DR. LORENZ BRUNNER

Last updated: 26 ธ.ค. 2567  |  725 จำนวนผู้เข้าชม  | 

DR. LORENZ BRUNNER

 หลังจากสำเร็จการศึกษาด้านวัสดุศาสตร์จาก ETH Zurich เขาได้รับเชิญเข้าร่วมทำงานเป็นนักวิจัยที่ National Institute of Standards and Technology ในสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมาเรียนต่อที่ ETH Zurich อีกครั้ง พร้อมคว้าปริญญาเอกด้านเทคโนโลยีในกลุ่มโพลีเมอร์ที่แผนกวัสดุศาสตร์ และเข้าร่วมงานกับ IWC Schaffhausen เมื่อปี 2012 ในตำแหน่ง ผู้จัดการโครงการวิจัยและนวัตกรรมของแบรนด์ ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการแผนกวิจัยและนวัตกรรมในปี 2017 จนถึงปัจจุบัน Dr. Lorenz Brunner ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวัสดุล้ำสมัยอย่าง Ceratanium® ที่ผสานความเบาและทนทานของไทเทเนียมเข้ากับความแกร่งและทนต่อรอยขีดข่วนของเซรามิก นอกจากนี้ยังร่วมพัฒนาระบบซับแรงกระแทก นวัตกรรมที่ช่วยปกป้องกลไกภายใน รวมไปถึงนวัตกรรมวัสดุศาสตร์ทั้ง เซรามิกสีทราย ทองสูตรใหม่ Armor Gold® 18 กะรัต และโพลีเมอร์เสริมคาร์บอนไฟเบอร์ชนิดใหม่ ที่นำมาใช้กับนาฬิกาหลายรุ่นของแบรนด์ เบื้องหลังการทำงานได้รับการเปิดเผยในครั้งนี้แล้ว


เหตุใด IWC จึงโฟกัสคอลเลกชัน Portugieser ในปี 2024?
สำหรับคอลเลกชัน Portugieser ที่เราเพิ่งเปิดตัวไปในงาน Watches & Wonders ในเจนีวา เป็นโครงการที่มีความซับซ้อนมาก ไม่ว่าจะเป็นรุ่นซับซ้อนสูงอย่าง Portugieser Eternal Calendar ที่ใช้เวลาหลายปีในการพัฒนา และผลงานอีกหลายรุ่นที่ใช้เวลาการสร้างวิจัยและสร้างสรรค์ เพื่อให้มีความพร้อมอย่างสมบูรณ์แบบสำหรับเรา ซึ่งผลงานทุกชิ้นก็ถึงเวลาที่เหมาะสมแล้วในการเผยโฉมคอลเลกชันที่ยอดเยี่ยมของเราในปีนี้

การพัฒนานาฬิการะบบปฏิทินถาวรในรุ่น Portugieser Eternal Calendar และทำให้กลไกสามารถปรับตั้งปฏิทินได้ตลอดกาลโดยไม่ต้องมีการปรับตั้ง มีความท้าทายอย่างไรสำหรับทีมงาน?
Portugieser Eternal Calendar เป็นนาฬิกาที่นำเสนอกลไกที่สมบูรณ์แบบของปฏิทินเกรกอเรียน ซึ่งหมายความว่ามันจะสามารถคำนวณความแตกต่างและข้อยกเว้นในระบบปฏิทินนี้ ซึ่งระบบปฏิทินร้อยปี (Perpetual Calendar) แบบดั้งเดิมนั้น จะตั้งโปรแกรมไว้สำหรับรอบ 4 ปี โดยมี 3 ปีปกติและตามด้วยปีอธิกสุรทิน โดยการออกแบบระบบ perpetual calendar นั้น กลไกจะปรับตั้งความแตกต่างในทุกสี่ปีว่ามีปีอธิกสุรทินอยู่ด้วย และแทรกวันที่ 29 เดือนกุมภาพันธ์เข้าไปในระบบ ซึ่งระบบนี้ ผู้ใช้ต้องปรับตั้งเวลาด้วยตัวเองในปีศตวรรษที่มีการข้ามปีอธิกสุรทินตามปฏิทินเกรกอเรียนที่จะเกิดขึ้นสามครั้งในระยะเวลา 400 ปี (ปีที่ลงท้ายด้วย 00 และหารด้วย 100 ลงตัวไม่ใช่ปีอธิกสุรทิน แต่ปีที่ลงท้ายด้วย 00 แต่หารด้วย 400 ลงตัวนับเป็นปีอธิกสุรทิน) ซึ่ง IWC Portugieser Eternal Calendar รุ่นนี้ได้รับการปรับตั้งโปรแกรมให้กับกลไกจักรกลที่จะคำนวณข้อยกเว้นต่างๆ เหล่านี้อย่างครบถ้วน โดยใช้โมดูลเพิ่มเติมที่จะติดตั้งอยู่บนเฟืองของปฏิทินรอบ 4 ปี โดยมีชุดเกียร์ของรอบ 400 ปีที่จะเริ่มทำงานในทุก 4 ปี เมื่อสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ เสมือนการแจ้งให้ระบบกลไกรับรู้ว่าเป็นปีอธิกสุรทินหรือไม่ การปรับเปลี่ยนในทุก 400 ปีที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะประกอบด้วยรอยเซาะลึก 3 ช่องที่จะข้ามปีที่ไม่ใช่ปีอธิกสุรทินช่วงเวลานั้นไป นาฬิกา Portugieser Eternal Calendar  จึงสามารถคำนวณปีอธิกสุรทินได้อย่างถูกต้องจนถึงปี 3999 เป็นอย่างน้อย โดยไม่มีข้อจำกัดของระบบปฏฺิทินถาวรอีกต่อไป อย่างไรก็ตามในปี 4000 ยังไม่มีการกำหนดอย่างเป็นทางการว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือไม่ เราจึงตั้งไว้ที่ปี 3999 นั่นเอง

