THE VAN CLEEF & ARPELS Collection (1906-1953)

Last updated: 26 มิ.ย. 2567  |  672 จำนวนผู้เข้าชม  | 

THE VAN CLEEF & ARPELS Collection (1906-1953)

การตีพิมพ์หนังสือรวบรวมผลงาน The Van Cleef & Arpels Collection (1906-1953) ฉบับที่ 1 ในปีค.ศ. 2024 ครั้งนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งวาระสำคัญของเมซง นับเป็นครั้งแรกที่งานออกแบบ สร้างสรรค์เครื่องประดับอัญมณีในคอลเลกชัน

ผลงานมรดกหรือ Patrimonial Collection ของเมซงได้ถูกศึกษา และวิเคราะห์ในเชิงศิลปะ วิจารณ์ หรือศิลปะพิจักษ์โดยอาศัยรูปแบบการศึกษาเชิงประดิษฐกรรม ร่วมกับแนวทางศาสตร์วิทยา เนื้อหาในงานตีพิมพ์ตามโครงสร้างแค็ตตาล็อกประกอบนิทรรศการเล่มที่หนึ่งนี้ คือการหยิบยกผลงานเครื่องประดับ, ศิลปะวัตถุตกแต่ง และนาฬิกา ซึ่งมีการสรรค์สร้างขึ้นระหว่างค.ศ. 1906 ถึง 1953 เป็นจำนวนเกือบ 700 ชิ้นร่วมกับเอกสารข้อมูลประกอบอีก 200 ชุดจากแผนกจัดเก็บผลงานตัวอย่างสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมซง เพื่อใช้เป็นหัวข้อทางการสืบย้อนเชิงวิจักษ์ผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์, ศิลปะ และบริบทวัฒนธรรมในช่วงเวลาที่ผลงานแต่ละชิ้นเหล่านั้นได้รับการผลิตขึ้น นั่นก็คือช่วงแรกของศตวรรษที่ 20

นอกจากจะเป็นเสมือนบันทึกเรื่องราวของศิลปะ และประวัติศาสตร์ผ่านวิวัฒนาการหัตถกรรมอัญมณีแล้ว หนังสือรวบรวมผลงานซึ่งอาศัยโครงสร้างการจัดทำแบบแค็ตตาล็อกประกอบนิทรรศการเล่มนี้ ยังมอบความเพลิดเพลินทางการอ่าน พร้อมกับอรรถาธิบายถึงบทบาท และสถานภาพผลงานทั้งหลายของเมซงในหน้าประวัติศาสตร์งานศิลป์สากลผ่านลำดับภาพประกอบอันงดงาม กับเนื้อหาอันพรั่งพร้อมไปด้วยองค์ความรู้ ร่วมกับงานกราฟิกในการออกแบบรูปเล่ม อาจกล่าวได้ว่าแต่ละหน้าหนังสือคือตู้จัดแสดงผลงานล้ำค่าในคอลเลกชันส่วนตัวของเมซงหรือ Van Cleef & Arpels Collection ที่พร้อมสรรพด้วยข้อมูลประกอบเชิงลึกอย่างครบครัน

เพื่อให้เข้าถึงผู้ปรารถนาการอ่านในวงกว้างอย่างที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แค็ตตาล็อกศิลปะพิจักษ์เล่มนี้ ยังได้รับการจัดทำในรูปแบบหนังสือดิจิทัลเป็นภาษาฝรั่งเศส และอังกฤษด้วยเช่นกันโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนั้น ยังมีการจัดทำวิดิทัศน์ประกอบ ร่วมกับพ็อคแคสต์เพื่อร่วมกันสร้างความเพลิดเพลินให้แก่ประสบการณ์การเรียนรู้สำหรับทุกคนผู้สนใจ เหนืออื่นใด เนื้อหาในช่องทางดิจิทัลนี้ จะยังมีการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่องในทุกครั้งเมื่อเมซงได้ทำการซื้อคืนตามกระบวนการรวบรวมผลงานเข้ามาประมวลไว้ในคอลเลกชันมรดก

