MR. PASCAL RAFFY

Last updated: 26 ธ.ค. 2567  |  106 จำนวนผู้เข้าชม  | 

MR. PASCAL RAFFY

จากนักสะสมนาฬิกา Mr. Pascal Raffy (มร.ปาสคาล ราฟฟี่) ก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ผลิตนาฬิกาเต็มตัวในปี 2001 โดยเข้าซื้อโรงงาน Bovet แบรนด์ที่มีอายุกว่า 200 ปีนับจากก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 1822 ในยุคแรกการผลิตนาฬิกายังไม่มีจำนวนมากนัก จนกระทั่งปี 2006 เขาซื้อโรงงานในเมืองทราเมลัน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยความต้องการสร้างสรรค์นาฬิกาแบบผลิตภายในโรงงานหรืออินเฮาส์ให้มากที่สุด พร้อมกับการซื้อปราสาท Château de Môtiers ซึ่งเป็นปราสาทที่มีอายุกว่า 600 ปี ตั้งอยู่บนเทือกเขาฌูร่าที่มองเห็นวิวของหมู่บ้านเฟอริเยร์ ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของ House of Bovet ของพี่น้องตระกูล Bovet ปราสาทแห่งนี้จึงกลายเป็นที่รู้จักทั่วโลกในฐานะบ้านของ Bovet ด้วยพื้นที่ทั้งหมดซึ่งรวมช่างฝีมือ ช่างเทคนิค และช่างนาฬิกาไว้ด้วยกัน โรงงานของ Bovet สามารถผลิตชิ้นส่วนได้มากกว่า 95% ภายในโรงงาน ล่าสุดกับการประกาศความร่วมมือครั้งใหม่ระหว่าง Bovet และ Pacific Time ตัวแทนจำหน่ายนาฬิการะดับโลกของสิงคโปร์ที่มีสาขาอยู่ในเมืองไทยผ่านทาง SHH by Pendulum ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาแบรนด์ดังในไทย บริษัทในเครือของ Cortina Holding โดย มร.ราฟฟี่ เดินทางมาเมืองไทยพร้อมกับลูกสาวคนที่สอง Alexandra Raffy แต่เธอยังไม่ได้ร่วมงานกับแบรนด์ เพียงแต่มาร่วมสังเกตการณ์กับคุณพ่อเท่านั้น มร.ราฟฟี่เปิดใจถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า

“อย่างที่รู้กันว่า House of Bovet เป็นธุรกิจครอบครัว และโครงการของผมที่วางแผนไว้ตั้งแต่ปี 2002 หลังจากที่ผมเข้าซื้อกิจการของ House of Bovet ผมต้องการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตนาฬิกา โดยไม่เกี่ยวข้องกับปริมาณการผลิต แต่เป็นการรักษามรดกของ House of Bovet ไว้”


อย่างที่รู้กันว่า มร. ราฟฟี่นั้นเคยเป็นนักสะสมนาฬิกามาก่อน และเขาก็ยังคงสะสมมาจนถึงทุกวันนี้ โดยนาฬิกาส่วนหนึ่งก็คือ Bovet 1822 นาฬิกาพกที่มีอยู่ในคอลเลกชันส่วนตัว ความหลงใหลในความละเมียดและสุดประณีต ความอัศจรรย์ของกลไกจักรกลนี่เองที่ทำให้เขาตัดสินใจซื้อกิจการ House of Bovet เพื่อสานต่อความงามให้คงอยู่ต่อไป เขาเล่าต่อว่า “เรารู้กันดีว่า แบรนด์นี้ที่มีอายุยาวนานกว่า 200 ปีนั้น มีสองสิ่งที่เป็นมรดกสำคัญ หนึ่งก็คือศิลปะแห่งการตกแต่ง และอีกอย่างก็คือการสร้างสรรค์กลไกจักรกลชั้นยอดที่งดงามประณีต

“House of Bovet ที่ถือกำเนิดในหมู่บ้านเฟอริเยร์นับเป็นนาฬิกาแบรนด์แรกจากดินแดนแห่งนี้ และด้วยวิสัยทัศน์ของ Edouard Bovet ได้นำแบรนด์ขยายพื้นที่ไปถึงลอนดอน วองโดมในปารีส การเปิดรับวัฒนธรรมที่แตกต่างคือหัวใจสำคัญของ House of Bovet นั่นเอง”

การปกป้องมรดกสำคัญเปรียบเสมือนการแสดงความเคารพต่อศิลปะและกลไกที่ได้รับการสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง “ไม่ใช่เพียงแต่การผสมผสานอย่างลงตัวเท่านั้น แต่ชิ้นส่วนต่างๆ เราก็ผลิตขึ้นเอง ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือน หน้าปัด เข็ม รวมถึงชิ้นส่วนกลไกต่างๆ แม้กระทั่งสปริงสายใย (hairspring) เราผลิตขึ้นเองภายในโรงงาน แล้วสิ่งสำคัญคืออะไร?” เขาตั้งคำถามต่อพร้อมคำตอบตามมาว่า