นาฬิการุ่น Portugieser Perpetual Calendar ยังระบุว่าสามารถปรับตั้งเวลาข้างขึ้นข้างแรมของดวงจันทร์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำยาวนาน 45 ล้านปี เราจะตรวจสอบความถูกต้องของคุณสมบัตินี้ได้อย่างไร?
คุณสามารถยึดถือคำพูดเราได้ ในมุมขำๆ นะครับ แต่ความจริง แน่นอนว่า เรามีการคำนวณการแสดงข้างขึ้นข้างแรมอย่างถูกต้องแม่นยำอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ความยากในการแสดงข้างขึ้นข้างแรมบนหน้าปัดนาฬิกากลไกจักรกลนั้นมาจากภาพของดวงจันทร์ที่ไม่ได้หมุนไปตามจังหวะของแต่ละวันในวงโคจรของมันที่หมุนรอบโลก หนึ่งรอบการโคจรจากข้างขึ้นไปสิ้นสุดที่ข้างแรมและกลับมาข้างขึ้นใหม่ ไม่ได้เกิดขึ้นใน 30 วัน แต่เป็นวงโคจรที่ 29 วัน 14 ชั่วโมง 44 นาที และประมาณ 2.88 วินาที ดังนั้น เราจึงต้องลดระยะเวลาการโคจรของโลกที่หมุนรอบตัวเองให้มีความใกล้เคียงกับรอบจันทรคติหนึ่งรอบมากที่สุด ซึ่งทำได้โดยการวางชุดเกียร์ทดระหว่างกลไกหลักและแผ่นจานที่แสดงข้างขึ้นข้างแรม ระดับความแม่นยำที่จะคำนวณได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเฟือง สัดส่วนและซี่ของเฟือง สำหรับ Portugieser Perpetual Calendar เราจำลองการทำงานด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์มากกว่า 22 ล้านล้านครั้ง นี่คือวิธีที่เราสร้างชุดเกียร์ที่ใช้เฟือง 3 ชุด ซึ่งตามทฤษฎีแล้ว จะให้ความแม่นยำในการแสดงค่าของเวลาพระจันทร์ที่คลาดเคลื่อนเพียง 1 วันในรอบ 45 ล้านปี


