Last updated: 28 มิ.ย. 2567 | 1860 จำนวนผู้เข้าชม |
จากการได้เข้าร่วมฟังการบรรยายในหัวข้อที่เกี่ยวกับนาฬิกาที่ทางมหาวิทยาลัยของตนได้จัดขึ้น ทำให้คุณ ลีโอ ศิริพัฒนนันท์ ชายหนุ่มที่ในวันนั้นยังคงเป็นนักศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ในสถาบันชั้นนำของประเทศอังกฤษ กลายเป็นคนที่มีความรักนาฬิกามากที่สุดคนหนึ่งก็ว่าได้ มากไปกว่านั้นความหลงใหลในเครื่องบอกเวลายังทำให้เขาได้ก้าวเข้าสู่การเป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่ได้เข้ามาทำหน้าที่ของคณะกรรมการผู้คัดเลือกผลงานนาฬิกาในเวที GPHG 2023 ด้วย
อยากให้คุณเล่าถึงสิ่งที่กำลังทำอยู่ในช่วงนี้สักเล็กน้อย?
ตอนนี้กำลังจะทำธุรกิจเป็นตัวแทนให้กับวิสกี้แบรนด์หนึ่งครับ เป็นคราฟวิสกี้ 1 ใน 3 แบรนด์ที่ดีที่สุดในโลก โดยมีคอนเซปท์ในการผสมผสานโลกของศิลปะเข้ากับโลกวิสกี้ เป็นการเปลี่ยนแนวคิดของวิสกี้ว่าไม่ใช่เพียงเครื่องดื่มเพียงอย่างเดียว แต่สามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารได้ โดยวิสกี้แบรนด์นี้ได้เป็นพาร์ทเนอร์ชิพกับร้านอาหารดังๆ ระดับโลกกว่า 50 ร้าน นอกจากนี้ผมก็มีธุรกิจร้านอาหารชื่อว่าร้านบ้านเก่า เป็นอาคารเก่าแก่มีที่ตั้งอยู่ในย่านตลาดพลู ใกล้ๆ กับสถานี MRT ตลาดพลู โดยเป็นร้านที่ตั้งใจให้มีคอนเซปท์สนุกๆ โดยคิดไว้ว่าอยากให้เป็นที่พบปะของเหล่านักสะสมนาฬิกาด้วย เหมือนเป็นคลับของคนรักนาฬิกา มีร้านอาหาร มีโซนคาเฟ่ และมีซิกการ์เลานจ์ด้วยครับ
ความชื่นชอบในนาฬิกาของคุณเริ่มต้นได้อย่างไร?
ต้องขอบคุณคุณพ่อเป็นอันดับแรกเลยครับ จริงๆ คุณพ่อก็ไม่ได้เป็นคนที่อินกับนาฬิกามากนักนะครับ ซึ่งท่านก็จะมีใส่นาฬิกาแบรนด์ที่ทุกคนรู้จักกันดี อย่าง Rolex หรือ Patek Philippe ซึ่งนาฬิกาที่ผมจะเห็นท่านใส่อย่างชินตาเลยคือ Patek Philippe Ref. 5712 เป็นเรือนที่คุณพ่อจะใส่เป็นประจำ ซึ่งตอนที่อยู่อังกฤษครอบครัวเราก็มีกิจการเปิดร้านอาหารไทยที่นั่น คุณพ่อก็จะเป็นพ่อครัวลงมือทำอาหารเอง ภาพจำจากตอนเด็กๆ คือจะเห็นคุณพ่อใส่ชุดเชฟ และมีนาฬิกา Ref. 5712 เรือนนี้คู่ข้อมือในขณะที่ทำอาหารไปด้วย ทำให้เวลาที่ผมเห็นนาฬิกาเรือนนี้ ก็จะคิดถึงคุณพ่อผมด้วย จุดนี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมได้เกิดความชื่นชอบในนาฬิกาขึ้นมานิดนึงครับ แต่จุดที่ทำให้ผมรู้สึกสนใจอยากรู้เรื่องราวของนาฬิกาจริงๆ เป็นความชื่นชอบที่ผมมีอยู่ในทุกวันนี้คือ การได้เข้าฟังบรรยายพิเศษในมหาวิทยาลัย ซึ่งวันหนึ่งเขาได้เปิดการบรรยายในหัวข้อเกี่ยวกับโลกแห่งนาฬิกาหรู เขาได้มีการเชิญคุณฟรองซัวส์-อองรี เบนนาเมียส ซีอีโอของ Audemars Piguet มาเป็นผู้บรรยาย ซึ่งตอนก่อนหน้าที่เรายังไม่ได้ฟังบรรยาย เรายังไม่ค่อยได้รู้อะไรเกี่ยวกับนาฬิกามากนัก