สำหรับหนังสือรวบรวมผลงานเล่มแรกนี้ ได้จัดแบ่งเนื้อหาออกเป็นสามบท ประกอบไปด้วย “ปฐมบรรพสร้างสรรค์” หรือ The creative boom ยุคก่อตั้งเมซงระหว่างปีค.ศ.1906-1925, “เอกลักษณ์สร้างอัตลักษณ์” หรือ A unique identity ว่าด้วยยุคพัฒนาเอกลักษณ์ประจำเมซง ซึ่งดำเนินให้เห็นอย่างชัดเจนในช่วง ค.ศ. 1926-1937 และ “จากปารีสสู่นิวยอร์ก” หรือ From Paris to New York ยุคขยายอาณาจักรธุรกิจจากปี ค.ศ. 1938 ถึง 1953 การแบ่งหมวดหมู่ตามยุคสมัยดังกล่าว อำนวยต่อการทำความเข้าใจความต่อเนื่องของเหตุการณ์ตามลำดับประวัติศาสตร์ของเมซงอย่างลงลึกได้ง่ายดาย โดยที่แต่ละยุคจะถูกสรุปความผ่านบรรดาผลงานชิ้นสำคัญของคอลเลกชัน ซึ่งต่างล้วนจารึกเรื่องราวความเป็นเลิศทางการใช้ความคิดสร้างสรรค์ของ Van Cleef & Arpels ลงสู่หน้าประวัติศาสตร์สากล หรือในทางกลับกัน ก็เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ สะท้อนถึงเรื่องราวความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะแต่ละกาลสมัย

หนังสือพิเศษ The Van Cleef & Arpels Collection (1906-1953) เรียบเรียงเนื้อหาโดย เอมิลี เบรารด์ (Émilie Bérard), เมโลดี เลอ เลย์ (Mélodie Le Lay), เซซิล ลูกองด์ (Cécile Lugand), มาริอง มูชารด์ (Marion Mouchard), ฟลอรี ซู (Florie Sou) และ โซแลน ตาเกต์ (Solène Taquet) จำนวน 678 หน้า มี 3 ภาษาคือฝรั่งเศส อังกฤษ และจีน ใครที่ชอบแบรนด์นี้ ควรมีเก็บไว้สักเล่ม

บทสัมภาษณ์

Nicolas Bos
ประธานบริษัท และประธานคณะกรรมการบริหาร Van Cleef & Arpels

Q: เพราะเหตุใด คุณจึงตัดสินใจดำเนินการจัดทำ และตีพิมพ์หนังสือรวบรวมผลงานส่วนตัวใน Van Cleef & Arpels Collection ขึ้นเป็นครั้งแรก?

อันที่จริงเกือบทุกครั้งเวลาเมซงจัดนิทรรศการแสดงผลงานใดๆ ร่วมกับผลงานมรดกชิ้นสำคัญบางส่วน ก็จะมีการตีพิมพ์หนังสือรวบรวมรายละเอียดประกอบเป็นแค็ตตาล็อกประกอบมาตลอด หากคราวนี้ ถือเป็นครั้งแรกซึ่งเราทำการตีพิมพ์เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของบรรดาเครื่องประดับ และผลงานทั้งหมดในคอลเลกชันส่วนตัวขององค์กรที่เราเรียกว่า Van Cleef & Arpels Collection อันเป็นผลลัพธ์จากการเสาะหาเพื่อเก็บรวบรวมผลงานต่างๆ กลับมาประมวลเป็นคอลเลกชันส่วนตัวของเมซง โดยเริ่มต้นขึ้นระหว่างทศวรรษ 1970 และขยายผลอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ งานตีพิมพ์ชุดนี้ เป็นผลจากการสั่งสมองค์ความรู้อย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับกรณีศึกษางานสร้างสรรค์ชิ้นเด่นในแต่ละยุคสมัยของเมซง โดยมีแผนกประมวลผลงานมรดก (patrimony department) เป็นแกนนำ ปัจจุบัน ในส่วนของคอลเลกชันอันควรค่าต่อการเป็นมรดกองค์กร ประกอบไปด้วยผลงานกว่า 2,700 ชิ้น ร่วมกันเล่าเรื่องราวของกระบวนการออกแบบสร้างสรรค์ภายใน Van Cleef & Arpels อย่างครอบคลุมทุกแง่มุมจากแหล่งกำเนิดแรงบันดาลใจไปจนถึงวัสดุ และเทคนิค เหล่านี้คือสาเหตุซึ่งงานตีพิมพ์ครั้งนี้ได้รับการจัดทำขึ้นในรูปแบบของแค็ตตาล็อกเชิงวิชาการ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือหนังสือประมวลผลงานศิลปะพิจักษ์เชิงศาสตร์วิทยา (catalogue raisonné) อย่างที่ใช้ในการสรุปความงานวิเคราะห์ผลงานของศิลปินแขนงใดๆ

