร้อมรายละเอียดของการเคลือบเป็นสีเทาเข้ม


ปลดล็อกความลับที่ซ่อนไว้ในเซรามิก
การสร้างสรรค์ส่วนประกอบของนาฬิกาด้วยเซรามิกต้องอาศัยความสม่ำเสมอและความแม่นยำในแบบเดียวกับที่เชฟผู้ปรุงอาหารต้องควบคุมปริมาณส่วนผสม เวลา และอุณหภูมิอย่างเข้มงวด ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าอาหารแต่ละจานจะปรุงออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ ขั้นตอนแรกคือการฝึกฝนกระบวนการสร้างสรรค์เซรามิกอย่างแม่นยำเพื่อให้ได้สีสันที่สมบูรณ์แบบ ขั้นตอนที่สองคือการเก็บรายละเอียดสุดท้ายในส่วนประกอบต่าง ๆ เพื่อเผยให้เห็นรูปลักษณ์ที่ประกอบด้วยหลากหลายเหลี่ยมมุมของนาฬิกา Royal Oak Offshore โดยยังคงรักษามาตรฐานคุณภาพสูงสุดของ   Audemars Piguet เอาไว้ และสุดท้ายคือการเก็บรายละเอียดการตกแต่งด้วยงานขัดเงาสลับกับงานขัดแบบซาตินบนผิวสัมผัสของตัวเรือนและสายนาฬิกา

โดยทั่วไปแล้ว สูตรการสร้างงานเซรามิกจะเริ่มต้นด้วยการคัดเลือก วัด และผสมส่วนผสมตามรสและเนื้อสัมผัสที่ต้องการ แม้ว่าส่วนผสมที่แน่ชัดของเซรามิกสำหรับ Audemars Piguet จะยังคงถูกเก็บไว้เป็นความลับ แต่สามารถพูดได้ว่าเซรามิกที่ใช้ประกอบนาฬิกานั้นประกอบด้วยผงเซอร์โคเนียมออกไซด์ (ZrO2) ที่นำมาผสมกับสารยึดเกาะเฉพาะก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นเซรามิกในกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อน ซึ่งต้องใช้เทคนิคการตัดเฉือนที่มีความแม่นยำสูงในหลายขั้นตอน เม็ดสีถูกเติมลงในผงก่อนกระบวนการผลิตเพื่อให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัสดุ และเช่นเดียวกับการอบเค้กที่เนื้อเค้กจะค่อย ๆ มีสีเข้มขึ้นเมื่อผ่านการอบในเตาอบ ส่วนประกอบต่าง ๆ จะเปลี่ยนสีได้ก็ต่อเมื่อผ่านกระบวนการเผาผนึกที่อุณหภูมิเกิน 1,400 องศาเซลเซียสเท่านั้น การจะทำให้เซรามิกออกมามีสีที่เป็นเนื้อเดียวกันนั้นต้องอาศัยกระบวนการที่มีความซับซ้อน และสีสุดท้ายของเซรามิกจะออกมาเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการเผาผนึกที่ไม่อนุญาตให้สีสันเปลี่ยนแปลงไป เช่นเดียวกับเรื่องส่วนผสมที่จะตอบสนองเมื่ออยู่ในอุณหภูมิเฉพาะจึงจะปลดปล่อยรสและเนื้อสัมผัสที่ต้องการออกมา

ในกระบวนการทำอาหาร การตกแต่งรายละเอียดสุดท้ายจะช่วยยกระดับอาหารจานนั้นให้ทั้งอร่อยและสวยงามน่ามองยิ่งขึ้น ซึ่งภายใต้แนวทางการทำงานที่มุ่งมั่นของแบรนด์ในการสร้างสรรค์งานฝีมือ ช่างฝีมือของ Audemars Piguet จึงพร้อมที่จะตกแต่งเซรามิกด้วยความพิถีพิถันในแบบเดียวกับการทำงานบนวัสดุโลหะสูงค่า เพื่อดึงคุณลักษณ์ที่ละเอียดอ่อนและงดงามที่สุดของวัสดุออกมา พร้อมเผยให้เห็นถึงความรุ่มรวยของสีสันไปพร้อมกัน แต่ละชิ้นส่วนจะต้องผ่านการขัดเงาและการขัดแบบซาตินล่วงหน้า ก่อนจะตกแต่งด้วยมืออย่างพิถีพิถัน อันแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานทั้งทักษะที่เก่าแก่และเทคโนโลยีสุดล้ำหน้าที่นับเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของ Audemars Piguet มานับตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์ และในท้ายที่สุด หากเปรียบเทียบกับการทำอาหารก็เหมือนการจัดจานให้ดูสวยเพื่อให้อาหารดูน่ารับประทาน การประกอบเส้นสายสุดละเอียดอ่อนที่มาจากการทำงานขัดเงาสลับงานขัดแบบซาตินเข้าด้วยกันบนผิวสัมผัสของตัวเรือนและสายนาฬิกา คือการเก็บรายละเอียดสุดท้ายที่ยังให้เกิดผลลัพธ์ที่งดงามไร้ที่ติ