“ใครจะเป็นคนส่งสารของ House of Bovet ไปถึงนักสะสมนาฬิกา ไปถึงสื่อต่างๆ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนาฬิกา เมื่อผมได้ผมกับ Sharon Lim (MD ของ Pacific Time) ได้พบกับครอบครัวของเธอ และทีมงานซึ่งก็คือ Pacific Time ผมเข้าใจทันทีว่า เราจะไปด้วยกันได้เป็นอย่างดี  และผมพูดด้วยใจเสมอ สำหรับผมสิ่งที่สำคัญคือความสบายใจและความเป็นมนุษย์ คุณสามารถแบ่งปันมรดก คุณค่า และจิตวิญญาณของครอบครัว ร่วมกัน และได้เห็นว่าระหว่างผู้บริหารระดับสูงไปจนถึงทีม มีจิตวิญญาณเดียวกัน และเป็นสิ่งเดียวกับผมและ House of Bovet ผมบอกกับตัวเองว่า นี่คือสิ่งที่ผมจะทำเพื่อ Bovet” ซึ่งหมายถึงการร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ที่ดี โดยปัจจุบัน ความร่วมมือนี้ก็ปรากฏให้เห็นทั้งที่สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์และมาถึงไทยในวันนี้ และกำลังจะต่อไปถึงไทเปในอีกไม่ช้า “ผมต้องการตัวแทนจำหน่ายนาฬิกา Bovet ผ่านทางพาร์ทเนอร์เพียงรายเดียว เพราะสิ่งสำคัญคือการควบคุมการทำตลาดนาฬิกา การวางกลยุทธ์ การสื่อสาร ซึ่งการทำงานร่วมกับตัวแทนเพียงหนึ่งเดียวที่มีแนวคิดเดียวกัน มีค่านิยมเดียวกัน พูดคุยกันได้อย่างเปิดเผย มันย่อมมีความยั่งยืนมากกว่า”

ในการประกาศความร่วมมือในครั้งนี้ ยังมาพร้อมนาฬิกาเรือนพิเศษที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นด้วยปัญหาที่ต้องการทางออก นั่นก็คือ Récital 28 “Prowess 1” ผลงานที่คว้ารางวัลนาฬิกากลไกพิเศษยอดเยี่ยม (Mechanical Exception Watch Prize) จาก GPGH 2024 ไปครอง แต่ในวันนั้น เรายังไม่รู้ผลรางวัลกัน และ มร. ราฟฟี่ก็เล่าให้ฟังถึงที่มาของกลไกใหม่นี้ว่า

“นี่เป็นผลงานแรก แต่ก็มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของ Bovet ด้วยเช่นกัน ไอเดียนี้เกิดขึ้นในตอนที่เกิดการระบาดของไวรัส ผลงานชิ้นนี้ถูกคิดและพัฒนาขึ้นในช่วงนั้น จากปัญหาที่ผมเชื่อว่าทุกคนน่าจะเจอเหมือนกัน เมื่อต้องมีการประชุมผ่าน Zoom หรือ Team ซึ่งเวลาที่แตกต่างระหว่างโตเกียว สวิตเซอร์แลนด์ แคลิฟอร์เนีย ผมแจ้งทุกคนว่า เอาล่ะ..เราจะทำการ Zoom ในอีก 3 วัน โดยกำหนดเวลาไว้ แต่ผมก็พลาดเวลา เพราะไม่รู้ว่าเวลาจริงๆ ที่โตเกียวคือกี่โมง เพื่อนผมก็พลาดเช่นกัน” ต้องอธิบายอย่างนี้ว่า ในยุโรปและอเมริกานั้น มีการปรับเวลาสองครั้งในทุกปีคือ เวลาฤดูร้อนและฤดูหนาวที่จะต้องบวกหรือลบ 1 ชั่วโมง ซึ่งเรียกกันว่าเวลาออมแสง ปัญหานี้นำมาซึ่งทางออกของกลไกชุดใหม่ของ Récital 28 “Prowess 1” ที่สามารถปรับตั้งค่าเวลาออมแสงได้โดยอัตโนมัติ คุณจึงไม่ต้องกังวลที่จะพลาดนัดในการประชุมออนไลน์ หรือแม้แต่ประชุมปกติในเขตเวลาที่แตกต่างกันด้วย ที่สำคัญคือ ผลงานชิ้นเอกนี้ยังใช้งานง่าย เป็นความซับซ้อนของกลไกที่เน้นความเป็นมิตรต่อการใช้งาน โดยใช้เวลาพัฒนานานถึง 5 ปีกว่าที่จะสำเร็จ ไม่น่าแปลกใจเลยที่สามารถคว้ารางวัลนาฬิกากลไกพิเศษยอดเยี่ยมปีนี้มาครองได้ สมศักดิ์ศรีจริงๆ

สำหรับแฟนๆ House of Bovet อยากชมนาฬิกาเรือนจริง หรือจับจองเป็นเจ้าของ สามารถชมได้ที่ร้าน SHH by Pendulum ชั้น M สยามพารากอน เปิดต้อนรับทุกวัน

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้