Q: เนื้อหาของหนังสือ อาศัยระบบการศึกษาวิจัยตามแนวทางศาสตร์วิทยา ซี่งหาได้ยากมากในแวดวงเครื่องประดับชั้นสูง เหตุใดจึงนำหลักการวิเคราะห์เชิงศาสตร์วิทยาเช่นนี้มาใช้กับผลงานคอลเลกชันนี้?

การจัดทำเนื้อหาเกี่ยวกับผลงานต่างๆ ของ Van Cleef & Arpels ในบริบทของกระบวนการสร้างสรรค์ อำนวยให้เราได้ทำการทบทวนถึงบทบาทของเครื่องประดับอัญมณีในขอบข่ายของมัณฑนศิลป์ อันมีความสอดคล้องกับกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเรากำลังดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี อย่างเช่นการเปิดโรงเรียนอัญมณีศิลป์หรือ L’ÉCOLE, School of Jewelry Arts ขึ้นในกรุงปารีสเมื่อปีค.ศ. 2012, การตัดสินใจเป็นองค์กรอุปการเอกสิทธิ์ให้แก่แกลเลอรีเครื่องประดับของพิพิธภัณฑ์มัณฑนศิลป์ (Musée des Arts décoratifs) แห่งกรุงปารีสนับตั้งแต่ปีค.ศ. 2012 และการนำคอลเลกชันผลงานมรดกไปแสดงในนิทรรศการต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นร่วมกับบรรดาสถาบันพิพิธภัณฑ์อันมีชื่อเสียงโด่งดังระดับสากล เหล่านี้ล้วนเป็นหลักฐานแสดงความผูกพัน และการยกย่องความหมาย ความสำคัญที่เรามีต่อคุณค่าของการศึกษา และเผยแพร่ส่งผ่านองค์ความรู้ ด้วยโครงการริเริ่มเหล่านี้ เรามุ่งหวังที่จะแสดงให้เห็นว่า เครื่องประดับอัญมณี หาได้เป็นเพียงศิลปะเอกเทศแขนงหนึ่ง หากยังมีปฏิสัมพันธ์ หรือความข้องเกี่ยวกับศิลปะแขนงอื่น ซึ่งสร้างแรงบันดาลใจในการออกแบบ สร้างสรรค์เครื่องประดับ และขณะเดียวกัน เครื่องประดับก็สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปะแขนงอื่นได้ด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงกล่าวได้ว่าเครื่องประดับอัญมณีเป็นทั้งศิลป์ และศาสตร์ อันมีบทบาทสำคัญยิ่งในฐานะองค์ประกอบสำคัญส่วนหนึ่งทางประวัติศาสตร์ศิลปะสากล

Q: หนังสือประมวลผลงานชุดนี้ แบ่งออกเป็นสองวาระตีพิมพ์ โดยฉบับแรกได้ทำการตีพิมพ์ในปีค.ศ. 2024 เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับศิลปะพิจักษ์ผลงานในยุคต้นศตวรรษ คือระหว่างค.ศ. 1906 ถึง 1953 และฉบับที่สองคือผลงานระหว่างปีค.ศ. 1954 ถึง 2000 อะไรเป็นสาเหตุให้ตัดสินใจแบ่งภาคเนื้อหาออกมาในลักษณะนี้?