แต่วันนั้นพอได้ฟังที่คุณฟรองซัวส์มาบรรยาย ก็รู้สึกชื่นชอบในบุคลิก อัธยาศัยของเขา รู้สึกว่าเขาเป็นคนที่เท่มากเลย ไม่ได้เหมือนคนเป็นซีอีโอที่ต้องใส่สูทผูกไท เขาดูทันสมัยมีการพูดที่ดูไม่แก่เลย เลยทำให้รู้สึกสนใจในแบรนด์นาฬิกา Audemars Piguet และอยากที่จะมีนาฬิกาแบรนด์นี้ในครอบครอง อยากที่จะศึกษาเรื่องราวของแบรนด์นี้มากขึ้นรวมถึงเรื่องของนาฬิกาแบรนด์อื่นๆ ด้วย เรียกว่าผมมีคุณพ่อจริงๆ และคุณฟรองซัวส์ที่ยกให้เป็นคุณพ่อในวงการนาฬิกาที่ทำให้ผมรักนาฬิกามากๆ ครับ
หลังจากที่ได้เจอคุณฟรองซัวส์แล้วเป็นอย่างไร?
หลังจากตอนนั้นแล้วผมได้กลายเป็น AP Super Fan เลยก็ว่าได้ ทุกวันจะคอยป้ายยาคุณพ่อให้ซื้อนาฬิกา AP ตลอด วันละนิดวันละหน่อยสุดท้ายคุณพ่อก็ได้เริ่มซื้อ AP บ้าง ก็จะได้มีแวะเวียนมาที่บูติกนาฬิกา AP อยู่บ่อยๆ และได้มีแอบบอกกับพนักงานว่า ถ้าคุณฟรองซัวส์ได้มาประเทศไทย รบกวนบอกเขาให้หน่อยว่าผมอยากเจอเขามากๆ แม้ว่าจะเจอกันแค่ไม่กี่นาทีก็ได้ ก็ได้พูดแบบนี้ทุกครั้งที่ได้ไปแวะบูติก AP ตลอดเวลา 2-3 ปี จนในที่สุดที่ประเทศไทยได้มีจัดอีเว้นท์หนึ่งที่ AP House คุณฟรองซัวส์ก็ได้มาร่วมงานด้วย ซึ่งงานนี้ก็ได้มีการเชิญลูกค้ามาร่วมงานด้วยประมาณ 10 คู่ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีผมและคุณพ่อที่ได้ร่วมงานด้วย และผมก็ได้มีโอกาสเจอคุณฟรองซัวส์ในที่สุด การเจอกันในครั้งนั้นเราก็คุยกันค่อนข้างถูกคอเลย คุยไปคุยมาเขาก็เชิญให้ผมได้ไปที่โรงงานที่ Le Brassus ให้ผมได้มีโอกาสไปดูทุกสิ่งทุกอย่างที่นั้น รู้สึกเหมือนเราเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว AP เพราะมีการแนะนำให้รู้จักกับทุกๆ คนที่เป็นผู้บริหารสำคัญรวมถึงคุณโอลิเวีย โอเดมาร์ส ด้วย หลายๆ อย่างพวกเขาน่ารักกับผมมาก AP เป็นแบรนด์ที่ผมรักมากๆ
คุณเข้ามาเป็น GPHG Academy Member ได้อย่างไร?
ก็จริงๆแล้วตามหลักของบุคคลที่จะเข้ามาเป็น Academy Member ของ GPHG ก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ประสบการณ์ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมนาฬิกามาค่อยข้างมาก เช่น ผู้สื่อข่าว นักสะสม ผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับนาฬิกามากพอสมควร เป็นต้น ทั้งนี้ในปีที่แล้วทาง GPHG มีความต้องการในการเพิ่มสมาชิก Academy ขึ้นมาอีกโดยจะเป็นผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ซึ่งทาง Audemars Piguet ก็ได้โควตามา และเขาเล็งเห็นว่าผมเหมาะสมกับการที่จะได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย ซึ่งแน่นอนเลยว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่งสำหรับผมครับ
รู้สึกอย่างไรกับการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินของ GPHG ในปีที่แล้ว?