“Audemars Piguet ใช้เวลาถึง 10 ปีในการพัฒนาเซรามิกจนได้เกรดที่ดีที่สุด และดีพอที่จะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่สตีล ไทเทเนียม และคาร์บอน การนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เราสามารถขยายขอบเขตของการเลือกใช้วัสดุใหม่ ๆ ให้ก้าวล้ำหน้าไปไกลเหนือความคาดหมาย”

ทิโบต์ เลอ ลัวเรอร์ (Thibaut Le Loarer)
ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย Audemars Piguet กล่าว

ความร่วมสมัยที่เผยความเคารพต่ออดีต
เซรามิกได้รับการแนะนำออกมาเป็นครั้งแรกที่ Audemars Piguet กับคอลเลกชัน Bamboo ในปี 1986 เมื่อการเลือกใช้วัสดุไฮเทคกำลังได้รับความนิยม คอลเลกชันนี้ซึ่งผสมผสานขนบที่สืบสานและงานนวัตกรรมเข้าด้วยกัน นำเสนอนาฬิการุ่นต่าง ๆ ที่มาพร้อมสายนาฬิกาสีทูโทน ผสมผสานสายทองคำประดับเพชรพร้อมข้อต่อเซรามิกในสีแดง ขาว หรือดำ

ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 วัสดุและโลหะผสมชนิดใหม่ ๆ ที่ได้แรงบันดาลใจจากวงการต่าง ๆ เช่น กีฬาเอ็กซ์ตรีม ได้แทรกซึมเข้ามาสู่การสร้างสรรค์เรือนเวลาชั้นสูง โดยนำเสนอออกมาในสีสันที่หลากหลายและดีไซน์ที่แปลกใหม่ สำหรับเซรามิกซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องในเรื่องของคุณสมบัติเชิงปฏิบัติและการใช้งานเป็นหลัก ได้รับการยอมรับในแนวทางใหม่และพัฒนาจนกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของทักษะใหม่ ๆ ทั้งในแง่ดีไซน์และเทคนิค คอลเลกชัน Royal Oak Offshore กลายเป็นแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์แบบสำหรับการทดลองใช้วัสดุชนิดนี้ ในปี 2006 โอเดอมาร์ ปิเกต์ได้เปิดตัวนาฬิการุ่น Royal Oak Offshore Rubens Barrichello Chronograph II ซึ่งเป็นนาฬิการุ่นแรกที่มาพร้อมขอบตัวเรือน เม็ดมะยม และปุ่มกดเป็นเซรามิกสีดำ นาฬิกาที่ได้แรงบันดาลใจจากยานยนต์รุ่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นของนาฬิกาสปอร์ตยุคใหม่กับขอบตัวเรือนเซรามิกหลายเฉดสี เช่น สีขาว สีน้ำเงิน และสีกากี

ในปี 2011 Audemars Piguet ได้ก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นด้วยการเปิดตัวนาฬิกาพร้อมตัวเรือนเซรามิกสีดำรุ่นแรกกับ Royal Oak Offshore Arnold Schwarzenegger The Legacy Chronograph ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 48 มิลลิเมตร นาฬิกาสปอร์ตสุดแกร่งและทนทานเป็นพิเศษเรือนนี้มอบสไตล์ที่โดดเด่นทว่าทันสมัยให้กับผู้สวมใส่ เซรามิกสีดำถูกยกระดับขึ้นอีกขั้นเมื่อไปปรากฏตัวอยู่ในคอลเลกชัน Royal Oak ในปี 2017 กับรุ่น Perpetual Calendar บนขนาดหน้าปัด 41 มิลลิเมตรที่เป็นเซรามิกสีดำล้วนรุ่นแรก ในครั้งนั้นยังเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ Audemars Piguet ด้วยที่นำเสนอสายนาฬิกาเป็นเซรามิกสีดำทั้งหมด ตอกย้ำความงดงามของดีไซน์ตัวเรือนและเทคนิคการทำงานด้วยมือของนาฬิกาในคอลเลกชันนี้ให้โดดเด่นยิ่งขึ้น จากนั้น 2 ปีต่อมา นาฬิการุ่นนี้ได้รับการเปิดตัวออกมาใหม่พร้อมการเลือกใช้เซรามิกสีขาว ขณะที่รุ่น Royal Oak อื่น ๆ ยังใช้เซรามิกสีดำ ไม่ว่าจะเป็นรุ่น Royal Oak Tourbillon Chronograph Openworked (2018), Royal Oak Perpetual Calendar Openworked (2019), Royal Oak Tourbillon Extra-Thin (2019) รวมถึงรุ่น Royal Oak Double Balance Wheel Openworked (2020)

ปัจจุบันเซรามิกมีให้เลือกในสีต่าง ๆ ได้แก่ สีขาว สีดำ สีน้ำตาล สีน้ำเงิน สีเขียว และสีเทา โดยเซรามิกยังคงเป็นวัสดุที่พร้อมผลักดันขีดจำกัดทั้งในเรื่องสไตล์และฟังก์ชันการใช้งานอย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นอย่างยาวนานของแบรนด์ในการเลือกนำเสนอวัสดุใหม่ ๆ โดยการผสมผสานประเพณีที่สืบสานเข้ากับนวัตกรรมล้ำหน้าที่คิดค้นขึ้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้