RADO Captain Cook High-Tech Ceramic Skeleton

Last updated: 13 ก.ย. 2567  |  235 จำนวนผู้เข้าชม  | 

RADO Captain Cook High-Tech Ceramic Skeleton

หากพูดถึงคอลเล็กชั่นนาฬิกาที่ได้รับความนิยมตลอดกาลของ Rado ต้องมีชื่อ Captain Cook นำหน้ามาแน่นอน เพราะประสบความสำเร็จมาตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1962 ซึ่งแม้เวลาจะผ่านมาเกินกว่า 60 ปีแล้ว แต่ Rado ยังคงเติมความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ จนกระทั่งปีนี้แบรนด์ได้เปิดตัว Captain Cook High-Tech Ceramic Skeleton พร้อมทยอยเนรมิตไฮเทคเซรามิกสีใหม่ๆ ออกมาเพิ่มความแปลกตา แน่นอนว่าได้รับเสียงตอบรับจากคนรักนาฬิกาทั่วโลกเป็นอย่างดี

ส่วนนาฬิกาเรือนใหม่ล่าสุดในซีรีส์ Captain Cook Skeleton เรือนนี้ มาในโทนสีที่ดูเข้มแข็ง อบอุ่น ตัวเรือนเป็นไฮเทคเซรามิกสีดำด้าน ตัดกับขอบหน้าปัด PVD สีโรสโกลด์เช่นเดียวกับเม็ดมะยม มาพร้อมกับคริสตัลแซฟไฟร์ที่เคลือบสารป้องกันแสงสะท้อนทั้งสองด้าน เผยให้เห็นหน้าปัดรมควันด้านในที่ดูมีเสน่ห์กับกลไกการเดินคาลิเบอร์ออโตเมติก R808 ซึ่งรังสรรค์ขึ้นมาอย่างประณีตบรรจง นอกจากนี้ยังมีแฮร์สปริง Nivachron™ ช่วยป้องกันสนามแม่เหล็ก ทำให้นาฬิกาเรือนนี้บอกเวลาได้อย่างแม่นยำในทุกสภาพแวดล้อม การันตีด้วยการผ่านการทดสอบความแม่นยำครบทั้ง 5 ตำแหน่ง และยังมีคุณสมบัติสำรองพลังงานได้ยาวนานสูงสุด 80 ชั่วโมง เมื่อพลิกนาฬิกาไปด้านหลังก็จะพบฝาหลังไทเทเนียมชุบ PVD สีดำ กับคริสตัลแซฟไฟร์ที่เปิดให้เราเห็นชิ้นส่วนต่างๆ อันสลับซับซ้อนน่าค้นหา รวมทั้งได้เห็นกลไกการเดินในอีกมุมหนึ่งด้วย

ไม่เพียงภาพรวมเท่านั้นที่ดูมีสไตล์พร้อมให้เราใส่ออกไปผจญภัยในโลกกว้าง แต่เมื่อมองลงไปในรายละเอียดเล็กๆ ของ Captain Cook High-Tech Ceramic Skeleton เรือนนี้ จะยิ่งพบความงดงามโดดเด่นอีกมากมาย อาทิ ขอบหน้าปัดแบบหมุนได้สีโรสโกลด์ที่ทำจากสแตนเลส ดีไซน์ให้บริเวณรอยหยักมีความคมชัดเจน เพื่อเสริมความสปอร์ตและทะมัดทะแมง ขยับเข้ามาบริเวณกรอบหน้าปัดไฮเทคเซรามิกสีดำด้าน มีการใช้เทคนิคยิงเลเซอร์เพื่อช่วยลดรอยนิ้วมือ ให้สวมใส่ได้อย่างไร้กังวล ส่วนขีดบอกเวลา ตัวเลข และเข็มนาฬิกาเป็นสีโรสโกลด์ โดยเคลือบสาร Super- LumiNova® สีดำพิเศษไว้ ซึ่งจะเรืองแสงสีฟ้าราวกับหลุดมาจากอวกาศ ให้เรามองเห็นเวลาได้อย่างชัดเจนไม่ว่าแสงรอบตัวจะน้อยเพียงใดก็ตาม

อีกคุณสมบัติสำคัญที่เป็นเอกลักษณ์ของนาฬิกาตระกูลนี้ ก็คือการใช้ไฮเทคเซรามิกมาผลิตแบบโมโนบล็อก ตัวเรือนจึงดูเรียบเนียนในทุกมุมมอง สายนาฬิกาเองก็ทำจากไฮเทคเซรามิกสีดำด้าน มอบความรู้สึกสบายผิวอันเป็นจุดเด่นที่ทำให้คนรักนาฬิกาหลงใหล บริเวณสายนาฬิกามีบานพับล็อกสามทบทำจากไทเทเนียมกับปุ่มกดที่ผลิตจากเซรามิก ขณะที่ชิ้นส่วนและความดีงามอื่นๆ ก็ยังคงคุณภาพสูงตามแบบฉบับของ Rado อาทิ เม็ดมะยมแบบขันสกรู การประกอบนาฬิกาอย่างแม่นยำโดยผู้เชี่ยวชาญ และกันน้ำได้ลึกถึง 30 บาร์ (300 เมตร)