เราเลือกที่จะแบ่งเนื้อหาออกเป็นสองภาคตามลำดับยุคสมัย และช่วงเวลาซึ่งปรากฏเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมซง นั่นก็คือปีค.ศ. 1906 วาระก่อตั้ง และเปิดทำการบูติกแห่งแรก ณ อาคารเลขที่ 22 จัตุรัสว็องโดมใจกลางมหานครปารีส ส่วนค.ศ. 1954 อีกปีสำคัญยิ่งไม่แพ้กันกับการริเริ่มแนวคิดของคอลเลกชัน La Boutique ซึ่งถือเป็นแนวคิดนวัตกรรมอย่างโดดเด่นในยุคนั้นด้วยการแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งภายในบูติกสำนักงานใหญ่จัตุรัสว็องโดมสำหรับวางจำหน่ายเครื่องประดับอันถือกำเนิดจากการเปลี่ยนแปลงทางบริบทสังคม และรหัสสัญลักษณ์ทางการแต่งกาย รวมถึงศิลปะการตัดเย็บ และการฟื้นฟูใหม่ของวัฒนธรรมห้องเสื้อชั้นสูงหลังผ่านความมืดมน และอัตคัดของสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคนั้น La Boutique ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเข้าถึงกลุ่มลูกค้า “วัยเยาว์” ตามกลยุทธ์โฆษณาสมัยนั้น นี่คือคอลเลกชันเครื่องประดับซึ่งมีความเป็นส่วนตัว ให้ความรู้สึกเฉพาะบุคคลยิ่งขึ้นโดยอาศัยรัตนชาตินานาชนิด ร่วมกับงานฝีมือช่างทอง ในขณะที่คอลเลกชัน La Boutique นับเป็นตัวอย่างยุคแรกของเครื่องประดับ ซึ่งถูกผลิตขึ้นในจำนวนจำกัด เพื่อใช้กับการแต่งกายประจำวัน ปีค.ศ. 2002 ก็ถูกอ้างอิงในฐานะปรากฏการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ด้วยเช่นกันว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการหวนคืนสู่แนวทางงานออกแบบคอลเลกชันเครื่องประดับชั้นสูง วาระแห่งการฟื้นฟูชื่อเสียงอันเกริกไกรในอดีตของ Van Cleef & Arpels ให้กลับมารุ่งโรจน์ใหม่อีกครั้งนับจากนั้นเป็นต้นมา

Q: คุณช่วยพูดถึงเนื้อหาในเล่มที่ 2 เป็นการเกริ่นล่วงหน้าก่อนได้หรือไม่?

เนื้อหาในส่วนที่สอง คือเรื่องราวซึ่งดำเนินขึ้นระหว่างช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 อันกล่าวได้ว่าเป็นอีกยุครุ่งโรจน์ของ Van Cleef & Arpels ทีมผู้เชี่ยวชาญจากแผนกผลงานมรดก และนักประวัติศาสตร์ศิลปะของเมซง ได้ร่วมกันทุ่มเทให้กับงานศึกษาวิจัยเพื่อร้อยเรียงประเด็นสำคัญต่างๆ ทางกระบวนการสร้างสรรค์ตลอด 50 ปีหลังของศตวรรษ แผนกจัดเก็บเอกสาร และตัวอย่างผลงานสำคัญทางประวัติศาสตร์ของ Van Cleef & Arpels ถือเป็นศูนย์รวมข้อมูลซึ่งดูเหมือนจะไม่มีวันหมดสิ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคอลเลกชันอื่นๆ โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ก็ยังต้องพึ่งพาแหล่งข้อมูลนอกองค์กรด้วยเช่นกัน อย่างศูนย์สารสนเทศ, สำนักงานบันทึกสารสนเทศสาธารณะ, ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์ ทั้งหมดนี้คือการดำเนินงานระยะยาว ซึ่งพวกเราก็เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อที่จะตีพิมพ์หนังสือภาคสองออกมา ซึ่งก็ประมาณอีกสองปีนับจากนี้

Q: คุณใช้วิธีใดในการรวบรวม และประมวลภาพประกอบผลงานสร้างสรรค์ทั้งหลายเหล่านี้?

โครงการขนาดใหญ่ในการถ่ายภาพผลงานต่างๆ ใน The Van Cleef & Arpels Collection ได้เริ่มต้น และดำเนินควบคู่ไปกับกระบวนการศึกษา วิเคราะห์ และประมวลผลเรียบเรียงเนื้อหา เราต้องการภาพประกอบที่มีความครบถ้วน สมบูรณ์ และหมดจด ทั้งในแง่ของคุณภาพของภาพ, ความกลมกลืนระหว่างภาพ รวมถึงทุกแง่มุมรายละเอียด ในแง่ของรูปแบบ หนังสือเล่มนี้อาจดูคล้ายแค็ตตาล็อกประกอบนิทรรศการ นั่นก็คือผลงานเครื่องประดับ กับข้อมูลเนื้อหาต่างส่งเสริมเติมเต็มกันและกัน นอกจากนั้น เพื่อความครบครันของงานภาพประกอบ เรายังถ่ายทำภาพยนตร์สำหรับใช้กับแค็ตตาล็อกศิลปะพิจักษ์ในช่องทางสื่อดิจิทัลด้วยเช่นกัน

Q: เหตุใดคุณถึงเลือกเข็มกลัด “กลีบใบ” ซ่อนหนามเตยปีค.ศ. 1936 มาเป็นภาพขึ้นหน้าปกแค็ตตาล็อกศิลปะพิจักษ์เล่มนี้?