อะไรคือความท้าทายของการพัฒนากลไกจักรกล คาลิเบอร์ 52640 สำหรับ Eternal Calendar?
ความท้าทายประการหนึ่งมาจากข้อเท็จจริงที่ว่า กลไกที่พัฒนาขึ้นภายในโรงงาน IWC คาลิเบอร์ 52640 สำหรับ Portugieser Eternal Calendar โดยพื้นฐานแล้วไม่สามารถใช้พื้นที่ของกลไกได้มากกว่ากลไกที่มีระบบปฏิทินร้อยปี perpetual calendar ดังนั้น เราต้องติดตั้งชุดเกียร์ 400 ปีและเกียร์ทดพร้อมเฟือง 3 ชุด เพื่อให้การแสดงเวลาพระจันทร์มีความเที่ยงตรงสูงและยาวนาน ให้อยู่ในพื้นที่จำกัดขนาดเดียวกันกับ perpetual calendar อีกความท้าทายหนึ่งก็คือ การผลิตชิ้นส่วนสำหรับชุดเกียร์ 400 ปี และเกียร์ทดของเวลาพระจันทร์ เพื่อให้รับประกันการทำงานที่แม่นยำและเชื่อถือได้ตลอดระยะเวลาที่ยาวนานมากนี้ การตัดและเจาะด้วยเครื่อง CNC รุ่นดั้งเดิมไม่สามารถสร้างชิ้นส่วนที่แม่นยำเหล่านี้ให้กับเราได้ เราจึงต้องหันมาใช้กระบวนการที่เรียกว่า LIGA โดยชิ้นส่วนกลไกจะใช้กระบวนการ “lab-grown” หรือการสร้างขึ้นในห้องแล็ป คล้ายกับการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ในโรงงานเซมิคอนดักเตอร์

IWC ได้พัฒนาระบบปฏิทินถาวรหรือ Eternal Calendar ได้สำเร็จแล้ว คุณคิดว่ายังมีอะไรที่จะพัฒนาต่อสำหรับระบบปฏิทิน Perpetual Calendar อีกไหม?
เราเป็นวิศวกร เราค้นพบความท้าทายใหม่ๆ และสิ่งที่เราสามารถปรับปรุงพัฒนาสู่ความสมบูรณ์แบบ ตัวอย่างหนึ่งในกลุ่มกลไกระบบปฏิทินของเราคือการแสดงปีด้วยตัวเลข 4 ตัว ซึ่งปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนระหว่างเดือนมกราคม 2200 และเดือนมกราคม 2300 นี่คือตัวอย่างของสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่ แน่นอนว่าเราจะต้องพัฒนาการแสดงปีในแบบตัวเลข 4 หลักที่สามารถใช้งานได้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนไปจนถึงปี 9999 ในอนาคต

ปีนี้ IWC ยังมีรหัสสีใหม่สำหรับ Portugieser Automatic ด้วย อยากทราบว่ามีเทคนิคพิเศษอย่างไรที่ทำให้สีหน้าปัดมีความหลากหลายน่าสนใจเช่นนี้?
สีสันเอกลักษณ์ใหม่ของเราคือ Horizon Blue, Dune, Obsidian และ Silver Moon ได้แรงบันดาลใจจากวงจรอันเป็นนิรันดร์ของเวลากลางวันไปจนถึงกลางคืน การสร้างสีบนแผ่นฐานทองเหลืองจะแตกต่างกันในแต่ละสี เราใช้กระบวนการเคลือบแบบ PVD หรือการเคลือบเงาแบบดั้งเดิม แต่สิ่งที่หน้าปัดทุกแบบมีเหมือนกันคือการสร้างขึ้นจากการเคลือบใสมากถึง 15 ชั้น กระบวนการที่ละเอียดอ่อนนี้รวมถึงการขัดเงาจะสร้างความเงางามที่สะดุดตา หน้าปัดย่อยที่ได้รับการหลอมรวมระหว่างฐานแผ่นทองเหลืองกับการเคลือบชั้นที่เงา และการติดตั้งองค์ประกอบต่างๆ ได้รับการตกแต่งอย่างประณีตด้วยมือ การใช้แลคเกอร์โปร่งใสนี้ยังทำให้หน้าปัดมีความลึกซึ่งมีผลต่อการอ่านค่าได้ดียิ่งขึ้น กระบวนการผลิตที่สมบูรณ์นั้นเต็มไปด้วยความซับซ้อนและท้าทายในการควบคุมให้ได้สีที่ต้องการ ซึ่งใช้กระบวนการทำงานมากกว่า 60 ขั้นตอนเลยทีเดียว