ผมรู้สึกดีกับการเปิดโอกาสให้เราได้เห็นแบรนด์หน้าใหม่มากขึ้น เพราะโดยปกติเราจะคุ้นเคยกับผลงานจากผู้ผลิตรายใหญ่ๆ แบรนด์ชั้นนำ แต่การปรับเปลี่ยนให้มีการเสนอชื่อของแบรนด์ใหม่ๆ การแนะนำช่างนาฬิการุ่นใหม่ๆ เป็นเหมือนการเปิดพื้นที่ให้กับแบรนด์อิสระ ช่างนาฬิกาอิสระมากขึ้น ซึ่งสำหรับผมผมรู้สึกว่าสร้างความสนใจที่ได้เห็นผลงานจากแบรนด์ใหม่ๆ แบรนด์อิสระที่เรายังไม่เคยเห็นหรือรู้จักมาก่อน
สำหรับนาฬิกาที่เอามาให้ชมวันนี้มีเรื่องราวอย่างไรบ้าง?
ทุกเรือนที่นำมาให้ชมในวันนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจทุกเรือนเลยครับ อย่างที่กล่าวไปก็คือ Ref. 5712 ซึ่งนอกจากจะเป็นเรือนที่คุณพ่อเคยใส่เป็นประจำแล้ว ยังเป็นเหมือนการแสดงออกว่าผมเองก็เหมือนกับคุณพ่อในตอนนั้นที่กำลังเริ่มต้นทำธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทย ยังมีอะไรที่ต้องเรียนรู้ใหม่เพราะ ถึงภายนอกผมจะเป็นคนไทย แต่การใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษมาตลอดทำให้ผมยังไม่คุ้นชินกับเรื่องต่างๆ ในประเทศไทยมากนัก อีกเรือนที่ผมภูมิใจมากคือ Patek Philippe เรือนพิเศษที่ผลิตขึ้นเพื่อตลาดรัสเซียหลังจากสิ้นสุดช่วงสงครามเย็นในยุค 80s โดยผลิตขึ้นในจำนวนจำกัดเพียง 300 เรือน ผมรู้สึกชอบในสไตล์การออกแบบที่มีความเป็นรัสเซีย เช่น เม็ดมะยมที่มีการนำเสนอในรูปแบบคล้ายๆ ไข่ฟาแบร์เช ทำให้รู้สึกว่าเป็นนาฬิกา Patek Philippe ที่แตกต่างจากที่ทุกๆ คนเคยเห็นครับ และเป็นอีกหนึ่งเรือนที่ผมรักมากและจะไม่ขายอย่างแน่นอน
ในปัจจุบันอุปกรณ์อิเลกโทรนิคต่างๆ สามารถบอกเวลาให้เราได้ อยากทราบว่านาฬิกามีความจำเป็นกับคุณอย่างไร?
กล่าวตามตรงว่า ทุกวันนี้ผมก็เป็นคนที่ดูเวลาจากสมาร์ทโฟน และใช้งานสมาร์ทวอทช์ด้วย แต่สิ่งที่ทำให้สิ่งเหล่านี้แตกต่างจากนาฬิกาจักรกลเพราะ เราไม่สามารถชื่นชมกับงานฝีมือระดับสูงได้เหมือนที่ได้รับจากนาฬิกาหรูแบรนด์ต่างๆ การได้ครอบครองนาฬิกาหรูเป็นสิ่งที่ทำให้เราให้ความใส่ใจดูแลรักษา และสร้างความภาคภูมิใจให้กับเรามากๆ อีกสิ่งหนึ่งคือมันเป็นสิ่งที่สื่อถึงเรื่องราวและประสบการณ์ต่างๆ อย่างที่ได้เล่าไปถึงเรือนที่คุณพ่อใส่ตอนที่ทำงานร้านอาหาร และนาฬิกาที่ผมใส่ ผมจะไม่กังวลในเรื่องของรอยขีดข่วน เพราะผมรู้สึกว่าร่องรอยเป็นเสมือนการสื่อถึงความทรงจำ เรื่องราว ให้เราได้หวนนึกถึงเรื่องราวดีๆ ได้ครับ สำหรับผมแล้วนาฬิกาจะไม่มีวันหายไปจากชีวิตผมอย่างแน่นอนครับ
27 มี.ค. 2567
25 มี.ค. 2567
22 ต.ค. 2558
20 ก.ย. 2567