เข็มกลัด “กลีบใบ” (Flower brooch) จากปีค.ศ. 1936 คือผลงานชิ้นสำคัญระดับปรากฏการณ์ในฐานะตัวแทนการเปลี่ยนแปลงอันเกิดขึ้นระหว่างรอยต่อของยุคสมัยในเชิงสุนทรียศิลป์ทางการออกแบบ ลูกเล่นซ้อนใบต่างเฉดสี คือหลักฐานบ่งชี้ว่าความนิยมอันมีต่องานออกแบบดอกไม้ ใบไม้ที่ใช้กับเครื่องประดับสมัยนั้นกำลังเปลี่ยนผ่านจากแนวทางธรรมชาตินิยม ให้ความสำคัญต่อความสมจริงตามธรรมชาติไปสู่รูปแบบอลังการศิลป์หรือ “อาร์ต เดโค” (Art Deco) ซึ่งมีสไตล์เฉพาะตัวด้วยการใช้เหลี่ยมมุมกับรูปทรงเรขาคณิต ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากโมทิฟใบไม้รองล่าง ในทางกลับกัน โมทิฟลายลักษณ์ใบไม้ชิ้นบน ก็แสดงให้เห็นว่ากระบวนการพัฒนางานออกแบบก็ยังคงได้รับอิทธิพลอย่างลึกซึ้งจากแนวทางธรรมชาตินิยม และแนวนิยมดั้งเดิมนี้ก็จะดำรงอยู่สืบไปในอนาคตโดยอาศัยเทคนิคใหม่ๆ อย่างเช่นสัณฐานโค้งสมจริงของลายลักษณ์ใบไม้ชิ้นบน ได้รับการทวีความคมชัดด้วยเทคนิคฝังอัญมณีขึ้นตัวเรือนแบบซ่อนหนามเตยหรือ Mystery Set ทักษะในการกลบซ่อน บดบังโครงสร้างโลหะตัวเรือนให้พ้นสายตาอย่างหมดจด และแนบเนียน เทคนิคซึ่งดำเนินการจดสิทธิบัตรครั้งแรกเมื่อปีค.ศ. 1933 นี้ กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์หัตถศิลป์มรดกประจำเมซง และได้มีการปรับแต่งให้มีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้นทางรูปทรงสามมิติในปีค.ศ. 1935 วิวัฒนาการขยายผลครั้งนี้ นำไปสู่การจดสิทธิบัตรครั้งที่สองระหว่างปีค.ศ. 1936 ปีเดียวกับที่มีการสรรค์สร้างเข็มกลัดชิ้นนี้ ด้วยเหตุนั้น นี่จึงนับเป็นหนึ่งในตัวอย่างยุคแรกของกระบวนการพัฒนาระดับปรากฏการณ์ เป็นตัวอย่างแสดงถึงการนำวิวัฒนาการเชิงเทคนิคมาใช้สร้างอัตลักษณ์ หรือลักษณะเฉพาะตัวทางงานออกแบบผลงานชิ้นนี้ เป็นหนึ่งในเครื่องประดับซ่อนหนามเตย ซึ่งมีความเก่าแก่ที่สุดในครอบครองของเรา จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับใช้เป็นบทสรุปเนื้อหาสำคัญของหนังสือเล่มนี้ เหนืออื่นใด แผนกผลงานมรดกสามารถตามหา และติดต่อซื้อกลับมาตอนที่เราจัดทำรูปเล่ม และภาพประกอบของแค็ตตาล็อกศิลปะพิจักษ์ฉบับแรกเสร็จสิ้นพอดี ดังนั้น เราทุกคนก็เห็นพ้องต้องกันว่าเข็มกลัดชิ้นนี้ควรค่าแก่การขึ้นหน้าปกหนังสืออย่างแท้จริง

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้