Ceratanium® ที่คุณมีส่วนในการพัฒนาให้ IWC นับเป็นนวัตกรรมด้านวัสดุศาสตร์ที่ก้าวล้ำมาก คุณมีแผนจะพัฒนาวัสดุนี้ต่อหรือไม่ อย่างไร?
Ceratanium® เป็นนวัตกรรมวัสดุที่สำคัญที่สุด เราได้พัฒนาขึ้นที่ IWC ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในฐานะ “บิดา” แห่งวัสดุนี้ ผมภูมิใจอย่างมากกับความสำเร็จของเรา Ceratanium® มีพื้นฐานจากโลหะผสมไทเทเนียมพิเศษที่หล่อขึ้นตามข้อกำหนดเฉพาะของ IWC ซึ่งนำไปใช้ในการตัดขึ้นรูปเป็นตัวเรือน ขั้นตอนหลักคือกระบวนการเผา ในระหว่างการเผาด้วยความร้อน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงบนพื้นผิวของวัสดุ ซึ่งถือว่าคุณสมบัติทั่วไปของเซรามิกรวมถึงสีเมทัลลิก ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ Ceratanium® มีความเบาและทนทานพอๆ กับไทเทเนียม ขณะเดียวกันก็มีความแข็งและต้านทานการเกิดรอยขีดข่วนได้เหมือนกับเซรามิก การเปิดตัว Ceratanium® ถือเป็นหลักชัยสำคัญสำหรับเรา เพราะช่วยให้เราสามารถผลิตนาฬิกาที่มีสีดำล้วนได้เป็นครั้งแรก เช่นเดียวกับวัสดุอื่นๆ เราจะมองหาวิธีปรับปรุงกระบวนการผลิตของเราอยู่เสมอ และ Ceratanium® ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น

ในด้านเทคนิค IWC มุ่งเน้นอะไรเป็นพิเศษบ้าง?
สำหรับการพัฒนาด้านเทคนิคที่กำลังดำเนินอยู่ที่ IWC Schaffhausen เรามองว่าโดยพื้นฐานของนาฬิกากลไกจักรกลอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักในช่วง 300 ปีที่ผ่านมา แต่แน่นอนว่า ยังมีอีกหลายด้านที่เราสร้างสรรค์ พัฒนาและปรับปรุงสิ่งใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ในฐานะผู้จัดการแผนกวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาด้านเทคนิคคือสิ่งสำคัญสำหรับผม ซึ่งจะเป็นภารกิจประจำวัน ความสนใจของผมจะมุ่งไปด้านวัสดุศาสตร์อย่างที่เห็น เราได้สร้างสรรค์นวัตกรรมด้านวัสดุขั้นสูงเสมอ หลังจาก Ceratanium® แล้ว เราก็มุ่งเน้นไปที่การสร้างสีสันที่สมบูรณ์แบบให้กับเซรามิกมาหลายปี โดยนำเสนอสีใหม่ๆ เช่น Mojave Desert, Lake Tahoe หรือ Woodland ปีที่แล้ว เราก็ได้เปิดตัวนาฬิกา Big Pilot’s Watch AMG G 63 นาฬิการุ่นแรกที่มาพร้อมตัวเรือนซึ่งผลิตจาก Ceramic Matrix Composite (CMC) ด้วยความร่วมมือการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ German Aerospace Center (DLR) นอกจากวัสดุใหม่ๆ แล้ว แผนกของผมยังให้ความสำคัญกับหัวข้อวิจัยอื่นๆ ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์อันยาวนานของเรา  เราจึงให้ความสนใจกับระบบปฏิทินและฟังก์ชันจับเวลาเป็นพิเศษ โดยพัฒนาปรับปรุงใหม่ เสาหลักของการวิจัยอีกประการก็คือ ประสิทธิภาพและความทนทานของนาฬิกา ตัวอย่างเช่น การพัฒนานาฬิการุ่น Big Pilot’s Watch Shock Absorber XPL ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไม่นานมานี้ ที่มีความทนทานเป็นเยี่ยม อย่างไรก็ตาม ผมต้องขอโทษจริงๆ ที่ไม่สามารถบอกคุณได้ว่า เรากำลังทำอะไรอยู่ในตอนนี้ แต่มั่นใจได้เลยว่า เราจะทำให้คุณประหลาดใจต่อไปได้อย่างแน่นอน จากเสาหลักของเราอย่างใดอย่างหนึ่งที่มีอยู่