เห็นได้เลยว่าตลอดระยะเวลา 62 ปีของนาฬิกาตระกูล Captain Cook นี้ ได้มีการพัฒนาดีไซน์ให้มีความหลากหลายมาโดยตลอด มีการนำศิลปะแห่งไฮเทคเซรามิกมาผสานกับเทคโนโลยีที่ทันสมัย ใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปในทุกดีเทลไม่ว่าจะเป็นการสลักลวดลายแบบ Côtes-de-Genève ดีไซน์กลไกการเดินให้มีหลายเฉดสี หรือการวางสัญลักษณ์สมอเคลื่อนที่บนพื้นหลังสีแดงทับทิม องค์ประกอบทั้งหมดนี้รวมกันจนเกิดเป็น Captain Cook High-Tech Ceramic Skeleton เรือนใหม่ที่ดูเพลินตา และโดดเด่นในแบบของตัวเอง พร้อมให้ทุกคนได้ใส่ออกไปผจญภัยกับช่วงเวลาอันยิ่งใหญ่ตามแบบฉบับของตน

ทำไมต้องไฮเทคเซรามิก – เพราะไม่เหมือนวัสดุอื่นๆ…
หากจะพูดถึงหัวใจสำคัญของไฮเทคเซรามิกของ Rado ก็ต้องใช้คำว่า “Feel it” คือต้องสัมผัสและทำความรู้จัก ถึงจะพบว่านี่คือสุดยอดวัสดุที่ไม่มีใครเหมือน จากจุดเริ่มต้นในอดีตที่ต้องการผลิตวัสดุที่มีความทนทานสูง ทำให้ Rado สร้างสรรค์ไฮเทคเซรามิกขึ้นมาได้สำเร็จ เป็นสารที่มีน้ำหนักเบา ทนทานต่อรอบขีดข่วนได้อย่างดีเยี่ยม

แต่ในความแข็งแกร่ง ทนทานของไฮเทคเซรามิก ยังมีอีกคุณสมบัติที่น่าหลงใหล นั่นคือความสบายผิว เมื่อสวมบนข้อมือแล้วจะสัมผัสได้ถึงความนุ่มเป็นมิตรกับผิว ทั้งตัวเรือนและสายนาฬิกา เหมือนเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้อยู่บนข้อมือเราอย่างแท้จริง เป็นสัมผัสที่ไม่ว่าใครก็จะไม่มีวันลืม

ข้อมูลเกี่ยวกับไฮเทคเซรามิก
Rado เปิดตัวไฮเทคเซรามิกครั้งแรกเมื่อปีค.ศ.1986 วัสดุที่มีคุณสมบัติมากมาย ทั้งแข็งแรงทนทาน ป้องกันรอยขีดข่วนได้ น้ำหนักเบา และให้สัมผัสนุ่มนวล ทั้งหมดนี้ชนะใจคนรักนาฬิกาทั่วโลกได้ทันที

ไฮเทคเซรามิกเกิดขึ้นได้ด้วยวิทยาศาสตร์ขั้นสูง ต้องใช้ทั้งผงอะลูมิเนียมออกไซด์, เซอร์โคเนียมออกไซด์ และซิลิกอนไนไตรด์บริสุทธิ์ที่มีขนาดเกรนเท่ากันทั้งหมด จากนั้นนำมาขึ้นรูป แล้วเข้าอบในอุณหภูมิสูง โดยมีพลาสติกผสมผงแร่เป็นสารตัวกลางที่ช่วยให้ฉีดขึ้นรูปในแม่พิมพ์ได้อย่างแม่นยำ ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องอยู่ใต้แรงดันราว 1,000 บาร์ หลังจากนั้นเมื่อส่วนประกอบเย็นตัวลง ก็นำไปเผาผนึกที่อุณหภูมิ 1450°C ขั้นตอนนี้อยู่ในระดับเดียวกับการผลิตจรวด ซึ่งทำให้ไฮเทคเซรามิกมีความหนาแน่นและแข็งแรงกว่าเซรามิกทั่วไป โดยช่างเทคนิคต้องคำนวณขนาดนาฬิกาให้แม่นยำ เพราะกระบวนการเผานี้ตัวเรือนจะหดลง 23% ส่วนความแข็งสุดท้ายที่ได้อยู่ในระดับ 1,250 Vickers พร้อมเข้าสู่กระบวนการเจียระไนและตกแต่งด้วยเครื่องมือเดียวกับที่ใช้เจียระไนเพชร

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้