อะไรคือความท้าทายที่สุดสำหรับคุณในการพัฒนาสินค้าให้กับ IWC?
การพัฒนานาฬิกากลไกจักรกล คือโครงการที่มีความซับซ้อนมาก ในช่วงแรกของอุตสาหกรรมเรา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบนาฬิกามีเพียงช่างซ่อมนาฬิกากับนักออกแบบเท่านั้น ปัจจุบัน มีผู้เชี่ยวชาญอีกมากมายที่นั่งรอบโต๊ะ ไม่ว่าจะเป็นวิศวกรด้านกลไก, นักออกแบบ, ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิต, นักวิทยาศาสตร์ด้านวัสดุอย่างผม และยังรวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญจากฝ่ายขายและการตลาดด้วย การที่เรามีคนจำนวนมากอยู่บนโต๊ะทำให้กระบวนการทำงานซับซ้อนมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เราบรรลุถึงการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีมากขึ้นในแง่มุมของคุณภาพและความน่าเชื่อถือด้วย

เมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับ IWC คุณให้ความสำคัญกับเรื่องอะไรมากกว่ากัน ระหว่างการรักษามรดกดั้งเดิมหรือการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่?
ผมคิดว่าผมให้ความสำคัญทั้งสองด้านเลยครับ เราเป็นแบรนด์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 150 ปี แต่เราก็ยังเป็นแบรนด์ที่สดใหม่และทันสมัยเช่นกัน เราพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่องในด้านต่างๆ เช่น กลไกซับซ้อน, วัสดุ และภาพรวมของผลิตภัณฑ์ทั้งในด้านคุณภาพและความน่าเชื่อถือ อย่างเช่น นาฬิกา Portugieser Eternal Calendar เป็นตัวอย่างที่ดีในการผสมผสานมรดกดั้งเดิมและนวัตกรรมเข้าด้วยกัน โดยต่อยอดจากความเชี่ยวชาญและวิศวกรรมกลไกจักรกลของระบบปฏิทินดั้งเดิม ซึ่งเริ่มต้นจากกลไกปฏิทินร้อยปี perpetual calendar อันชาญฉลาดของ Kurt Klaus ที่พัฒนาขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 และสร้างสรรค์ขึ้นจากแนวคิดของระบบปฏิทินที่ซิงโครไนซ์และควบคุมด้วยเม็ดมะยมแบบเดียวกัน หากยกระดับไปสู่อีกขั้นโดยการบูรณาการกลไกใหม่ที่เปลี่ยนปฏิทินร้อยปี perpetual calendar สู่ปฏิทินเกรกอเรียนที่สมบูรณ์แบบ

คุณยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างไรในโลกอุตสาหกรรมและการใช้เทคโนโลยีให้ทำงานที่เพิ่มมากขึ้นในยุคปัจจุบัน?
การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นหัวใจสำคัญของ IWC Schaffhausen นับตั้งแต่ Florentine Ariosto Jones ช่างนาฬิกาและวิศวกรชาวอเมริกัน เดินทางมาถึงสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 1868 เพื่อผสานรวมวิธีการผลิตทางอุตสาหกรรมจากบ้านเกิดของเขาเข้ากับทักษะงานฝีมือด้านหัตถศิลป์ของช่างนาฬิกาชาวสวิส การทำเช่นนั้น เขาได้ก่อตั้งสายการผลิตนาฬิกาแบบรวมศูนย์แห่งแรกในประเทศ เขาสร้างโรงงานบนฝั่งแม่น้ำไรน์ และใช้กระแสน้ำที่ได้จากแม่น้ำเพื่อสร้างพลังงานให้กับเครื่องจักรของเขา เมื่อผมมองไปรอบๆ ในแผนกของผม ผมคิดว่าเราสามารถสร้างนวัตกรรมในสาขาที่กล่าวถึงข้างต้นได้ เนื่องจากมีเทคโนโลยีใหม่และวิธีการผลิตแบบใหม่ ตัวอย่างเช่น การผลิตตัวเรือนนาฬิกาด้วยเซรามิกคอมโพสิต (Ceramic matrix composites) ที่เป็นไปไม่ได้เมื่อหลายปีก่อน ผมเชื่อว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและกระบวนการต่างๆ  เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมสำหรับเราที่ IWC Schaffhausen และแน่นอนว่า มันช่วยให้เพื่อนร่วมงานในแผนกของผมมีแนวคิดที่อยากรู้อยากเห็นมากขึ้นด้วย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้